วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ข้ามไปอีกขั้น












โศลกที่สามสิบสี่ "ข้ามไปอีกขั้น"

ความสำเร็จทุกอย่าง
มีจุดเริ่มต้น มีด่านทดสอบ
การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็เช่นกัน
สิ่งแรกสุดคือ ระยะเวลา
เวลาแห่งการปฏิบัติเป็นด่านทดสอบ
หนึ่งชั่วโมงก็เป็นระยะเวลา
ที่จะพิสูจน์ความสำเร็จขั้นต้น
ผ่านด่านเวทนากล้าก่อน
ผ่านด่านเรียกความฟิตให้ได้ก่อน
ผู้บำเพ็ญเพียรผ่านสองชั่วโมง
จึงทะลุด่านทดสอบแรกไปได้
สาระสำคัญอยู่ที่บำเพ็ญอะไร
ไม่ใช่นั่งแล้วเพื่อให้ได้อะไร
การบำเพ็ญจิตภาวนา
เท่ากับเจริญสติให้มากยิ่งขึ้น
บำเพ็ญสมณธรรมมีเท่านี้




เวลาเป็นสิ่งหนึ่งที่ยังความฉงนสนเท่ต่อมนุษย์ทั้งหลาย ต่างพากันตั้งคำถามว่า แท้จริงเวลามีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามี แล้วเวลาเป็นอะไร และเวลาจะมีวันหมดไปหรือไม่ นักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างพากันแสวงหาคำตอบกันอย่างมาก และก็ได้คำตอบแบบหลากหลาย กล่าวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกแต่คำนิยามของเวลาว่า "ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น" ซึ่งก็ไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับตัวเวลา แต่บอกอาการที่เวลาแสดงออก

นักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ให้ความคิดเกี่ยวกับเวลาว่า เวลามีความสัมพัทธกับความเร็วแสง หากแสงเดินทางช้าลงก็จะไปดึงเวลาให้เดินเร็วขึ้น เพื่อชดเชยกับความเร็วแสงที่สูญเสียไป ทำให้แสงเดินทางด้วยความเร็วคงที่อยู่ตลอดเวลา โดยปัจจัยที่ทำให้แสงเดินทางช้าลง เช่น แรงโน้มถ่วง กล่าวคือ ในที่ๆ ไม่มีแรงโน้มถ่วงเวลาจะเดินเร็วกว่าในที่ที่มีแรงโน้มถ่วง มุมมองนี้ก็เป็นมุมมองที่แสดงถึงกาลอวกาศ สสาร พลังงานที่ทำหน้าที่แสดงออกมาเป็นลักษณะเวลา แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เวลาคืออะไรกันแน่ เวลาตั้งอยู่อย่างไร เวลาเป็นสสารหรือพลังงาน หรือเวลาไม่ใช่ทั้งสสารและพลังงาน แต่เป็นอีกมิติหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่ทราบ ถ้าหากสามารถหยุดเวลาได้ก็สามารถหยุดสิ่งต่างๆ ได้หรือไม่

ในส่วนของพระพุทธศาสนา เวลาเป็นกฎแห่งไตรลักษณ์ที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ว่าอะไรก็ตามหากเกิดขึ้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎนี้ทั้งนั้นจะเรียกว่า เวลาหรือกาล หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีเกิดขึ้น มีดำรงอยู่และก็จะดับไป เวลาก็คือช่วงของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนั้นเอง การเกิดขึ้นนับจากเวลานั้นไปก็จะกลายเป็นอดีต ขณะที่ดำรงอยู่ก็เป็นปัจจุบัน การจะดับไปในกาลข้างหน้าก็เป็นอนาคต และก็จะหมุนเวียนอย่างนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น จึงเรียกว่า “สังสารวัฏ”



พระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงเรื่องเวลา ไม่ได้ให้ใส่ใจในความเป็นเวลาว่ามันจะเป็นอะไร ไม่ใช่หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องไปสนใจ ดังนั้นในคำถาม ๑๐ ประการที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ก็บวกเรื่องเวลาไว้แล้ว นั่นคือ สังสารวัฏ (โลก) มีที่สิ้นสุดหรือไม่ หรือว่า โลก (เวลา สังสารวัฏ) ไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาเหล่านี้จัดเป็นอัพยากตปัญหา พระพุทธเจ้าไม่ใช่ไม่แสดงเรื่องนี้ไว้ แต่ไม่ทรงตอบกับใครๆ ที่เข้ามาถามเพื่ออยากรู้

ดุจดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปมาไว้ว่า หากมีชายคนหนึ่งถูกลูกศรยิงเข้าทรวงอก เมื่อมีหมอมารักษา เขากับตั้งคำถามมากมายว่า ลูกศรยิงมาจากทางไหน ทำด้วยอะไร ใครยิง ฯลฯ ถ้ายังไม่รู้คำตอบก็ยังไม่ให้รักษา ชายผู้นี้จัดเป็นคนโง่หรือฉลาด พระพุทธเจ้าทรงเป็นนายแพทย์ผู้รักษาโรคทุกข์ของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนที่ยังไม่หลุดพ้นต่างจมอยู่ในทะเลทุกข์ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงมาช่วย แต่มนุษย์ทั้งหลายพยายามไม่ให้พระองค์ช่วย กลับพากันตั้งคำถามต่างๆ นานา เพราะแม้รู้ไปก็หาได้ช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์ไม่ ก็เพียงแค่ประดับความรู้เท่านั้น ไม่ได้ลดการเกิด ลดกิเลสลงแต่อย่างใด

ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มองเรื่องเวลามี ๒ ลักษณะ คือ เวลาภายนอกและเวลาภายใน เวลาภายนอกนั้นได้แก่ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนมนุษย์และสัตว์ก็ไหลไปตามกรรม หมุนเวียนตามกิเลส รับผลแห่งวิบาก จึงเป็นกิเลส กรรม วิบาก ในส่วนนี้ก็เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ก็ต้องสลายไปตามกาล ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกหรือพิเศษอะไร ส่วนเวลาภายในก็คือความรู้สึกที่มีต่อเวลา หากมีความสุขมากก็อยากให้เวลานั้นอยู่ไปนานๆ หากมีความทุกข์ก็อยากให้เวลานั้นหมดไปเร็วๆ เป็นเรื่องของเวทนา ตัณหาและอุปาทาน คือความรู้สึก ความอยากและความยึด

เมื่อพิจารณาจากมุมมองในพระพุทธศาสนาแล้วก็สามารถเห็นวิธีการหลุดพ้นจากกาลเวลาได้ อยู่เหนือกาลเวลาได้ ไม่จำกัดอยู่ในกาลเวลาได้ ตามทฤษฎีก็คือ หากไม่ต้องเกิดก็ไม่ต้องตั้งอยู่และดับไป หากไม่มีกรรม กิเลส และวิบาก ก็ไม่ต้องหมุนวนอยู่ในวัฏฏะ หากไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ไม่ต้องมีกาลเวลา กาลเวลามีเพราะมีเรา มีที่ตั้งแห่งเรา หากไม่มีเรา ไม่มีที่ตั้งแห่งเรา ก็ไม่มีเวลา ก็ในสังสารวัฏนี้มี ๓๑ ภูมิ หากไม่ตกอยู่ในขอบเขตนี้ก็ไร้กาลเวลา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแล้วจะทำอย่างไร นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง นี่คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความใส่ใจ นี่คือคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาเพื่อให้สรรพสัตว์พ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากกาลเวลา เพราะกาลเวลาก็คือ ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปร ก็สิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งที่เป็นทุกข์นั้นเพราะเป็นอนัตตา

โศลกว่า “เวลาแห่งการปฏิบัติเป็นด่านทดสอบ หนึ่งชั่วโมงก็เป็นระยะเวลา”

การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นการสงบเพื่อรอคอยอย่างอดทน เพื่อรอกาลเวลาเบ่งบาน ดุจดังการรอคอยการเบ่งบานของพืชพันธุ์ดอกไม้ที่มีต่อแสงอาทิตย์ หน้าที่ของดอกไม้ก็คือรอคอยด้วยความอดทน สงบอยู่ นิ่งอยู่ ว่างอยู่ ไม่แกว่งไกว สั่นไหว ด่วนบาน หากไม่มีความอดทน การเบ่งบานก็ไม่ปรากฏ ระยะเวลาแห่งการอดทนนั้นเป็นด่านทดสอบการปฏิบัติ คำว่า “ปฏิบัติ” ในที่นี้ก็คือการเจริญภาวนา การเจริญภาวนาก็คือ “การรักษาสติให้ต่อเนื่องตลอด” การทำให้สติเพิ่มพูนขึ้น เมื่อสติเพิ่มพูนขึ้นมากเท่าใด ความแจ่มชัดแห่งปัญญาก็จะเพิ่มพูนตามเมื่อนั้น

ในช่วงนี้เป็นระยะเวลาแห่งการใช้ความเพียร คือความอดทน หากไม่มีความอดทน สติก็ไม่เจริญ ปัญญาก็ไม่ปรากฏ ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาแห่งการเบ่งบาน ดอกไม้ก็ต้องอาศัยเวลาเบ่งบาน การปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็ต้องอาศัยเวลา ไม่อาจคาดคิดด่วนได้เป็นอันขาด เพราะการคาดคิดด่วนได้ทำให้พลาดโอกาสไปทันที หน้าที่ของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็คือดำเนินต่อไป ส่วนปัญญาที่จะเบ่งบานนั้นเป็นเรื่องของความเต็มเปี่ยมแห่งอินทรีย์เอง


ความงดงามนั้นต้องอาศัยเวลาของมัน ระยะเวลาระหว่างเมล็ดไปเป็นดอกผลนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก มีความซับซ้อนมาก ต้องรู้จักอดทนรอคอย หน้าที่รดน้ำเป็นของเรา หน้าที่ให้ดอกผลเป็นเรื่องของต้นไม้พืชพันธุ์ แต่จุดสำคัญอยู่ที่การรู้จักปลูกเมล็ดพืชพันธุ์ รู้จักรดน้ำให้ถูกเวลา รู้จักการใส่ปุ๋ยพรวนดิน รู้จักกำจัดวัชพืชที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต รู้จักระยะเวลาที่พืชพันธุ์จะให้ผล รู้จักเก็บเกี่ยวช่วงระยะเวลาที่พืชพันธุ์ให้ผล ไม่ใช่รอคอยอย่างเดียว ไม่ใช่อดทนอย่างเดียว ทุกอย่างต้องมีระบบและการบริหารจัดการที่ดีและถูกต้อง

ดุจดังระยะเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เป็นระยะเวลาเริ่มแรกของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรม ระยะเวลาแห่งการเริ่มจนไปถึงกาลที่ผลจะปรากฏ หรือที่เรียกในภาษาธรรมว่า ในระยะปฏิบัติไปสู่ปฏิเวธนั้นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แน่นอนระยะเวลาที่ระบุไว้นั้นเป็นเรื่องไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับทุกคน ทุกคนเป็นพืชพันธุ์ที่ต่างกัน บ้างใช้เวลามาก บ้างใช้เวลาน้อย แต่เพื่อให้เห็นเป็นแนวทางกลางๆ ในการพิสูจน์กระบวนการที่จะเกิดขึ้นตามมาสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติทุกคน นั่นก็คือ เวทนาอันเกิดจากความบีบคั้นทางร่างกายที่ต้องนั่งหรือเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง

คำๆ หนึ่งที่มักได้ยินเป็นประจำในขณะที่จะต้องรับมือกับเวทนานี้ก็คือ “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม” เนื่องจากเวทนาอันเกิดจากแรงบีบคั้นนี้กำลังเป็นขั้นตอนเปลี่ยนถ่ายระดับ พิจารณาดูขั้นตอนการทำอะไรทุกอย่างจะมีจุดเปลี่ยนอยู่ช่วงหนึ่ง จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมาก ถ้าหากผ่านจุดเปลี่ยนตรงนี้ไปได้ก็จะขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งทันที ซึ่งจะรู้สึกง่ายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างการยกตัวของเครื่องบินที่กำลังบินขึ้น ช่วงของการบินขึ้นและช่วงของการไต่ระดับขึ้นไปนั้นต้องใช้กำลังอย่างมาก จุดที่กำลังจะขี่จักรยานเป็นนั้นก็เช่นกันต้องใช้พลังอย่างมาก แต่เมื่อผ่านจุดผันผวนตรงนี้ไปก็จะผ่านด่านทดสอบความตั้งใจ

โศลกว่า “ผู้บำเพ็ญเพียรผ่านสองชั่วโมง จึงทะลุด่านทดสอบแรกไปได้”

ความอดทนที่เป็นความเพียรต่อการบำเพ็ญนั้นมีสองด้าน ถ้าอดทนมากก็จะเป็นความกดดัน เป็นความเครียด เป็นการบีบคั้น แต่ถ้าไม่อดทนก็ทำให้ล้มเลิกและเกิดอาการเกียจคร้าน ไม่ทำต่อไปอีก ดังนั้น ความอดทนพากเพียรนี้ต้องไปคู่กับความมุ่งมั่นแบบปล่อยวาง ผู้ปลูกต้องอดทน แต่เมล็ดพันธุ์ไม่ต้องใช้ความอดทน เมล็ดพันธุ์ต้องพร้อมที่จะเจริญเติบโต หากเมล็ดมีความอดทนก็จะเติบโตยากหรืออาจจะเหี่ยวแห้งตาย จิตวิญญาณที่มุ่งต่อปัญญาที่เบ่งบานนั้นต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ชั่วระยะเวลาหลังจาก ๑ ชั่วโมงผ่านไป สิ่งที่สำคัญในขณะที่เวทนาบีบคั้นนี้เราตั้งหลักอย่างไร วางใจอย่างไร เพื่อจะให้ผ่านพ้นด่านทดสอบไปได้อย่างถูกต้องของการปลูกเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาให้เบ่งบาน ความสัมพันธ์ระหว่าง กาย เวทนา จิต นั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกในการทำหน้าที่ประสานกัน เช่น เข่าอยู่ท่าเดียวนานๆ ก็จะเกิดอาการชาและปวด ความปวดเป็นเรื่องของเวทนา เมื่อเกิดเวทนาจิตก็รับรู้ส่งทอดกันไปเป็นหนึ่งเดียวสู่ศูนย์ประมวลผล แยกกันไม่ออก ความเจ็บปวดที่เกิดกับอวัยวะก็เกิดการรับรู้ว่า “เรานี่แหละปวด” นี่คือ ลักษณะทั่วไปของบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะผู้เริ่มปฏิบัติ

การที่มีคำว่า “เราเป็นผู้รับผลแห่งความเจ็บปวดนั้น” เกิดจากหลอมรวมกันของขันธ์ทั้ง ๕ เป็นหนึ่งเดียวอันเกิดอวิชชาให้ยึดในความเป็นขันธ์อยู่ เมื่อใดก็ตามมีสติเข้าไปกำหนดรู้กาย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณได้ แยกแยะขันธ์ออกได้ เมื่อนั้นก็จะพบว่า ความเจ็บปวดนั้นเป็นเรื่องของเวทนา ไม่เกี่ยวกับอะไร เมื่อสติพิจารณาศึกษา (สิกขติในอานาปานสติ) ก็จะเห็นชัดถึงเวทนานั้นก็เป็นสักว่าเวทนาเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลไปไหน ไม่มีผู้รับผล ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเข้าไปยึดว่า เวทนาเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ทุกขันธ์มีแต่ความว่างเท่านั้น นี่แหละผู้ที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นวัน นั่งสมาธิได้หลายวัน ก็เพราะผู้ที่นั่งสมาธิได้ก้าวข้ามระดับการเริ่มต้นไปได้ จากนี้ไปก็ง่ายแล้วสำหรับจะทำงานทางจิตที่มั่นคง

โศลกว่า “การบำเพ็ญจิตภาวนา เท่ากับเจริญสติให้มากยิ่งขึ้น”

สติเป็นธรรมอันเอกที่สามารถแยกแยะสสารพลังงานให้ย่อยสลายไปได้ ไม่ให้เข้ามายึดความเป็นกลุ่มก้อนได้อีก เมื่อสติเข้มแข็งก็จะสว่างไสว สามารถกันและกั้นความมืดไม่ให้เข้ามาได้ ไม่ใช่เป็นการกำจัดความมืด แต่ความมืดเข้ามาไม่ได้ จุดนี้เองเป็นความมุ่งหมายสำคัญของธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างไร สุดท้ายก็เพื่อเป็นการเจริญต่อเนื่องแห่งสติทั้งสิ้น การเจริญสติเท่านั้นที่จะสามารถยับยั้งกาลเวลาได้ ยับยั้งไม่ให้จิตปรุงแต่งเป็นสังขารที่เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขารใดใดอีก

กาลเวลาสูญสิ้นไปในขณะที่หยุดการเคลื่อนไหวทางจิต เหลือแต่ความว่างที่ปรากฏอยู่เท่านั้น ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีอนาคตหลงเหลืออยู่ให้ได้ตกอยู่ในวัฏฏะอีก เป็นแต่เพียงความว่างเช่นเดียวกับจักรวาล ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน ไม่มีความเป็นตัวเป็นตนอีก การจะไม่มีสภาวะนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีสติอันสมบูรณ์เท่านั้น นี่คือ “พุทธศาสตร์” ศาสตร์แห่งการหลุดพ้นจากกาลเวลา เป็นอกาลิโก ไม่จำกัดกาล ไม่ตกในกาล หลุดพ้นจากวัฏฏะ หลุดพ้นจากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในภายใน การที่ร่างนี้จะดับสลายสูญสิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร เป็นปกติของธรรมชาติ แต่การที่ไม่ก่อเกิดร่างนี้ หรือขันธ์นี้ขึ้นมาอีกนี่เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญสูงสุด

คำถามว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า” เป็นคำถามที่โมฆราชมาณพทูลถามพระพุทธเจ้า คำถามนี้หากแปลง่ายๆ ให้เข้าใจกันก็คือ “ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความตาย”

พระบรมศาสดาตรัสพยากรณ์ว่า “ดูก่อน โมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัว ของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล้ว มัจจุราชคือความตายจักแลไม่เห็น”

พระดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงการพ้นจากกาลเวลาที่ครอบคลุมสัตว์ทั้งหลาย กาลเวลาก็คือมัจจุราช ที่คร่า ฆ่าและกลืนกินสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้วๆ เล่าๆ การที่เข้าถึงความว่างด้วยการดำรงอยู่ด้วยสติอันสมบูรณ์ที่เกิดจากการบำเพ็ญเพียรเจริญภาวนาปฏิบัติสมณธรรมเท่านั้นเป็นทางอันเอกที่จะข้ามพ้นกาลเวลาและมัจจุราชได้อย่างสิ้นเชิง

นี่คือ โศลกที่สามสิบสี่แห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา


ไม่มีความคิดเห็น: