วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ไม่คาดหวัง



“จงรีบเร่งอย่างช้าๆ” ทำไปตามลำดับ
ขยับไปทีละนิดด้วยจิตแน่วแน่
แต่ไม่รีบร้อน
เพราะวิถีจิตไม่เป็นตามตรรกะ
ยิ่งคาดหมาย ยิ่งคาดหวัง ด่วนได้ รีบร้อน
กลับยิ่งตรงกันข้าม
ยิ่งช้า ยิ่งผิดทาง ยิ่งห่างไกล
แต่ยิ่งช้าในลำดับ
กลับยิ่งผลิดอกออกผลรวดเร็ว
และก้าวกระโดดได้




การปฏิบัติธรรมเป็นการกระทำที่ฝืนกระแสจิตที่ไหลไปสู่ที่ต่ำ การไหลตามกระแสนั้นรวดเร็ว ทะลุทะลวงสิ่งขวางกั้น ไม่อาจยับยั้งได้เมื่อมันมีกำลังแรง การไหลไปตามกระแสเป็นธรรมชาติของจิตอยู่แล้ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นก็เพราะจิตย่อมอาศัยพลังกระแสเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตให้เจริญงอกงาม อ้วนท้วนสมบูรณ์ เมื่อใดก็ตามเกิดการพยายามขัดขืนกระแสที่จิตไหลไป จะทำให้จิตเกิดอาการต่อต้าน สร้างภาพให้เกิดขึ้นต่างๆ นานาในอันจะโน้มน้าวให้ผู้นั้นหยุดการขัดขืนนั้นเสีย นี่เป็นกระแสแห่งจิตที่ไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ

ในการปฏิบัติจึงมีคำกล่าว “ให้รีบเร่งช้าๆ” มีความหมายว่า ให้กลับด้านตรงข้าม จากเดิมเร่งร้อนให้รวดเร็ว แต่นี่ให้เป็นเร่งร้อนให้ช้าๆ การเร่งร้อนช้าๆ ทำให้จิตกลับด้าน เป็นการฝืนจิตให้กลับด้าน เป็นการทวนกระแสจิตที่ไหลไปสู่ที่ต่ำ ให้เร่งจิตให้ทวนกลับการเร่งเป็นอาการแห่งความเพียร แต่ช้าๆ เป็นอาการทวนกระแส กล่าวคือ การมีความเพียรทวนกระแสแห่งจิตนั่นเอง


แม้การขยับไปทีละนิดด้วยจิตแน่วแน่ ในทางกลับกัน การฝืนจิตให้ไหลย้อนกลับนั้นเต็มไปด้วยพลังอย่างมาก เมื่อใดเร่งร้อนในการฝืนกระแส พลังก็จะหมดอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวไว้ว่า เร่งร้อนช้าๆ ให้เป็นไปตามลำดับ แต่ไม่รีบร้อนข้ามลำดับ เพราะการข้ามลำดับแสดงให้เห็นถึงการไหลไปตามกระแสแล้ว เพียงแต่ไม่เข้าใจภาวะเท่านั้นเอง ดุจดังการไหลตกไปสู่น้ำที่ไหลเชี่ยว การว่ายทวนน้ำ ต้องว่ายอย่างเป็นลำดับ พยายามออกกำลังเป็นลำดับ ขยับไปเป็นจังหวะ แต่เมื่อรีบเร่งว่ายทวนกระแส กระโดดให้ถึงโดยไว ในขณะกระโดดนั้นก็จะถูกกระแสน้ำกระแทกให้ไหลไปตามกระแสอีกไกล ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องกระทำไปโดยลำดับ ฝืนกระแสเป็นลำดับ เร่งร้อนช้าๆ เข้าไปเป็นลำดับ พลังก็ยังคงเหลือที่จะฝืนกระแสได้อีกนาน


ตรรกะทางจิตไม่เหมือนตรรกะทางโลก ตรรกะทางจิตนั้นตรงกันข้ามกับตรรกะทางโลก เช่นโลกเข้าใจว่า การคาดหวังทำให้สมหวัง แต่ทางจิต ยิ่งคาดหวังก็ยิ่งไกลความสมหวัง ในทางโลก ยิ่งให้ไปก็ยิ่งหมดไป แต่ในทางจิต ยิ่งให้ไปก็ยิ่งได้มา การคาดหวังเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตหรืออัตตาให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงตั้งความหวังไว้เบื้องหน้าเสมอ เมื่อใดที่ไม่ตั้งความหวังไว้เบื้องหน้า เมื่อนั้นจิตจะขาดสารอาหารทันที คำว่า “ชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวโลก เพราะโลกก็หมุนไปตามความหวังนี้เอง คำว่าโลกในที่นี้ก็คือ วัฏฏะนี้ที่หมุนไปได้ด้วยความหวังของคนทั้งโลก การหมุนไปของโลกก็ดุจดังไดนาโมที่ปั่นไปก็เกิดกระแสไฟฟ้าไป ยิ่งปั่นยิ่งเกิดกระแสไฟฟ้า ในที่สุดก็หาจุดจบไม่เจอ ความหวังจึงเป็นเพียงอาหารหล่อเลี้ยงของจิตเท่านั้นเอง จิตจะขาดความหวังไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครสมหวังอย่างแท้จริง ได้สิบก็หวังร้อย ได้ร้อยก็หวังพัน ได้พันก็หวังหมื่น หวังแสน หวังล้านเรื่อยๆ จนกระทั่งจบไปชาติหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง ต่อชีวิตใหม่ก็หวังอย่างนี้ ก็เพราะนี่เป็นอาหารของอัตตาที่มันจะดำรงอยู่ต่อไปได้


ในทางปฏิบัติให้หยุดหวังเสีย ไม่ให้อาหารหล่อเลี้ยงจิตให้มีกำลัง กระแสจิตจะมีกำลังมากขึ้นก็เพราะความหวังนี้ หวังมากก็มีกระแสเชี่ยวมาก ไม่หวังกระแสจิตก็อ่อนกำลังลง และไหลเอื่อยๆ จนกระทั่งกระแสได้หยุดลงกลายเป็นเพียงจิตที่ขาดกระแสเชี่ยว เมื่อนั้น การว่ายทวนกระแสก็เป็นไปได้โดยง่าย ไม่ต้องใช้กำลังมากก็สามารถไปได้ไกล เมื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงคือ อาหารของจิตเสีย ก็คือความหวัง คำว่า ความหวัง เป็นคำสุภาพในภาษาไทยเพื่อฟังดูไม่น่าเกลียด แต่แท้จริง ความหวังก็คือ ตัณหา ที่อยากได้ อยากมี อยากเป็น เรียกว่า ภวตัณหา ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เรียกว่า วิภวตัณหานั่นเอง

ตัณหานี่เองที่เป็นสารอาหารของอัตตาหล่อเลี้ยงให้ชีวิตหมุนไปตามกรรม ปั่นชีวิตให้ไหลไปตามกระแสแห่งตัณหา ไม่ละเว้นแม้แต่การปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติไปตามอำนาจแห่งตัณหา แล้วในที่สุดก็ไหลไปกับกระแสวังวนแห่งตัณหานี้อย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง เป้าหมายแห่งการปฏิบัติที่เพื่อลด ละ เลิก แต่กลับทำให้เป็น เพิ่ม สะสม ยึดมั่นไปโดยปริยาย

ให้ปรับกระแสการกระทำให้เป็นเพียงอาการก็พอ ไม่ต้องเติมตัณหา ไม่ต้องเติมเชื้อ ไม่ต้องเติมความหวัง อยากได้ คาดหมาย มุ่งหวัง ปฏิบัติก็เพียงปฏิบัติ ให้กระทำทุกขณะเป็นเพียงกิริยาอาการก็พอ แล้วพิจารณากิริยาอาการนั้นเท่านั้น ตรรกะของชนชาวโลกย่อมคิดไปว่า แล้วมันจะได้อะไร ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น การทำที่เป็นเพียงกิริยาชาวโลกไม่สามารถเข้าใจได้ ชาวโลกย่อมเข้าใจสิ่งที่เป็นนาม (N) หรือสิ่งของเท่านั้น สิ่งที่เป็นกิริยา (V) ชาวโลกไม่เข้าใจ แต่ผิดกันกับชาวธรรม ขอเพียงให้กำหนดแต่กิริยาก็พอ ไม่ต้องกำหนดนาม หรือสิ่งของ จึงไม่แปลกเลยที่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์นั้นไม่สามารถไปได้กับศาสนา เพราะแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์มุ่งไปที่สิ่งของที่เรียกว่า นาม (Noun) ผู้ใดที่ไม่สามารถผลิตสิ่งของออกมา ผู้นั้นชื่อว่า ไร้ประโยชน์ เป็นกากเดนสังคม แต่ชาวธรรม โดยเฉพาะพระพุทธศาสนามุ่งเน้นไปที่กิริยา


การกระทำที่เป็นเพียงกิริยาเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นจากบ่วงแห่งวัฏฏะได้ ยิ่งปฏิบัตินั่งนิ่งอยู่กับปัจจุบันได้มากที่สุด นานที่สุด ก็เท่ากับว่า จิตได้เป็นอิสระมากเท่านั้น จิตหลุดพ้นจากกระแสเท่านั้น จิตที่หลุดพ้นจากกระแสย่อมเกิดพลังมหัศจรรย์ขึ้น ที่เรียกว่า ความสุขสูงสุด จิตย่อมได้เวลาผลิบาน ยิ่งอยู่กับปัจจุบันได้มากเท่าใด หมายถึงยิ่งมีสติมากเท่านั้น จิตก็ผลิดอกออกผลแห่งมรรควิถีหลุดพ้นได้มากเท่านั้น เรียกว่า เป็นก้าวกระโดดได้ มิฉะนั้นจิตไม่สามารถผลิบานได้เลย เนื่องจากจมและไหลไปกับกระแสแห่งตัณหาอย่างไม่มีเบื้องต้นและที่สุด


พลังมหัศจรรย์นี้เป็นเพียงผลพลอยได้อันเกิดมาเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการมุ่งหมาย คาดหมาย ยิ่งคาดหมาย ก็คืออยู่ในกระแส ไหนเลย ดอกไม้อัศจรรย์แห่งความสงบสุขของจิตจะเกิดขึ้นได้เล่า ยิ่งไม่คาดหมาย ไม่มุ่งหวัง เพียงแต่ปฏิบัติอยู่กับปัจจุบัน พิจารณาเพียงกิริยาเท่านั้นนี่เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ส่วนผลเป็นเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ ชาวสวนมีหน้าที่รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ดูแลต้นผลไม้ให้เจริญเติบโต แต่ผลไม่ใช่หน้าที่ของชาวสวน แต่เป็นหน้าที่ของต้นไม้ นี่เป็นกฎการปฏิบัติตามธรรมชาติ อย่างเป็นธรรมชาติ

นี่คือ โศลกที่สามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

ไม่มีความคิดเห็น: