วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554
อุปสรรคแห่งความดี
โศลกที่หก "อุปสรรคแห่งความดี"
กำหนดจิตนอนค่อนยามหนึ่ง
นาฬิกาภายในกายยังไม่นิ่ง
บอกเวลายังไม่ตรง
ตื่นก่อนกำหนดสองรอบ
กำหนดจิตนอนต่ออีก
ช่วงแห่งการทดสอบความตั้งใจมาถึง
มีสิ่งกดทับ ขยับไม่ได้ หายใจไม่ออก
พระรัตนตรัยคือที่พึ่งที่ดีที่สุด
แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป
จิตได้ทำหน้าที่ของตนในการควบคุมทุกอย่างที่เป็นคนๆ หนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จ จนกลายเป็นว่า คนๆ นั้นไม่สามารถทราบได้ว่า แท้จริงการกระทำของตนนั้นเป็นตนต้องการกระทำจริงๆ หรือ? บางครั้งอาจมีความรู้สึกว่า ตนไม่ได้อยากกระทำเช่นนั้นเลย แต่ทำไมจึงทำลงไปได้ นั่นก็เพราะอำนาจของจิตที่มีอำนาจเหนือการควบคุมของตนเอง ไม่อาจต้านทานอำนาจสั่งการของจิตได้ สำหรับกับบางคนไม่มีแม้กระทั่งความรู้สึกเช่นนี้ในการสำนึกถูกผิด ก็เพราะเขาเข้าใจว่า ทุกอย่างนั้นเป็นตัวเขาเองทั้งหมดที่ทำ ทุกเรื่องทุกอย่างที่ทำไปจะถูกลบล้างไปด้วยเหตุผลอันสมควรกระทำทั้งสิ้น การกระทำที่นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงหลับไปอีกครั้ง การกระทำที่เริ่มตั้งแต่มีชีวิตจนจบชีวิต
จะมีใครบ้างเข้าใจการทำงานของจิตที่มีพลังควบคุมให้ร่างกายได้กระทำทุกเรื่องราวลงไป เนื่องจากทุกกระกระทำล้วนกลายเป็นผลงาน กลายเป็นหน้าที่ กลายเป็นกิจกรรมของชีวิต กลายเป็นผลิตผลเกิดขึ้นในโลก ไม่แปลกเลยที่นักคิดพากันเข้าใจสรุปลงในที่สุดว่า ทุกอย่างเกิดจากจิต ทุกอย่างสะท้อนออกมาจากจิตนี่เอง (Mind Only) การที่ยินยอมรับสภาพเช่นนี้ก็เท่ากับยินยอมผูกมัดตนเองให้อยู่ในสังสารวัฏนี้อย่างไม่มีการขัดขืน
ในยามใดก็ตามที่กายไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิต จิตจะมีปฏิกิริยาต่อกายทันที โดยการสร้างชุดเหตุผลเข้าไปกล่อมเกลาตนว่า การกระทำนั้นไม่ถูกต้อง เป็นความเถื่อนดิบ ไม่มีอารยธรรม ไม่เป็นไปตามคำสอนที่เคยบันทึกเอาไว้ แล้วในที่สุดก็ประณามการกระทำของกายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องทางเพศ เพราะในขณะที่ความต้องการทางกายรุกเร้าเต็มที่ จิตไม่สามารถควบคุมได้ จนกระทั่งกามกิจจบลง นั่นจะถึงเวลาสำนึกอีกครั้ง จิตเข้ามาทำหน้าที่ ไม่น้อยที่นึกเสียใจต่อการกระทำอันเนื่องมาจากไม่อาจขัดขืนพลังกาย
หากใครก็ตามเข้าใจการทำงานของจิตได้ถูกต้อง แท้จริง ก็จะไม่แปลกใจและสงสัยการทำงานของจิต อีกทั้งยังสามารถหาประโยชน์จากระบบการทำงานของจิตได้อีก การทำงานของจิตมีความเที่ยงตรง เป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน มีเส้นทาง มีวิถีของจิตเองทั้งหมดขั้นตอนนี้มี ๑๗ ขณะ เริ่มจากการทำงานของภวังคจิต ๓ ขณะ มโนทวาร ๑ ขณะ ปัญจทวารช่องใดช่องหนึ่ง ๑ ขณะ การรับรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมเป็น ๓ ขณะ การเข้าไปปรุงแต่งเสพเสวยอารมณ์นั้นๆ ๗ ขณะ การจัดส่งไปสู่ภวังคจิตอีก ๒ ขณะ นี่คือกฎของจิตเรียกจิตนิยาม หากสามารถเข้าใจการทำงานของจิตเช่นนี้ก็สามารถเข้าใจว่า แท้จริงแล้วเรากับจิตหาใช่สิ่งเดียวกันไม่ และเราก็หาได้มีไม่ มีแต่การแสดงออกมาจากขันธ์ ๕ นี้เท่านั้น เมื่อเข้าใจเช่นนี้ก็สามารถแยกแยะการทำงานของจิต ดูการทำงานของจิตไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิตได้อีก
โศลกที่ว่า “กำหนดจิตนอน” ผู้ที่เข้าใจการทำงานของกายและจิตสามารถกำหนดจิตนอนและก็สามารถกำหนดจิตตื่นได้ เป็นการบอกต่อตนเองว่าต้องการตื่นนอน ต้องการหลับในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายมักใช้นาฬิการ่างกายในการทำหน้าที่ จิตจะสั่งการให้ตื่นภายในเวลาที่กำหนดไว้ จิตที่มีกำลังจะมีอำนาจสั่งการได้ ดูจากการสั่งการของผู้มีอำนาจทั้งหลายสามารถสั่งผู้อื่นให้กระทำได้ด้วยวาจา ด้วยน้ำเสียง ด้วยท่าทาง อย่าว่าแต่จิตนี้สั่งการแม้กระทั่งร่างกายของตนภายในได้ด้วย เมื่อจิตสั่งการ นาฬิการ่างกาย (Body Clock) ก็เริ่มทำงานกำหนดเวลาไว้
ตามหลักสรีรศาสตร์ ร่างกายนี้มีต่อมต่างๆ ในการควบคุมร่างกายเป็นจำนวนมาก ต่อมเหล่านี้ทำงานทั้งที่เป็นแบบปกติและแบบผิดปกติ แบบปกติก็คือต่อมย่อยอาหาร หรือต่อมป้องกันเชื้อโรค แต่ที่ทำงานในขณะที่ผิดปกติ เช่น ในขณะตกใจสุดขีด กลัวสุดขีด สุขสุดขีด ปีติสุดขีด ต่อไร้ท่อจะทำงานในการหลั่งสารออกมา ต่อมเหล่านี้มีทั้งเป็นคุณและเป็นโทษต่อร่างกาย มีทั้งควบคุมจังหวะคอยสั่งการให้ร่างกายเคลื่อนไหวเป็นไปในลักษณะต่างๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งต่อมเหล่านี้จะทำงานตามเวลาของตนอีกด้วย ถ้าใครเข้าใจช่วงจังหวะการทำงานของต่อมเหล่านี้ ก็ย่อมรู้จักระมัดระวังชีวิต ระวังสุขภาพ สามารถควบคุมการทำงานของกายได้ สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากร่างกายได้
โศลกว่า “มีสิ่งทดสอบความตั้งใจ กดทับขยับไม่ได้หายใจไม่ออก” การกังวลมากเกินไป ความตั้งใจมากเกินไป ความเมื่อยล้าเกินไป ความเครียดเกินไป การสั่งกายให้ทำงานหลายจังหวะ การนอนผิดเวลาและการตื่นผิดเวลา ปัจจัยเหล่าสิ่งนี้ประจวบเหมาะกันเข้าจึงเกิดอาการที่เรียกกันที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ถูกผีอำ” การสั่งจิตให้ทำงานบ่อยครั้ง จิตได้ควบคุมกาย แต่ไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ครบทุกส่วน ควบคุมได้แต่ความรู้สึก แต่ไม่สามารถเข้าไปครองประสาทกายทั้งหมดได้ การประสานกันของสภาพชีวเคมีของร่างกายกับเจตภูติในกายไม่สมดุลกันอันเกิดมาจากจิตควบคุมเกินไป ด้วยเหตุนี้ทำให้กายส่วนหนึ่งไม่พร้อมที่จะทำงานจึงเกิดอาการดิ้นไม่ได้ หายใจไม่สะดวก พูดไม่ได้ แต่กลับมีความรู้สึกตัวอยู่ ในยามนี้เป็นลักษณะของการขาดห้วงแห่งรูปและนาม การขาดนี้ถ้าเป็นถาวรก็คือ การสิ้นชีวิต เมื่อเกิดอาการนี้ขึ้นคนส่วนมากล้วนตกใจเพราะเกรงว่าตนจะได้รับอันตราย หรือต้องสิ้นชีวิตไป เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ทั้งนั้น ดุจดังการถูกกดไว้ใต้น้ำ พยายามดิ้นแต่ไม่สามารถดิ้นได้ ไม่นานรูปและนามก็อาจจะขาดจากกัน
ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์นี้ สติเป็นอาวุธสำคัญที่สุด ต้องตั้งสติ ค่อยๆ ไล่เลียงดูจิตให้ทำงานไปทุกส่วนอย่างช้าๆ ใช้สติเข้าไปกำหนดจิตให้เข้าไปทำงานควบคุมกาย ในขณะที่มีความรู้สึกนี้ คนจำนวนมากมักนึกถึงสิ่งที่เคารพนับถือบูชา สวดมนต์ภาวนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ช่วยเหลือให้อาการนี้หายไป เมื่อตกใจตื่นขึ้นในอีกไม่กี่นาทีต่อมาเกิดอาการเหนื่อยหอบ ร้องไห้ หอบเหนื่อย หน้าซีด ตัวสั่น หรือแสดงอาการตกใจกลัวอื่นๆ นอกจากนั้นในขณะที่เกิดอาการเช่นนี้ จิตยังได้สร้างมโนภาพอันน่ากลัวขึ้นมาอีกในช่วงนี้อีก ไม่ว่าจะเป็นยมทูต ภูตผีปีศาจ เปรตอสุรกายทั้งหลายเข้ามากดทับจะทำร้าย เพราะเป็นความเคยชินของมนุษย์ที่ถูกประสบการณ์ของการถูกรัดไม่อาจดิ้นได้ ช่วยตนเองไม่ได้ก็ย่อมเข้าใจว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เป็น อาจถึงความตายได้จึงต้องไขว่คว้าถึงสิ่งยึดเหนี่ยว
อย่างไรก็ตาม ยังมีธรรมชาติอีกมากที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ทฤษฎีที่อธิบายในแง่ของวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของเรื่อง สิ่งที่เป็นนอกเหนือจากการอธิบายด้วยเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่ อย่าได้ปฏิเสธอย่างสุดโต่งไปเสียส่วนเดียว พึงพิจารณาให้ดีว่า การทำความดีนั้นไม่ว่าจะมากจะน้อยเพียงใด ก็จะเริ่มมีอุปสรรคขัดขวางเพื่อให้คนไม่บรรลุถึงความดีนั้นได้ง่าย สังเกตจากการฝึกนั่งสมาธิ เพียงแค่จะเริ่มทำก็จะเริ่มหาวทันที ทั้งที่อยู่เป็นวันก็ไม่หาว ไม่ง่วง ไม่กระสับกระส่าย ไม่อึดอัด นั่นก็เพราะมีสิ่งที่เข้ามาขัดขวางการทำความดีที่เรียกว่า นิวรณ์ หรือแม้แต่บางคนจะไปทำบุญ ก็หาเวลาว่างไม่ได้สักทีผ่านวันเวลาไปนานนับเดือนก็หาโอกาสไม่ได้ นั่นก็เพราะการทำความดีนั้นต้องผ่านการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ การเข้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ไหนเลยจะไม่มีสิ่งใดทดสอบความตั้งใจที่แท้ ยิ่งบุคคลใดที่มีเริ่มตั้งใจบำเพ็ญบุญญาบารมี ก็จะต้องผ่านอุปสรรคหลากหลายรูปแบบ อุปสรรคหนึ่งก็คือ เทวปุตตมาร เป็นเทพผู้มาทดสอบความตั้งใจ ทดสอบบารมี ทดสอบความสามารถผ่านด่านขัดขวางเบื้องต้นอย่างนี้ได้หรือไม่
โศลกที่ว่า “พระรัตนตรัยคือที่พึ่งที่ดีที่สุด แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป” บุคคลใดก็ตามเมื่อตั้งตนไว้ชอบ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันสูงสุด ไม่มีที่พึ่งใดอื่นยิ่งกว่าแล้ว ไม่ว่า อุปสรรคน้อยใหญ่ใดๆ ก็ไม่อาจทำลายเกราะแก้วกำแพงแห่งพระไตรรัตน์นี้ได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นครูแห่งเทวดา มาร พรหม ทั้งหลาย พระธรรมเป็นสัจธรรมคำสอนของพระองค์ พระสงฆ์ คือ พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น การระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอยู่สม่ำเสมอก็จะพ้นจากมารภัยทั้งหลายในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดได้ อย่างได้พรั่นพรึงต่อกิเลส มาร ภัยเหล่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลาย ก็คือ การมีเมตตาวุธ กรุณาวุธ และปัญญาวุธ อาวุธเหล่านี้ไม่ได้ใช้ประหัตประหาร แต่ใช้สำหรับแผ่ไปถ้วนหน้า ให้สรรพสัตว์ได้รับผลแห่งบุญที่ปฏิบัตินั้น อย่าได้ท้อถอยละทิ้ง กระทำเบาในบุญบารมี อุปสรรคแห่งความดีเป็นมาตรวัดในสิ่งที่กำลังดำเนินปฏิบัติไป
นี่คือ โศลกที่หกแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554
หนึ่งบัลลังก์
จะมากจะน้อยก็ต้องเร่งบำเพ็ญเพียร
ศึกษาแผนที่และวิธีการที่สั่งสมตลอดมา
รู้หลักควรทำอย่างไร จังหวะไหน
ทั้งต่อกลุ่มและต่อตนเอง
เวลาช่วงรุ่งเช้าพลังชีวิตกำลังก่อตัว
เหมาะสมกับช่วงเวลาบำเพ็ญ
ทั้งหมดหนึ่งบัลลังก์
การศึกษาข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็นต่อการทำทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากข้อมูลมีพร้อมก็ทำให้เข้าใจแง่มุมของเรื่องที่ทำอย่างมีทิศทาง มีเป้าหมาย มีหลักวิชา มีความถูกต้อง ข้อมูลที่เรียกว่า Information เป็นฐานทำให้ตัดสินใจกระทำได้อย่างมั่นใจ ข้อมูลนี้เทียบเท่าได้กับหลักปริยัติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียน ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ความรู้เช่นนี้ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นการเติมเรื่องราวเข้าไปสู่หน่วยความจำอีกหนึ่งชุดเท่านั้น ใครที่มีความจำเกี่ยวกับข้อมูลนี้มากเท่าใด ก็เรียกผู้นั้นว่า ผู้มีความรู้ (Knowledge) มากเท่านั้น
กระบวนการเสริมความรู้ตรงนี้ สัญญาทำงานขึ้นตรงต่อวิญญาณ คือการรับรู้ ความรู้ตรงนี้อยู่ในระดับสุตตมยปัญญา เป็นความรู้ที่อยู่ในระดับผิวเผินมาก เป็นระดับรวบรวมข้อมูลเท่านั้นเอง (Data Collection) ความรู้ชั้นนี้ก่อให้เกิดความเชื่อมากมาย เมื่อเขามีข้อมูลต่อสิ่งใดมากก็เชื่อต่อสิ่งนั้นมาก ดุจดังใครที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มาก ก็เชื่อต่อคอมพิวเตอร์มาก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ในที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของคอมพิวเตอร์ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรู้ที่ตั้งอยู่บนข้อมูลทั้งหมดของคอมพิวเตอร์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้มีความเชื่อเช่นนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ถมทับความหนาของอวิชชาเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ในทางโลกมองดูว่าเขาเป็นผู้มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ แต่ในทางธรรม ถือว่าเขาถูกข้อมูลที่มีในสัญญาแฝงเข้ามาผูกมัดเขาเข้าให้แล้ว ความรู้ในชั้นนี้เปรียบได้กับคนทำเมนูอาหารเท่านั้นเอง
ลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง การได้ข้อมูลมาแล้วนำมาพิจารณา ใคร่ครวญ การพิจารณาใคร่ครวญนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่จำเป็นต้องทำ ข้อมูลที่ไม่ได้พิจารณาแยกแยะ วิเคราะห์ ก็ยังคงเป็นข้อมูลดิบยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้มาก ได้แต่รวบรวมข้อมูลได้มากหรือน้อยเท่านั้นเอง ดังนั้นจำเป็นต้องนำข้อมูลเข้าไปสู่กระบวนการวิเคราะห์แยกแยะ การวิเคราะห์แยกแยะทำให้เห็นองค์ประกอบของข้อมูลนั้นอย่างแจ่มชัด เข้าใจได้ว่าข้อมูลไหนจำเป็นและไม่จำเป็น ใช้ได้เหมาะกับงาน หรือไม่เหมาะกับงาน ความรู้ชั้นนี้ลึกลงอีกหนึ่งระดับอยู่ในขั้นจินตามยปัญญา
ความรู้ในระดับนี้อยู่ภายใต้การทำงานของความคิด (Thinking) ความรู้ที่ได้จากการทำงานขึ้นตอนนี้เรียกว่า ทฤษฎี (Theory) เป็นชุดความรู้ที่ได้มาจากการวิเคราะห์ แยกแยะ แจกแจงให้เห็นองค์ประกอบภายใน ขั้นตอนของหลักการและวิธีการ และสังเคราะห์ให้เป็นชุดความรู้ ความรู้ในขั้นนี้ทำให้คนนั้นกลายเป็นนักปรัชญาขึ้นมาได้ แต่ก็ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิตที่ทำหน้าที่ไปตามฐานกิเลสตัวหลักคือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทานที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ความรู้ระดับนี้เปรียบได้กับคนทำเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือทำอาหารและส่วนผสมของอาหารเท่านั้น แต่ก็ยังอยู่ในขั้นของปริยัติ
ลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นขั้นของการปฏิบัติที่เรียกว่า ประสบการณ์ ประสบการณ์ในที่นี้คือ สมาธิ (Meditation) ความรู้ระดับนี้เป็นความรู้ในระดับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ (Transformation) สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละด้านจนสามารถปรากฏขึ้นมาได้ย่อมเกิดมาจากความรู้ระดับประสบการณ์นี้ทั้งนั้น เปรียบได้กับคนที่ปรุงอาหารตั้งแต่ต้นจนสำเร็จเป็นอาหารจานหนึ่งขึ้นมา โดยอาหารนั้นมีรสกลมกล่อม อร่อย หรือเปรียบได้กับการช่างทำบ้าน ที่มีแปลน มีอุปกรณ์การสร้างบ้าน และก็สร้างบ้านจนสำเร็จขึ้นมาสวยงามตามพิมพ์เขียวนั้น เป็นความเปลี่ยนแปลงจากพิมพ์เขียว กระดาษแผ่นหนึ่ง จากอิฐ หิน ปูน ทราย กระเบื้อง เป็นต้น กลายมาเป็นบ้าน เป็นการ Transform สิ่งหนึ่งมาเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ นี่เป็นขั้นของการปฏิบัติ
ในขณะที่การกระทำเรื่องนั้นสิ้นสุดลง สำเร็จลง ถึงเป้าหมาย ปรากฏความเปลี่ยนแปลงขึ้นจากปริยัติและปฏิบัตินั้น เรียกว่า ปฏิเวธ ก็คือ การลุถึงความสำเร็จ เช่น การสร้างบ้าน ทุกขั้นตอนของการสร้างสำเร็จลงแล้วเมื่อใด เมื่อนั้นจึงเรียกว่า บ้าน ชื่อว่า ปฏิเวธแล้ว ส่วนตัวบ้านและการได้อยู่สุขสบายภายในบ้านนั้นจึงเป็นผลของการกระทำบ้านนั้น
โศลกว่า ศึกษาแผนที่และวิธีการที่สั่งสมตลอดมา
รู้หลักควรทำอย่างไร จังหวะไหน จึงเป็นข้อมูลและการเตรียมอุปกรณ์ในการปฏิบัติเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติที่เป็นประสบการณ์นั้นเป็นเรื่องต่อจากนี้ ต้องใช้เวลา ต้องใช้กำลังทั้ง ๕ ส่วนตลอดการบำเพ็ญ ได้แก่ การมั่นใจในการปฏิบัติ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง การกำหนดหมายในการปฏิบัติ การปฏิบัติอย่างสมดุล การพิจารณาสภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ในกระบวนการปฏิบัติทั้ง ๕ องค์ประกอบนี้ใช้ฐานปรากฏการณ์ ความรู้สึก อาการเคลื่อนไหวของจิต และการพิจารณาธรรมเป็นอุปกรณ์ ความเป็นผู้ฉลาดในการปฏิบัติจำเป็นต้องมี คือเป็นคนสังเกตทุกขณะเพื่อให้ทราบถึงพลังทั้ง ๕ ประการนั้นมีความสมดุล เหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อย ตัวกำกับทุกขณะปฏิบัตินี้ก็คือการกำหนดหมายทุกสภาวะที่เคลื่อนไหวในขณะปฏิบัตินี้
โศลกว่า “เวลาช่วงรุ่งเช้าพลังชีวิตกำลังก่อตัว” หมายความว่า ร่างกายกับจักรวาลเป็นสิ่งที่ประสานสัมพันธ์กัน สรรพสิ่งสัมพันธ์กับจักรวาล การเริ่มต้นแห่งวันเป็นจังหวะที่เหมาะแก่การเริ่มการงาน ดอกไม้ผลิบานในยามที่เช้า สรรพสัตว์ตื่นตัวและตื่นนอนในตอนเช้า ดังนั้น ช่วงเช้าประมาณตี ๔ เป็นช่วงเวลาที่นาฬิกาในร่างกายกำลังประสานกับนาฬิกาจักรวาล ความตื่นตัวจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าเช่นนี้ ความสดชื่น การหลั่งสารรับแสงของร่างกาย การเตรียมพร้อมจะเบิกบานของยีนส์ในอณูต่างๆ ภายในร่างกายจะพร้อมกันในช่วงเช้า ด้วยเหตุนี้เวลาเช้าตรู่เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญเพียรเป็นอย่างยิ่ง
คำว่า ทั้งหมดหนึ่งบัลลังก์ คำนี้มีความหมายสำหรับการปฏิบัติ หนึ่งบัลลังก์ เป็นการปฏิบัติที่ครบหนึ่งรอบของการปฏิบัติ หนึ่งรอบในการปฏิบัติมีอะไรบ้าง
๑. รอบแห่งกระบวนการหายใจทั้ง ๔ ขั้น (กาย)
๒. รอบแห่งกระบวนการรู้สึกทั้ง ๔ ขั้น (เวทนา)
๓. รอบแห่งกระบวนการทางสภาวะจิตทั้ง ๔ ขั้น (จิต)
๔. รอบแห่งกระบวนการปัญญาพิจารณาธรรมทั้ง ๔ ขั้น (ธรรม)
แต่ละกระบวนการของแต่ละขั้นต้องประกอบไปด้วยหน้าที่ทั้ง ๕ ได้แก่ ความมุ่งมั่น พยายาม รู้ตัว กำหนด รู้แจ้ง กระทำหน้าที่สำคัญเหล่านี้ (อินทรีย์) ให้มากจนเปลี่ยนจากหน้าที่เป็นกำลัง (พละ) โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ ดังนี้
๑. รอบกระบวนการหายใจทั้ง ๔ ขั้นใช้เวลา ๔๕ นาที
๒. รอบกระบวนการรู้สึก ๔ ขั้นใช้เวลา ๓๐ นาที
๓. รอบกระบวนการทางจิตทั้ง ๔ ขั้นใช้เวลา ๓๐ นาที
๔. รอบกระบวนการพิจารณาธรรมทั้ง ๔ ขั้นใช้เวลา ๒๐ นาที
ส่วนเวลาที่เหลือให้เป็นการใช้ไปเพื่อการอยู่ในสุขวิหารธรรมอีกประมาณ ๔๐ นาที รวมแล้ว ในการปฏิบัติทั้งหมด ๑ บัลลังก์ ควรใช้ประมาณ ๓ ชั่วโมง หากใช้เวลาช่วงเช้าจากเวลาตี ๔ ถึงเวลา ๗ นาฬิกา จะได้หนึ่งบัลลังก์ อย่างไรก็ตามประมาณเวลาตลอดหนึ่งบัลลังก์นี้จะไว จะช้าก็ขึ้นอยู่กับวสี คือ ความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติไปตามลำดับ
นี่คือ โศลกที่ห้าของคัมภีร์สุวิญญมาลา
วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ให้ละทิ้งอารมณ์เดิม
อย่าได้นำจิตไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์เดิม
เพราะจะทำให้จิตยึดเอาอารมณ์เดิมมาพัวพัน
ทำให้ใจไม่ก้าวหน้าในการภาวนา
ยิ่งละทิ้ง ยิ่งปล่อยวาง
ยิ่งว่าง กลับยิ่งเจริญมาก
พึงระมัดระวังอย่าหลงติดกับ
กับดักอันแยบยลนี้
มันคือเล่ห์เหลี่ยมของจิต
คำว่า อารมณ์ ในทางปฏิบัติมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง และมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติจึงใช้คำว่า อารมณ์กัมมัฏฐาน เพราะอารมณ์ตัวนี้เองที่จะเป็นอุปกรณ์โน้มนำจิตให้เชื่อง มีพลัง และเป็นจิตที่เหมาะแก่การงาน การงานในที่นี้ก็คือ เหมาะแก่การนำไปพิจารณาธรรมเพื่อให้เห็นแจ้งในขันธ์ตามความเป็นจริง
พึงทราบประการแรกก่อนว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตนำเข้ามาประกอบกับจิตให้จิตได้ยึดถือเอาเป็นเครื่องดำรงอยู่ของจิต เมื่อจิตได้อารมณ์จะทำให้จิตเคล้าคลึงกับอารมณ์นั้นอยู่ได้ ไม่ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดอีก จิตจึงอยู่ปราศจากอารมณ์ไม่ได้ในแง่นี้ เป็นเหมือนกับเด็กที่เมื่ออยู่กับของเล่นแล้วก็ไม่งอแง จับสิ่งนั้นคลึงไปมา พึงพอใจกับสิ่งนั้น อยู่ตรงนั้นได้นานๆ ไม่ร้องไห้ ไม่วุ่นวาย เพราะถ้าหากจิตไม่อยู่กับอารมณ์แล้วละก็ จิตจะทำให้หน้าที่ของมันเองทันที ได้แก่การคิด จิตที่คิดเป็นจิตที่ทำงานหนักมาก ไม่ได้พักผ่อน ในขณะที่จิตคิด จิตได้เติมพลังเข้าไปสู่อัตตา ปรุงแต่งอัตตาด้วยอาหารนานาชนิด ไม่รู้จักจบสิ้น
ดังที่มีเรื่องเล่าในพระพุทธศาสนาว่า พระสังฆรักขิตะผู้เป็นหลานของพระเถระรูปหนึ่งยืนพัดพระเถระอยู่ข้างหลัง ในขณะที่พัดหลวงลุงตนเองอยู่นั้น ก็ปล่อยจิตล่องลอยไปตามครรลองของจิตที่ทำหน้าที่คิด จากเรื่องนั้นสู่เรื่องนี้ จากเรื่องนี้สู่เรื่องโน้น จนกระทั่งมาสู่เรื่องที่ว่า ถ้าเราลาสิกขาออกไป ทำงานขายผ้าแล้วได้เงินมาเอาไปซื้อแม่แพะสักตัว พอแม่แพะได้ลูกมาก็จะขายลูกแพะนั้นเพื่อเป็นต้นทุนต่อไป จากนั้นก็หาสาวสวยสักคนแต่งงานเป็นภรรยา ไม่นานเราทั้งสองก็คงมีลูกด้วยกัน เราจะได้พาเธอพร้อมกับลูกมากราบหลวงลุงที่วัด ในขณะที่จะไปหาหลวงลุง เราจะอุ้มลูกไปหาท่าน แต่เธอแย้งว่าเธอจะเป็นคนอุ้มเอง เราทั้งสองโต้เถียงกันเรื่องลูก จนแล้วจนรอดก็เธอโกรธที่ไม่ได้อุ้มลูกเอง จึงปล่อยลูกไว้ที่ทางเดิน เราโกรธจัดเพราะเธอปล่อยลูกไว้ทางเดิน รถจะมาชนลูกได้ จึงใช้ไม้ตีเธอเข้าให้เพราะไม่พอใจที่เธอทำเช่นนั้น แต่ผู้ที่พระภิกษุรูปนี้ตีก็คือ หัวพระเถระผู้เป็นลุงที่ตนยืนพัดอยู่นั่นเอง
นี่คือตัว อย่างของการปล่อยจิตให้คิด เมื่อปล่อยจิตคิดไป จิตจะปรุงแต่งให้เป็นเรื่องราว สืบสาวไปจากไม่มีอะไร ให้มีอะไรขึ้น ในขณะที่ปรุงไป อารมณ์ก็สั่นไหวไปตามสิ่งที่ปรุงนั้น ถ้าดีก็พอใจ ถ้าไม่ดีก็ไม่พอใจ เป็นอย่างนี้ตลอด ดังนั้นจึงสมควรขยับจิตให้พ้นระดับความคิด เข้าไปสู่ระดับแห่งอารมณ์ เพราะระดับอารมณ์จะลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง
ก่อนอื่นให้ทราบระดับของจิตไว้ก่อนก็ดี ระดับของจิตนั้นมีความลึกลงเป็นลำดับดังนี้
๑. ระดับรับรู้ เป็นปรากฏการณ์
๒. ระดับปรุงแต่ง เป็นความคิด
๓. ระดับรู้สึก เป็นอารมณ์
๔. ระดับปล่อยวาง เป็นความว่าง
ผู้คนทั้งหลายในโลก โดยมากดำรงตนอยู่ในระดับความคิดนี้เท่านั้น โดยเฉพาะนักปรัชญาทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า นักคิดทั้งหลายนั่นเอง ความคิดเหล่านี้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตให้ดำเนินไปได้ โดยมากแล้วเป็นบุรุษภาวะ นักคิดโดยมากเป็นผู้ชาย ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ดำรงอยู่อาศัยความรู้สึก หรืออารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอัตตาให้เจริญงอกงาม ผู้ที่ใช้อารมณ์ทั้งหลายโดยมากเป็นอิตถีภาวะ หรือเป็นผู้หญิงเสียส่วนมาก
อาวุธของความคิด ก็คือเหตุผล ผู้ชายมักใช้เหตุผลเพื่อให้ผู้หญิงยินยอม
อาวุธของอารมณ์ ก็คือน้ำตา ผู้หญิงทั้งหลายมักใช้น้ำตาเพื่อให้ผู้ชายยินยอม
โศลกที่หนึ่งจึงแสดงไว้ว่า ในการปฏิบัติอย่าได้นำจิตไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์เดิม ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องความคิด ซึ่งผ่านพ้นมาระดับหนึ่ง นักปฏิบัติพึงระวังความคิด และระวังจิตที่ไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์เดิม อารมณ์เดิมของการปฏิบัติได้แก่อารมณ์สุข อารมณ์พึงพอใจที่เคยมีมาก่อน ที่เคยปฏิบัติมาก่อน อารมณ์นี้จะทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เนื่องจากจิตจะผูกติดกับอารมณ์นั้นซึ่งเป็นอดีต อตีตารมณ์เป็นอาหารของอัตตาเช่นกัน กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นอนาคตารมณ์ หรืออตีตารมณ์ก็ล้วนแล้วแต่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น
นักปฏิบัติธรรม พระโยคาวจรทั้งหลายจะต้องล่วงพ้นความคิดซึ่งเป็นอนาคตารมณ์ และล่วงพ้นอารมณ์ ซึ่งเป็นอตีตารมณ์ทั้งสองส่วน แต่พึงมีสติปฏิบัติอยู่ในขณะปัจจุบัน ให้พิจารณาอาการที่ดำรงอยู่ รู้ตัวอยู่กับลมหายใจ อยู่กับอาการเคลื่อนไหวทั้งมวล การดำรงอยู่ในอาการที่เป็นปัจจุบันทำให้จิตก้าวล่วงเข้าถึงระดับความว่าง เพราะในขณะที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน อัตตาจะหายไป ไม่เหลืออดีต ไม่เหลืออนาคต มีแต่ปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันนี้เองที่ไม่เหลืออะไรให้ได้เกาะเกี่ยว เพราะทุกขณะเป็นเพียงอาการปัจจุบันที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่หลงเหลืออัตตาดำรงอยู่ได้
ผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงสภาวะแห่งความว่างนี้ พึงรักษาความว่างนี้ไว้ให้ยาวนาน การภาวนาย่อมเจริญขึ้นมาก ภาวนาคือการอบรมปัจจุบันขณะให้ยาวนาน หรือกระทำให้มากนี่เอง การทำให้ปัจจุบันขณะให้ดำเนินไป สติก็เจริญตาม เครื่องมือของการภาวนาก็คืออารมณ์ สิ่งที่ใช้เครื่องมือนั้นก็คือ สติ ที่สำคัญอย่าได้ถูกจิตวางกับดักล่อไว้ เพราะในขณะที่จิตอยู่ในความว่างนี้ แม้เพียงเล็กน้อยจิตจะสร้างมโนภาพให้เข้าไปยึดและให้เข้าไปหลงใหล เช่น ความสงบสุข ปีติ ปราโมช สัมผัสพิเศษต่างๆ นี่คือ เล่ห์เหลี่ยมของจิตที่ทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในภาวนาที่แท้ และไม่ให้เข้าถึงจุดหมายที่แท้ของการภาวนา คือ จิตที่ควรแก่การงาน
นี่คือ โศลกที่สี่ของคัมภีร์สุวิญญมาลา
วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ไม่คาดหวัง
“จงรีบเร่งอย่างช้าๆ” ทำไปตามลำดับ
ขยับไปทีละนิดด้วยจิตแน่วแน่
แต่ไม่รีบร้อน
เพราะวิถีจิตไม่เป็นตามตรรกะ
ยิ่งคาดหมาย ยิ่งคาดหวัง ด่วนได้ รีบร้อน
กลับยิ่งตรงกันข้าม
ยิ่งช้า ยิ่งผิดทาง ยิ่งห่างไกล
แต่ยิ่งช้าในลำดับ
กลับยิ่งผลิดอกออกผลรวดเร็ว
และก้าวกระโดดได้
การปฏิบัติธรรมเป็นการกระทำที่ฝืนกระแสจิตที่ไหลไปสู่ที่ต่ำ การไหลตามกระแสนั้นรวดเร็ว ทะลุทะลวงสิ่งขวางกั้น ไม่อาจยับยั้งได้เมื่อมันมีกำลังแรง การไหลไปตามกระแสเป็นธรรมชาติของจิตอยู่แล้ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นก็เพราะจิตย่อมอาศัยพลังกระแสเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตให้เจริญงอกงาม อ้วนท้วนสมบูรณ์ เมื่อใดก็ตามเกิดการพยายามขัดขืนกระแสที่จิตไหลไป จะทำให้จิตเกิดอาการต่อต้าน สร้างภาพให้เกิดขึ้นต่างๆ นานาในอันจะโน้มน้าวให้ผู้นั้นหยุดการขัดขืนนั้นเสีย นี่เป็นกระแสแห่งจิตที่ไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ
ในการปฏิบัติจึงมีคำกล่าว “ให้รีบเร่งช้าๆ” มีความหมายว่า ให้กลับด้านตรงข้าม จากเดิมเร่งร้อนให้รวดเร็ว แต่นี่ให้เป็นเร่งร้อนให้ช้าๆ การเร่งร้อนช้าๆ ทำให้จิตกลับด้าน เป็นการฝืนจิตให้กลับด้าน เป็นการทวนกระแสจิตที่ไหลไปสู่ที่ต่ำ ให้เร่งจิตให้ทวนกลับการเร่งเป็นอาการแห่งความเพียร แต่ช้าๆ เป็นอาการทวนกระแส กล่าวคือ การมีความเพียรทวนกระแสแห่งจิตนั่นเอง
แม้การขยับไปทีละนิดด้วยจิตแน่วแน่ ในทางกลับกัน การฝืนจิตให้ไหลย้อนกลับนั้นเต็มไปด้วยพลังอย่างมาก เมื่อใดเร่งร้อนในการฝืนกระแส พลังก็จะหมดอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวไว้ว่า เร่งร้อนช้าๆ ให้เป็นไปตามลำดับ แต่ไม่รีบร้อนข้ามลำดับ เพราะการข้ามลำดับแสดงให้เห็นถึงการไหลไปตามกระแสแล้ว เพียงแต่ไม่เข้าใจภาวะเท่านั้นเอง ดุจดังการไหลตกไปสู่น้ำที่ไหลเชี่ยว การว่ายทวนน้ำ ต้องว่ายอย่างเป็นลำดับ พยายามออกกำลังเป็นลำดับ ขยับไปเป็นจังหวะ แต่เมื่อรีบเร่งว่ายทวนกระแส กระโดดให้ถึงโดยไว ในขณะกระโดดนั้นก็จะถูกกระแสน้ำกระแทกให้ไหลไปตามกระแสอีกไกล ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องกระทำไปโดยลำดับ ฝืนกระแสเป็นลำดับ เร่งร้อนช้าๆ เข้าไปเป็นลำดับ พลังก็ยังคงเหลือที่จะฝืนกระแสได้อีกนาน
ตรรกะทางจิตไม่เหมือนตรรกะทางโลก ตรรกะทางจิตนั้นตรงกันข้ามกับตรรกะทางโลก เช่นโลกเข้าใจว่า การคาดหวังทำให้สมหวัง แต่ทางจิต ยิ่งคาดหวังก็ยิ่งไกลความสมหวัง ในทางโลก ยิ่งให้ไปก็ยิ่งหมดไป แต่ในทางจิต ยิ่งให้ไปก็ยิ่งได้มา การคาดหวังเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตหรืออัตตาให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงตั้งความหวังไว้เบื้องหน้าเสมอ เมื่อใดที่ไม่ตั้งความหวังไว้เบื้องหน้า เมื่อนั้นจิตจะขาดสารอาหารทันที คำว่า “ชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวโลก เพราะโลกก็หมุนไปตามความหวังนี้เอง คำว่าโลกในที่นี้ก็คือ วัฏฏะนี้ที่หมุนไปได้ด้วยความหวังของคนทั้งโลก การหมุนไปของโลกก็ดุจดังไดนาโมที่ปั่นไปก็เกิดกระแสไฟฟ้าไป ยิ่งปั่นยิ่งเกิดกระแสไฟฟ้า ในที่สุดก็หาจุดจบไม่เจอ ความหวังจึงเป็นเพียงอาหารหล่อเลี้ยงของจิตเท่านั้นเอง จิตจะขาดความหวังไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครสมหวังอย่างแท้จริง ได้สิบก็หวังร้อย ได้ร้อยก็หวังพัน ได้พันก็หวังหมื่น หวังแสน หวังล้านเรื่อยๆ จนกระทั่งจบไปชาติหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง ต่อชีวิตใหม่ก็หวังอย่างนี้ ก็เพราะนี่เป็นอาหารของอัตตาที่มันจะดำรงอยู่ต่อไปได้
ในทางปฏิบัติให้หยุดหวังเสีย ไม่ให้อาหารหล่อเลี้ยงจิตให้มีกำลัง กระแสจิตจะมีกำลังมากขึ้นก็เพราะความหวังนี้ หวังมากก็มีกระแสเชี่ยวมาก ไม่หวังกระแสจิตก็อ่อนกำลังลง และไหลเอื่อยๆ จนกระทั่งกระแสได้หยุดลงกลายเป็นเพียงจิตที่ขาดกระแสเชี่ยว เมื่อนั้น การว่ายทวนกระแสก็เป็นไปได้โดยง่าย ไม่ต้องใช้กำลังมากก็สามารถไปได้ไกล เมื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงคือ อาหารของจิตเสีย ก็คือความหวัง คำว่า ความหวัง เป็นคำสุภาพในภาษาไทยเพื่อฟังดูไม่น่าเกลียด แต่แท้จริง ความหวังก็คือ ตัณหา ที่อยากได้ อยากมี อยากเป็น เรียกว่า ภวตัณหา ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เรียกว่า วิภวตัณหานั่นเอง
ตัณหานี่เองที่เป็นสารอาหารของอัตตาหล่อเลี้ยงให้ชีวิตหมุนไปตามกรรม ปั่นชีวิตให้ไหลไปตามกระแสแห่งตัณหา ไม่ละเว้นแม้แต่การปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติไปตามอำนาจแห่งตัณหา แล้วในที่สุดก็ไหลไปกับกระแสวังวนแห่งตัณหานี้อย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง เป้าหมายแห่งการปฏิบัติที่เพื่อลด ละ เลิก แต่กลับทำให้เป็น เพิ่ม สะสม ยึดมั่นไปโดยปริยาย
ให้ปรับกระแสการกระทำให้เป็นเพียงอาการก็พอ ไม่ต้องเติมตัณหา ไม่ต้องเติมเชื้อ ไม่ต้องเติมความหวัง อยากได้ คาดหมาย มุ่งหวัง ปฏิบัติก็เพียงปฏิบัติ ให้กระทำทุกขณะเป็นเพียงกิริยาอาการก็พอ แล้วพิจารณากิริยาอาการนั้นเท่านั้น ตรรกะของชนชาวโลกย่อมคิดไปว่า แล้วมันจะได้อะไร ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น การทำที่เป็นเพียงกิริยาชาวโลกไม่สามารถเข้าใจได้ ชาวโลกย่อมเข้าใจสิ่งที่เป็นนาม (N) หรือสิ่งของเท่านั้น สิ่งที่เป็นกิริยา (V) ชาวโลกไม่เข้าใจ แต่ผิดกันกับชาวธรรม ขอเพียงให้กำหนดแต่กิริยาก็พอ ไม่ต้องกำหนดนาม หรือสิ่งของ จึงไม่แปลกเลยที่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์นั้นไม่สามารถไปได้กับศาสนา เพราะแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์มุ่งไปที่สิ่งของที่เรียกว่า นาม (Noun) ผู้ใดที่ไม่สามารถผลิตสิ่งของออกมา ผู้นั้นชื่อว่า ไร้ประโยชน์ เป็นกากเดนสังคม แต่ชาวธรรม โดยเฉพาะพระพุทธศาสนามุ่งเน้นไปที่กิริยา
การกระทำที่เป็นเพียงกิริยาเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นจากบ่วงแห่งวัฏฏะได้ ยิ่งปฏิบัตินั่งนิ่งอยู่กับปัจจุบันได้มากที่สุด นานที่สุด ก็เท่ากับว่า จิตได้เป็นอิสระมากเท่านั้น จิตหลุดพ้นจากกระแสเท่านั้น จิตที่หลุดพ้นจากกระแสย่อมเกิดพลังมหัศจรรย์ขึ้น ที่เรียกว่า ความสุขสูงสุด จิตย่อมได้เวลาผลิบาน ยิ่งอยู่กับปัจจุบันได้มากเท่าใด หมายถึงยิ่งมีสติมากเท่านั้น จิตก็ผลิดอกออกผลแห่งมรรควิถีหลุดพ้นได้มากเท่านั้น เรียกว่า เป็นก้าวกระโดดได้ มิฉะนั้นจิตไม่สามารถผลิบานได้เลย เนื่องจากจมและไหลไปกับกระแสแห่งตัณหาอย่างไม่มีเบื้องต้นและที่สุด
พลังมหัศจรรย์นี้เป็นเพียงผลพลอยได้อันเกิดมาเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการมุ่งหมาย คาดหมาย ยิ่งคาดหมาย ก็คืออยู่ในกระแส ไหนเลย ดอกไม้อัศจรรย์แห่งความสงบสุขของจิตจะเกิดขึ้นได้เล่า ยิ่งไม่คาดหมาย ไม่มุ่งหวัง เพียงแต่ปฏิบัติอยู่กับปัจจุบัน พิจารณาเพียงกิริยาเท่านั้นนี่เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ส่วนผลเป็นเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ ชาวสวนมีหน้าที่รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ดูแลต้นผลไม้ให้เจริญเติบโต แต่ผลไม่ใช่หน้าที่ของชาวสวน แต่เป็นหน้าที่ของต้นไม้ นี่เป็นกฎการปฏิบัติตามธรรมชาติ อย่างเป็นธรรมชาติ
นี่คือ โศลกที่สามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา
วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ระวังตกลงด้านสุดขั้ว
ความตั้งใจเป็นเรื่องดี
แต่อย่าให้ความตั้งใจเป็นแรงผลัก
ให้จิตไหลไปสู่การยึดมั่นได้ง่าย
พอจิตยึดมั่นจะทำให้มีพลัง
ไหลเข้าไปสู่ภาวะไร้สติได้ง่าย
ด้วยเหตุนี้พึงตั้งใจอันประกอบด้วย
ความรู้ตัวทั่วพร้อมเถิด
แล้วจะเกิดพลังที่ดิ่งสู่ความสงบระงับ
เบื้องต้นต้องให้เข้าใจว่า ความตั้งใจเป็นเรื่องที่ดี ความตั้งใจนั่นแหละที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “กรรม” การกระทำที่มีความตั้งใจเป็นพื้นฐาน หรือที่เข้าใจกันในนามของคำว่า การกระทำที่มีเจตนา หรือมีความตั้งใจ ถ้าหากใครก็ตามกระทำทุกเรื่องราวประกอบไปด้วยความตั้งใจ ก็หมายถึงการกระทำที่เป็นกรรมทุกขณะจิต
โปรดทราบไว้ว่า การกระทำที่เป็นกรรมนั้นย่อมมีผลแห่งกรรมที่เรียกว่า “วิบาก” ผลแห่งกรรมนี้ก็นำไปสู่การกระทำกรรมอีก กลายเป็นวงจรที่ทำให้ชีวิตนี้วนไปมา เวียนว่ายไปมาตามวัฏจักรนี้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นเรื่องดี หรือชั่ว หรือกลางๆ การกระทำที่จะดีหรือชั่ว หรือกลางๆ นี้ก็ขึ้นอยู่กับเจตนา ที่เรียกว่ากรรมนี้ทั้งนั้น การกระทำที่ตั้งใจกระทำไม่แสดงออกถึงความดีหรือชั่ว แต่เป็นการการกระทำที่เป็นกลางๆ เช่น ตั้งใจตื่นนอน ตั้งใจเดินไปซื้ออาหาร เป็นการกระทำที่เป็นกลางๆ แต่กลางๆ อย่างนี้ก็ประกอบไปด้วยอวิชชา มีโมหะเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงไม่อาจหลุดจากวงจรแห่งวัฏฏะไปได้
ความเข้าใจกับคำว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว หรือ คำที่พระนิยมกล่าว คือ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นประธาน ไม่ว่าจะทำอะไร ดีหรือชั่ว ล้วนแล้วแต่สำเร็จจากใจ จะต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ ถ้าไม่เข้าใจถ่องแท้อาจตกไปสู่วังวน หาทางออกไม่ได้ คำนี้มีนัยลึกซึ้งแฝงอยู่ภายใน การกระทำที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของใจ ล้วนแล้วแต่ถูกใจบงการทั้งนั้น ผู้คนทั้งหลายไม่อาจคิดย้อนกลับได้ว่า การกระทำที่ไม่เป็นไปตามอำนาจของใจได้หรือไม่ ต่างถูกข้อความข้างต้นสรุปไว้ให้แล้วว่า ไม่ได้ เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน แต่ความจริงแล้ว นั่นเป็นเล่ห์กลของจิตที่สรุปให้ไม่ต้องตระหนักต่อไปอย่างไร เรียกว่าให้ยอมจำนนต่อใจที่บงการให้กระทำทุกสิ่งอย่างต่อไป
ความจริงก็มีอยู่ว่า โดยปกติของคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาการกระทำงานของจิต ไม่ทราบความเล่ห์กลของจิต ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา แม้จะศึกษาก็ศึกษาเฉพาะตัวหนังสือเท่านั้นจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่า คนที่ไม่ปกติ คือ คนที่ศึกษาพระพุทธศาสนาย่อมทราบว่า การกระทำที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจของจิตนั้นมีอยู่ ก็คือ การกระทำที่เรียกว่า การกระทำแบบไม่ดำไม่ขาว การกระทำอย่างนี้นั้นมีอยู่ การกระทำอย่างนี้ไม่ตกไปในอำนาจของจิต ในการปฏิบัติเรียกว่า การกระทำที่มีสติกำหนดรู้ทุกขณะนั่นเอง การกระทำที่กำหนดรู้ทุกขณะ เป็นการกระทำที่มีสติ สติจะควบคุมจิตไม่ให้ตกไปสู่ส่วนที่เรียกว่า ดำ หรือ ขาว หรือที่เรียกว่า ดีหรือชั่ว เป็นแต่การกระทำเท่านั้น
ดังนั้น โศลกนี้มุ่งแสดงให้เห็นว่า ความตั้งใจนั้นดีแล้ว แต่ยังไม่ดีพอ ถ้าจะให้ความตั้งใจนั้นถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาจะต้องมีสติกำกับ เมื่อความตั้งใจที่ประกอบด้วยสติแล้ว การกระทำนั้นจะไม่เรียกว่า กรรม แต่จะเรียกว่า กิริยา การกระทำที่เป็นเพียงกิริยาย่อมมีผลเป็นเพียงปฏิกิริยา ไม่นำไปสู่การวนอยู่ในการกระทำนั้น ไม่ตกอยู่ในอำนาจของใจที่บงการ
เพราะสตินั้นเป็นตัวกันและกั้นไม่ให้จิตมีอุปาทานเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในการกระทำ ไม่ให้หลงไปกับการกระทำ เป็นการกระทำที่มีสติกำกับ มีแต่ความตั้งใจที่ประกอบไปด้วยสติเท่านั้นจะไม่ทำให้จิตหลงใหลไปสู่การยึดมั่นถือมั่นในความตั้งใจนั้น เพราะเมื่อตั้งใจมากจิตก็จะพลัดตกไปสู่การไร้สติได้ง่าย เพราะความตั้งใจมากนั้นเข้าไปใกล้รากฐานแห่งตัวอยาก (Ego) ใครก็ตามที่ตั้งใจมากจะเห็นได้ว่า พลัดตกไปสู่การไร้สติได้ง่าย ใครแนะนำ ใครบอกกล่าว ใครตักเตือนจะไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้ให้ระมัดระวังความตั้งใจนี้ แต่ถ้าความตั้งใจประกอบไปด้วยสติ จะยับยั้งไม่ให้ตัวอยากทำงานได้ถนัด
เมื่อตั้งใจอันประกอบด้วยสติแล้วปฏิบัติธรรม ความสมบูรณ์แห่งอินทรีย์จะเกิดขึ้นและจะกลายเป็นกำลังนำไปสู่ความสงบและการรู้แจ้งได้ง่าย อินทรีย์ที่กลายเป็นพลังก็คือ ความมั่นใจ ความตั้งใจ ความรู้ตัวทั่วพร้อม ความกำหนด ความตระหนักรู้
เมื่อความเต็มเปี่ยมแห่งพลังทั้ง ๕ ประการนี้ อัศจรรย์แห่งปัญญาแนวพุทธก็เกิดขึ้น ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญานั่นเอง อย่าได้รีบเร่งอยากได้ แต่ให้รีบเร่งช้าๆ ผลเป็นเรื่องของเหตุ ทำเหตุให้สมบูรณ์ ผลย่อมตามมาเอง การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเรา ความสงบสุขเป็นเรื่องของผลพลอยได้
นี่คือโศลกที่สองของคัมภีร์สุวิญมาลา
วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ตั้งใจสู่ความสิ้นทุกข์
ตั้งใจสู่ความสิ้นทุกข์
เมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้วปฏิบัติ
จิตย่อมน้อมไปสู่ความสงบ
รักษาความสงบนั้นไว้ให้สม่ำเสมอ
จิตย่อมทรงไว้ซึ่งภาวะว่าง
น้อมนำความว่างมาเป็นอารมณ์
ย่อมเข้าถึงความดับในที่สุด
ด้วยเหตุนี้พึงตั้งใจปฏิบัติเถิด
การตั้งใจที่จะทำอะไรย่อมมีผลนำมาซึ่งความน่าพอใจเสมอ เพราะความตั้งใจเป็นบาทฐานแห่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ ไม่เว้นแม้แต่การปฏิบัติธรรม แต่ความตั้งใจนี้ต้องมีสติกำกับ มิฉะนั้นความตั้งใจนั้นจะเป็นเพียงอารมณ์แฝงที่เรียกว่า ความอยากได้ อยากทำ อยากมีเท่านั้น อาการเช่นนี้จะนำไปสู่ลักษณะแห่งไฟไหม้ฟาง คือ วูบมาแล้วดับไป ไม่จริงจัง พอเจอปัญหา พอเจอด่านทดสอบก็เริ่มท้อแท้ ท้อถอย การที่ใจตั้งมั่นเอาจริงเอาจังแบบรู้เท่าทัน ผลก็จะออกมาให้เห็นจริง ที่เพิ่มคำว่า แบบรู้เท่าทัน คำนี้สำคัญ เพราะถ้าตั้งใจไม่รู้เท่าทันอารมณ์ก็จะถูกพลังความตั้งใจกดทับกลายเป็นความเครียดที่สะสมขึ้น สะสมมากขึ้นก็ทำให้เกิดอาการไม่สบาย ตึงเครียด และเกิดอาการข้างเคียงต่อไป นั่นก็คือ อาการมึนหัว อาการง่วงเหงาหาวนอน อาการฟุ้งซ่าน นี่แสดงว่า ความตั้งใจที่ถาโถมแบบไม่ระมัดระวัง
เมื่อตั้งใจอย่างรู้เท่าทันแล้วปฏิบัติธรรม จิตน้อมไปสู่ความสงบได้ไว จิตก็อาศัยบรรยากาศเป็นตัวโน้มนำ ด้วยเหตุนี้คนในโลกจึงใช้บรรยากาศในการชักนำผู้คนให้กระทำหรือไม่กระทำอะไรต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการกระตุ้นกิเลสและความอยากให้เกิดขึ้นมากๆ เมื่อความอยากเกิดขึ้นมากก็จะเป็นพลังทำงานได้มาก สังเกตการณ์ขายประกันและธุรกิจเครือข่ายต้องพาให้เข้าไปฟังบรรยายและเข้าไปพบปะกลุ่มแล้วฟังการกระตุ้นด้วยยอดขายและความสำเร็จของผู้อื่น บรรยากาศเป็นสิ่งแวดล้อมทำให้ใจโน้มเอียงไปสู่การกระทำได้ไม่ยาก ในกรณีเดียวกันนี้ บรรยากาศแห่งการปฏิบัติธรรมก็ต้องมีเพื่อให้เกิดพลังในการปฏิบัติในเบื้องต้นจากนั้นก็ให้เป็นกระบวนการติดเชื้อต่อไป
ให้รักษาความสงบนั้นไว้ ความสงบเป็นสิ่งที่รักษาได้ยากเพราะเป็นเหมือนห้วงแห่งบรรยากาศทางจิตที่ได้อารมณ์ธรรม มีเพียงชั่วขณะหนึ่งจากนั้นก็จะสลายไป พยายามรักษาความสงบที่เกิดขึ้นในห้วงหนึ่งนั้นไว้ นั่นคือเชื้อแห่งพลังกุศลที่จะเข้มข้นขึ้น พลังแห่งความสงบนั้นจะช่วยให้จิตน้อมรับมาเป็นประสบการณ์แห่งการปฏิบัติ เป็นผลแห่งการปฏิบัติเพียงชั่วขณะจะมีความรู้สึกเย็นอย่างบอกไม่ถูก เป็นความเย็นแห่งจิตมิใช่เย็นกาย ความเย็นชนิดนี้เองที่สะสมภูเขาน้ำแข็งให้เกิดขึ้นภายในใจทำให้จิตใจหยั่งลงสู่ทางแห่งการปฏิบัติในกาลต่อไป
เมื่อใจสงบเย็น ให้น้อมนำไปสู่ความว่าง คำว่า ว่างในที่นี้ เป็นคำที่ไม่ตรงกับภาษาไทยที่เข้าใจกัน ความว่างในสภาวธรรมกับความว่างในภาษาไทย ขออย่าได้ใช้ความรู้ภาษาไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ความว่างในสภาวธรรมเป็นความเย็นที่รักษาอยู่ การรักษาความเย็นใจอยู่เช่นนั้นมีทั้งความรู้สึกตัว ความมีสติสมบูรณ์ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม นี่แหละความว่าง เพราะเป็นสภาวะที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกธรรมฝ่ายอกุศลเข้ามากระทบ แม้แต่ธรรมฝ่ายกุศลก็ไม่ได้เข้ามา มีเพียงแต่สภาวะสงบเย็นเท่านั้น ก็ให้น้อมนำความสงบเย็นนี้มาเป็นอารมณ์ เป็นความสงบเย็นที่มีแต่ความว่าง น้อมนำให้ใจรักษาความว่างนี้ไว้ พิจารณาเห็นความสงบเย็นเป็นเพียงความว่างแห่งจิต
จิตที่รักษาความว่างนี้ไว้ได้ยาวนานเพียงใด สภาวะความดับแห่งจิตก็จะปรากฏขึ้นตราบนั้น ความดับก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ความดับที่เข้าใจในภาษาไทย เพราะไม่ตรงกันกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นกับจิตที่พิจารณาเห็นความว่าง อย่าได้นำเข้ามาในการปฏิบัติธรรม เพราะมิฉะนั้นจิตที่เจ้าเล่ห์จะให้ความคิดที่ติดมากับการเรียนหนังสือภาษาไทยเข้ามาจับว่า ดับ คือ สูญหายไป แต่ความดับในสภาวธรรม มิใช่สูญหายไปไหน เพียงแต่เป็นการล้มกระบวนการแห่งทุกข์ให้หมดไปเท่านั้น ไม่มีภาษาใดที่จะอธิบายสภาวธรรมตรงนี้ได้ มีแต่การสัมผัสได้แห่งปัญญาเท่านั้น ความดับคือการสิ้นไปแห่งกระบวนการแห่งทุกข์ เหลือแต่ความว่างที่ดำรงอยู่ ไร้ผู้รับทุกข์
ก็อะไรเล่าคือ กระบวนการแห่งทุกข์ ก็คือ การยึดมั่นในเบญจขันธ์นั่นเอง ก็เมื่อใจพิจารณาความสงบเย็น เป็นความว่างแห่งจิต กระบวนการยึดมั่นในเบญจขันธ์ก็คลายตัว เมื่อคลายตัวมากขึ้นๆ มากไปเรื่อยๆ ด้วยพลังสติ ปัญญาที่เรียกว่า ความรู้แจ้งในกองสังขารก็เกิด เป็นภาวนามยปัญญา ความดับก็มาจากตรงนี้ ความดับก็มาจากปัญญานี้เอง ก็เมื่อปัญญาเกิดอวิชชาก็สิ้นไป ความดับแห่งทุกข์ก็คือการที่ทุกข์ไม่อาจพัวพันได้อีกนี้แหละเรียกนิโรธ คือ กันทุกข์ออกไปได้ จึงเรียกว่า ดับทุกข์
ขอให้ศึกษาพระไตรปิฎกให้มากๆ โดยเฉพาะในส่วนการปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา ก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น การปฏิบัตินำไปสู่การสิ้นทุกข์เท่านั้น ไม่มุ่งหมายไปเพื่อสิ่งอื่นใดอีก ถ้าเป็นอย่างอื่นแสดงว่า ไม่ใช่วิถีพุทธ ให้พึงระมัดระวังให้ดี เนื่องจากตัวแปรระหว่างปฏิบัติมีมาก ขอให้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อสิ้นไปแห่งทุกข์เถิด
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)