วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ธรรมมิติ





โศลกที่สิบแปด "ธรรมมิติ"

ลมหายใจเข้าออก คือกาย
ความคิดกวัดแกว่ง คือจิต
ความรู้สึกแรงกล้า คืออารมณ์
ความใสและว่าง คือธรรม
สติกับกาย คือลม
สติกับจิต คือความคิด
สติกับความรู้สึก คืออารมณ์
สติกับธรรม คือความว่าง
ที่ผ่านมาการปฏิบัติธรรม
ยังอยู่ในมิติหนึ่ง สอง สาม
นานที่ติดอยู่ในมิติที่สอง
สลับไปมากับมิติที่หนึ่ง
น้อยครั้งขึ้นมิติที่สาม
ต้องพยายามมากขึ้น
เพื่อให้หยั่งลึกสู่มิติที่สี่


หลักการมองสรรพสิ่งในพระพุทธศาสนานั้น มีหลักการมองอยู่ที่มองเชิงลึกเข้าไปข้างในตน ไม่มองออกนอกตน การมองเข้าไปภายในตนนั้นทำให้มีความลึกซึ้งในโลกที่แท้จริง โลกในความหมายพระพุทธศาสนานั้นก็คือ โลกแห่งเบญจขันธ์นี้เท่านั้น โลกภายนอกไม่มีความหมายอะไรมากมาย เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบในการดำรงอยู่แห่งโลกภายใน สนใจไปก็ไม่ได้ทำให้จิตเกิดความบริสุทธิ์แต่อย่างใด หรือทำให้ถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสตัณหาก็หามิได้ ยิ่งมองออกไปก็ยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพราะตัณหาทั้งหลายอาศัยโลกภายนอกเป็นเครื่องดำรงอยู่ แต่เมื่อมองเข้าไปข้างในโลกคือเบญจขันธ์นี้ มีประโยชน์มาก เพราะทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจสรรพสัตว์มากขึ้น เข้าใจความจริงมากขึ้น ในหลักแห่งการมองเบญจขันธ์นั้นก็เพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่หลงใหลในเบญจขันธ์อันหาแก่นสารไม่ได้ เมื่อหาแก่นสารไม่ได้แล้วจะเข้าไปยึดมั่น ถือมั่นในเบญจขันธ์อีกทำไม เมื่อเบญจขันธ์เป็นแต่เพียงขันธ์ ธาตุ อายตนะ แล้วก็ไม่มีอะไรต้องให้เข้าไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา นี่คือการมองโลกในพระพุทธศาสนา



หลักสำหรับการรู้จักมองโลกในพระพุทธศาสนานั้นให้มองในรูปของมิติเชิงลึก การมองเชิงนี้ทำให้ย่อยสลายความเป็นกลุ่มก้อนให้สิ้นไป ดุจดังการใช้เครื่องมือแยกสสารให้ละเอียดจนถึงที่สุด ก็ไม่เหลืออะไรอีก เป็นความว่างเปล่า การมองในแนวราบทำให้เข้าใจเห็นแต่ข้อมูลว่ามีอะไรบ้างเท่านั้น ไม่นำไปสู่การสั่นสะเทือนตัณหา กระทบกระเทือนอัตตา ไม่นำไปสู่การเห็นแจ้ง ไม่นำไปสู่การหลุดพ้น แต่นำไปสู่ความอยากและยึดมั่นมากขึ้น เพราะเป็นการเห็นถึงความมี ความเป็น ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักการมองโลกคือเบญจขันธ์ ดังนี้ มองเป็น ๔ มิติเชิงลึก ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม ๓ มิติเชิงซ้อน ได้แก่ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ๔ มิติเชิงย้อนกลับ ได้แก่ อนิจจา วิราคา นิโรธา และปฏินิสสัคคา


จะเห็นได้ว่า ในแต่ละมิตินั้นก็ต้องประกอบไปด้วยมิติเชิงซ้อนทั้ง ๓ นี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมองทางกายก็ต้องประกอบไปด้วยกายนั้นไม่เที่ยง กายนั้นเป็นทุกข์ กายนั้นเป็นอนัตตา ความคิดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์ไม่เที่ยง อารมณ์เป็นทุกข์ อารมณ์เป็นอนัตตา ธรรมนั้นเที่ยง เป็นสุข เป็นอนัตตา ในขณะเดียวกันก็มองเชิงย้อนกลับอีก ๔ มิติ โดยยกธรรมขึ้นมองกาย เวทนา และจิต กล่าวคือ กาย ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) ความคิดก็ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) อารมณ์ก็ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) ไม่ว่าจะเป็นกายก็มีธรรมมิติ เวทนาก็ต้องมีธรรมมิติ จิตก็ต้องมีธรรมมิติ แม้แต่ธรรมเองก็ต้องมีธรรมมิติ


โศลกว่า “ยังอยู่ในมิติหนึ่ง สอง สาม” ในการอบรมภาวนานั้นพระพุทธศาสนาได้แบ่งการอบรมไว้ ๔ ประการ คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา การอบรมในที่นี้ก็คือการเจริญสติให้อยู่กับกาย ศีล จิต และปัญญา ภาวนาก็คือทำให้เข้มแข็งมากขึ้น เจริญมากขึ้น การอบรมก็คือการปฏิบัติ หรือการบำเพ็ญเพียรกระทำให้สติเจริญมากขึ้น ต้องเข้าใจมิติเชิงการปฏิบัติธรรมเข้าไว้ ในที่นี้เราจะไม่กล่าวในเชิงมิติทางโลก หรือมิติแนวขยายหรือแนวระนาบ โดยมากแล้วในการอธิบายธรรมของในพระพุทธศาสนาสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมแล้ว ก็มักจะอธิบายเป็นเชิงระนาบ ไม่ใช่หยั่งลึกลง การอธิบายในเชิงระนาบก็คือ การอบรมกาย คือ การสำรวมระวังกายเนื้อนี่เอง การอบรมศีล ก็คือการมีปกติทางกาย และวาจา การอบรมจิต คือการระงับยับยั้งอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง การอบรมปัญญา คือ การรู้จักพินิจพิจารณา ไตร่ตรองบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การอบรมภาวนา ๔ ประการนี้ ก็คือ การอบรมกาย ได้แก่ การมีสติอยู่กับลมหายใจ (สำรวมกาย) การอบรมศีล ก็คือการมีสติอยู่กับความคิด (ศีล) การอบรมจิต คือการมีสติอยู่กับอารมณ์ (สมาธิ) การอบรมปัญญา คือ การมีสติยกธรรมขึ้นพิจารณาให้เห็นกาย จิต อารมณ์ตามความเป็นจริง (ปัญญา)

โดยมากแล้ว ในการปฏิบัติธรรมล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับหนึ่ง สอง สาม สลับไปมา เป็นวงจรที่ยังไม่ครบจังหวะ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับการขับรถที่ขึ้นเกียร์หนึ่ง เกียร์สอง พอจะขึ้นเกียร์สามก็ต้องกลับมาที่เกียร์สองและเกียร์หนึ่งอีก ขึ้นเกียร์ไปมาเดินหน้าถอยหลังอย่างนี้
บางทีขึ้นเกียร์สามไม่ทันได้เร่งความเร็ว ก็ต้องย้อนกลับเกียร์สองอีก ทำให้ไม่สามารถไปถึงขีดขั้นเต็มที่ของการขับรถ เป็นเหตุให้เครื่องพังได้ง่ายๆ อีก เหมือนเดียวกับการปฏิบัติธรรม โดยมากอยู่ในระดับที่หนึ่งคือ ขั้นกำหนดลมหายใจสั้นยาว เข้าออก พุทโธ ยุบพอง พอลึกเข้าไปอีกหน่อย เข้าสู่ขั้นที่สองคือ ขั้นเห็นความละเอียดของลม พอถึงขั้นนี้ยังไม่ทันได้ซึมซับความสงบนั้นดีนักก็หมดเวลาบ้าง มีสิ่งรบกวนบ้าง ก็ต้องหยุดการปฏิบัติบ้าง หรือบางคนที่ไปไกลมากหน่อย เข้าถึงขั้นที่สาม คือระดับเกิดปีติ มีความสุข แล้วก็ติดอยู่ขั้นนี้ไม่ไปไหน จนหมดเวลาหรือไม่ก็เกิดอาการอย่างหนึ่งอย่างใดให้หยุดการปฏิบัติไปเสีย

โศลกว่า “ต้องพยายามมากขึ้น เพื่อให้หยั่งลึกสู่มิติที่สี่” เมื่อศึกษาดูมิติเชิงลึกทั้ง ๔ มิติเชิงซ้อนทั้ง ๓ และมิติย้อนกลับทั้ง ๔ แล้วนำมาวางเป็นระบบตามแนวของการอบรมภาวนาทั้ง ๔ ระดับ ก็จะพบว่า


ขั้นกายภาวนา ขั้นนี้เป็นขั้นการสำรวมระวังกาย ได้แก่ บริหารลมหายใจให้สม่ำเสมอ มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก เป็นขั้นจัดระเบียบลมหายใจ บริหารลมหายใจให้ถูกต้อง เป็นขั้นเริ่มแรกของการปฏิบัติ เฉพาะขั้นนี้ก็ใช้เวลาพอสมควร อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๒๐ นาที กว่าที่ลมหายใจนี้จะราบรื่นให้กำหนดได้อย่างเป็นระเบียบ ชัดเจน สืบเนื่อง สม่ำเสมอ
ขั้นสีลภาวนา ขั้นนี้เป็นการสำรวมระวังจิต ได้แก่ การรู้จักบริหารจิต คือความคิดที่เคลื่อนไหว ไป มา เกิด ดับ ขั้นบริหารจิตประสานสัมพันธ์กับกายให้ดี บริหารความคิดให้อยู่กับลมหายใจ ศีลคือความเป็นปกติของตนที่สัมพันธ์กับผู้อื่น กำหนดสติให้จิตอยู่กับลมหายใจ เพื่อให้ความคิดก็อยู่กับลมหายใจไปด้วย ในขณะที่สติดูแลกายอยู่นั้น จิตก็รู้จักประสานกับกายไปด้วย เฉพาะกว่าจะเข้าถึงขั้นนี้ได้ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า ๔๕ นาที
ขั้นจิตภาวนา ในขั้นนี้เป็นการบริหารอารมณ์ คือ สมาธิ อารมณ์คือสมาธิในที่นี้ได้แก่ ความนิ่งแห่งลมหายใจ ความละเอียดแห่งลมหายใจ ความเห็นแจ่มชัดลมหายใจที่เข้าออกเท่านั้น ไม่มีความสั้น ยาวอีก แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ลมหายใจก็หายไป แต่เหลือเพียงลมเท่านั้นเข้าออก เพราะความตื่นตัวแห่งสติในระดับนี้ทำให้สมาธิดำรงอยู่ ให้บริหารสมาธินี้ให้ดี ก็คือรักษาไว้ให้สมาธินี้แก่กล้า สมาธินี้ยาวนาน สมาธิต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพราะในขณะนี้จิตได้รวมเป็นหนึ่งกับกายจนไม่เหลือความเป็นกายเป็นจิตอีก แต่เหลือแต่สมาธิ คือความนิ่ง หมดจด ใส เฉพาะกว่าจะเข้าถึงขั้นนี้ได้ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที


ให้ทราบอาการข้างเคียงที่จะเกิดพร้อมกับผู้ปฏิบัติที่อยู่ในขั้นนี้ให้ทราบเป็นการเตรียมพร้อมรับมือก่อน เพราะการเข้าถึงระดับนี้นั้นเป็นขั้นที่จิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตจะมีพฤติกรรมของจิตเอง อารมณ์ที่เกิดกับจิตนี้จะแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน แต่สรุปเป็นคำกลางๆ ว่า จะเกิดความเย็นขึ้นกับจิต จะเกิดความสุขขึ้นกับจิต จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ปีติขึ้นกับจิต นี่เป็นส่วนหนึ่ง


แต่อีกส่วนหนึ่ง อารมณ์ที่เรียกว่า เวทนากล้าก็จะเกิดกับจิต อันสืบเนื่องมาจากทุกขเวทนาอันเกิดกับรูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเท้า ปวดเข่า ปวดก้น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดทุกที่ที่จะปวดได้ เวทนานี่เองที่เป็นสิ่งที่ตามมาพร้อมกับสมาธิ เพราะทุกขเวทนานี้ทำให้จิตไม่เคลื่อนไหวออกไปภายนอกได้ กายกับจิตและเวทนาอยู่ด้วยกัน กลายเป็นสมาธิขึ้นมา


อีกส่วนหนึ่ง มายาแห่งจิตกำลังเกิดขึ้น ในขั้นนี้จิตก็จะฟื้นเอามายาภาพในอดีตหรืออนาคตขึ้นมาให้เห็นเป็นความแจ่มชัดดุจดังเป็นเรื่องจริง หรืออาจจะจริงก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงพฤติกรรมแห่งจิตที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น ดุจดังการหลอมทองให้กลายเป็นแท่งเข้ารูป เพราะความร้อนนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ทองละลายแล้ว จิตที่เป็นสมาธิก็เช่นกันกำลังถูกละลายให้สลายความเป็นจิตนั้น เหลือแต่ความเป็นสมาธิ ความเป็นสมาธิของจิตนี้เองคือรูปแบบใหม่ของจิตที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน จิตจึงมีปฏิกิริยามายาขึ้นมาได้ บ้างเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ บ้างมีรูปร่างใหญ่โต บ้างสื่อกับเทพได้ บ้างสื่อกับมิติพิศวงได้ บ้างเห็นกรรมของตนเอง นั่นก็แล้วแต่จะพึงมีพึงเป็นของใครของมัน เป็นการเตรียมความพร้อมเท่านั้น


ขั้นปัญญาภาวนา ในขั้นนี้เป็นการบริหารปัญญา คือ สติที่แรงกล้านั่นเอง สติที่แรงกล้านี้เป็นผลอันเกิดจากสมาธิที่ดำรงอยู่ได้นาน ในขั้นนี้ให้โน้มนำเข้าสู่มิติเชิงซ้อนทันทีว่า กาย เวทนา จิต ที่มีอยู่เป็นอยู่นี้ไม่เที่ยง เป็นแปรเปลี่ยนไป ไม่มีอัตตาภายในนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในที่สุด โน้มนำไปสู่ความเห็นแจ้งในมิติเชิงย้อนกลับคือ เมื่อกาย เวทนา จิต เหล่านี้ไม่ได้ดำรงอยู่นิจนิรันดร์ มีแต่ความเกิด ดับ ก็คลายจากการยึดมั่นในกายนั้น เวทนานั้น จิตนั้น
เมื่อคลายจนหมดสิ้นแล้ว ก็ถึงการถอนจนหมด เมื่อการหมุนน๊อตแห่งการยึดมั่นออกจากเกลียวจนหมดแล้ว ก็เป็นอันเห็นความดับแห่งกาย เวทนา และจิตนั้น เมื่อเห็นแล้วก็ปล่อยวางเสีย เป็นเพียงความว่างเปล่าอย่างสูงสุด นี่คือ ความสิ้นทุกข์ สิ้นเชื้อ ไม่หลงเหลืออีก เป็นความดับสนิท เพราะถอนออกจนสิ้นแล้ว เมื่อนั้นอวิชชากับดับ วิชชาก็เกิดขึ้น กระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทก็เปลี่ยนเป็นสายดับทันที

ขั้นที่ ๔ นี้ เป็นขั้นใช้ไฟคือตบะเผา ใช้พลังสมาธิ ใช้พลังปัญญาคือสติอันแรงกล้าพิจารณาธรรม ต้องระวังการซ้อนกลของจิตที่สร้างมายาให้หลงผิดคิดไปว่ากำลังพิจารณา เพราะการพิจารณาด้วยจิตจะอยู่ในขณะจินตามยปัญญา มิใช่พิจารณาด้วยสติ เมื่อนั้นอัตตาจะหลงผิดคิดว่าตนเป็นผู้วิเศษขึ้นมา แทนที่จะสละ ปล่อยวาง แต่กลับเข้าไปผูกเข้ากับความวิเศษแห่งจิตนั้นแทน นี่คือ กับดักที่ต้องเตรียมพร้อม ระวัง

<
ขอเพียงไม่ย่อท้อต่อการปฏิบัติ บำเพ็ญเพียรบารมี ความเต็มเปี่ยมแห่งบารมีคือตบะนี้เป็นการสั่งสมไป สั่งสมทีละเล็กทีละน้อย สั่งสมไม่หยุดหย่อน สั่งสมจนกว่าจะถึงจุดหมาย หยุดไม่ได้ นี่เป็นภาระหน้าที่ของชาวพุทธที่แท้




นี่คือ โศลกที่สิบแปดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

ไม่มีความคิดเห็น: