วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พุทธภาวะ




พุทธภาวะ

๑. ความเบื้องต้น


การที่คนทั้งหลายมองเห็นสิ่งต่าง ๆ แม้สิ่งเดียวกัน หรือเรื่องเดียวกัน แต่กลับไม่เหมือนกัน เป็นเพราะอะไร คำตอบที่ได้ก็คงมีต่าง ๆ กันไป ในที่นี้จึงขอเสนอมุมมองเป็นฐานคำตอบไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการเข้าใจสภาพที่ปรากฏขึ้น และทำให้เข้าใจผู้อื่น ไม่นำไปสู่การลบลู่มุมมองและความคิดของผู้อื่นที่เห็นหรือให้คำตอบไม่เหมือนตนเอง เนื่องจากเข้าใจฐานคำตอบที่คน ๆ นั้นเขาแสดงออกมา ในที่นี้ขอเสนอฐานคำตอบไว้ ๒ ลักษณะ คือ ตามลักษณะทางความคิด ที่เรียกว่า ตามกระบวนทรรศน์ และตามลักษณะของมิติเชิงลึก ฐานคำตอบตามกระบวนทรรศน์นั้นมี ๕ กลุ่ม ได้แก่
๑) สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เทพเจ้าบันดาล (Primitive)
๒) สิ่งนั้นเป็นผลบุญที่ตนทำไว้ (Ancient)
๓) สิ่งนั้นเป็นความช่วยเหลือของผู้มีบุญ (Mediaeval)
๔) สิ่งนั้นเป็นผลงานของตนเอง (Modern)
๕) สิ่งนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย (Post Modern)


ส่วนฐานคำตอบตามลักษณะมิติเชิงลึกมี ๔ ระดับ ได้แก่
๑) ระดับเห็นภายนอก (Body or Seeing)
๒) ระดับคิดเหตุผล (Mind or Thinking)
๓) ระดับเข้าใจ (Heart or Understanding)
๔) ระดับตระหนักตื่นรู้ (Soul or Awakening)

จากลักษณะมุมมองของฐานทั้ง ๒ ประการที่ให้ไว้ในที่นี้ ถ้าไม่เข้าใจมีผลทำให้โลกนี้ปั่นป่วน และเกิดโกลาหลได้เลยทีเดียว เพราะต่างก็จะใช้ฐานของตนเป็นหลักแล้วมองฐานของผู้อื่น จากนั้นก็จะเกิดความพอใจ ไม่พอใจขึ้น เกิดถูก ผิดขึ้น เกิดดี ชั่วขึ้น ยกเว้นเสียแต่ว่า ผู้ใดที่เข้าถึงระดับสุดท้ายของแต่ละฐานเท่านั้นก็จะสามารถอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสบาย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและแก่ผู้อื่น เพราะฐานที่ ๔ นี้ก็คือ ฐานแห่งพุทธภาวะ เป็นฐานแห่งการตระหนักตื่นรู้

๒. มายาปิดบัง


ในยามที่อยู่ร่วมกับผู้คนที่หลากหลายในสังคม อดไม่ได้ที่จะเข้าใจและแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับบุคคลอื่นขึ้นมาทันที ความสัมพันธ์นั้นมีความสำคัญมาก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี่เองที่เป็นตัวบดบังความเข้าใจที่แท้จริงให้หายไป เนื่องจากคำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี่แหละเป็นสาเหตุทำให้ตัวตนสำคัญขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ตัวตนแสดงบทบาทออกมาได้ หากไม่มีความสัมพันธ์นี้ ตัวตนจะเหลือความเป็นธรรมชาติที่สุด เหลือความเป็นเอกภาวะที่สุด ไม่อาจโยงใยตนกับใคร ใครกับตนได้ บทบาทที่ตัวตนจะแสดงออกมาก็ไม่มีช่องทาง


เราจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เริ่มกำเนิดในครอบครัว เราต้องกลายเป็นลูกสัมพันธ์กับพ่อแม่ สัมพันธ์กับญาติพี่น้อง กลายเป็นเด็กสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ กลายเป็นลูกบ้านกับผู้ใหญ่บ้าน กลายเป็นนักเรียนสัมพันธ์กับครู กลายเป็นนักศึกษาสัมพันธ์กับอาจารย์ กลายเป็นคนรักสัมพันธ์กับคนรักและเพื่อนฝูง กลายเป็นประชากรสัมพันธ์กับรัฐและพวกนักวิจัย กลายเป็นนักการเมืองสัมพันธ์กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กลายเป็นผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์สัมพันธ์กับนักบริหารจัดการ นายจ้าง และผู้ค้าแรงงาน กลายเป็นศาสนิกสัมพันธ์กับผู้สอนศาสนา เมื่อพิจารณาแล้ว อัตตาที่แฝงอยู่ในตัวเรานั้น อาศัยความสัมพันธ์เล่นบทบาททำให้เรากลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่คน กลายเป็นชื่อที่เขาใช้เรียกตามเส้นแห่งสัมพันธ์นั้นเท่านั้นเอง และเราทั้งหลายก็หลงลืมความเป็นคนไปอย่างสิ้นเชิง


สถาบันการศึกษานี่แหละที่เป็นแหล่งหล่อหลอมให้ทุกคนลืมความเป็นคนเสีย แต่ให้ความสำคัญและปลูกฝังไปที่ความสัมพันธ์นั้นหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เน้นให้ทุกคนให้ความสำคัญมุ่งไปที่หน้ากากที่ทุกคนสวมใส่ ในที่สุดมนุษย์ทุกคนก็กลายเป็นเพียงคำร้องเรียกในเส้นใยแห่งความสัมพันธ์นั้น ก็คือเรียกตามหน้ากากที่แสดงนั้นนั่นเอง เช่น ลูก พ่อแม่ ญาติ เด็ก เพื่อน คนรัก ครู นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง นักการศาสนา นายจ้าง ลูกจ้าง นักธุรกิจ โสเภณี ตำรวจ ทหาร ฯลฯ เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในสังคมโลกไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนา ล้วนแล้วแต่มีต้นตออยู่ที่นี่ทั้งนั้น ก็เพราะอัตตาตัวนี้ได้ทำหน้าที่ผ่านความสัมพันธ์ที่สังคมปลูกฝังนี้ เราจึงไม่เข้าใจได้เลยว่า เหตุใดผู้คนจึงได้แสดงความโหดร้าย โหดเหี้ยม ทำร้าย และทำลายกันและกันได้ ก็เพราะอัตตานี้ไม่ได้ทำร้ายคนๆ นั้น แต่ที่มีการทำร้ายใครๆ ทั้งหลายได้ เพราะเขาทำร้ายและทำลายเส้นสัมพันธ์นี้ให้สิ้นไปต่างหาก เช่น นักการเมืองเอาเปรียบประชาชน เขารู้สึกตัวเขาเองคือ นักการเมือง และมองผู้อื่นเป็นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ประชาชน เขากำลังครอบครองเส้นสายสัมพันธ์นั้นอยู่ อัตตาแสดงอำนาจผ่านเส้นสายสัมพันธ์นั้นอยู่ นักธุรกิจทำร้ายนักธุรกิจด้วยกันเอง นายจ้างทำร้ายลูกจ้าง สามีทำร้ายภรรยา ทหารทำร้ายประชาชน ตัวตนที่มองเห็นออกไปเห็นเพียงเส้นสายที่เรียกชื่อสัมพันธ์นั้นว่าเรามีอำนาจเหนือกว่า เรามีสิทธิที่จะทำลายเส้นสายสัมพันธ์นั้นได้ จึงไม่สงสัยที่นักการเมืองทั้งหลายพูดได้ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ทหารทำร้ายประชาชนได้ เพราะอัตตาที่แฝงอยู่ในคำว่าทหารนั้นแสดงอำนาจออกมาตามเส้นสัมพันธ์นั้นจึงสามารถทำร้ายเส้นสัมพันธ์นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่ากี่คนก็ตาม แต่ก็มีความหมายเพียงหนึ่งเดียวคือเส้นสัมพันธ์ของคำว่าประชาชนเท่านั้น ความเป็นคนจึงถูกหลงลืมลบหายไปจากสารระบบแห่งความรู้สึกของความเป็นคนด้วยกัน เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อย่างน่าสลดใจ

๓. กายลักษณะ


กายลักษณะ ก็คือกายที่ปรากฏภายนอก ปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ สรรพสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ เป็นกายที่ผ่านอายตนะทั้ง ๕ ส่วน คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เป็นกายในระดับกายภาพ คือ ระดับ Body or Manifestation กายระดับนี้มีความแตกต่างหลากหลาย ตามสิ่งที่ปรากฏออกมา ใครชอบสิ่งไหน เกลียดอะไร ก็แสดงออกกันไป


กายลักษณะและเส้นสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงกายลักษณะนี้ เรียกว่า นิรมาณกาย หน้ากากตัวละครที่ทุกคนสวมใส่นี้เป็นกายลักษณะ เป็นกายที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ บางคนติดอยู่กับกายภายนอกนี้อย่างไม่ลืมหู ลืมตา ไม่ว่าไปที่ไหน อยู่อย่างไร ก็เข้าใจว่ากายภายนอกนี้เป็นกายที่แท้จริง ไม่สามารถขจัดออกไปได้ เพราะกายภายนอกนี้ถูกสังคมปลูกฝังไว้เสียจนแน่นหนา เข้าไปสู่สถานที่ใดก็นำพากายภายนอกนี้ไปเสมอ นอกจากนั้นยังแสดงให้ผู้อื่นเห็นแต่กายลักษณะนี้อย่างเด่นชัด หากผู้ใดมองข้ามกายลักษณะนี้ไป อัตตาตัวตนที่แฝงอยู่ภายในจะแสดงอาการไม่พอใจออกมาให้เห็นทันที และพร้อมที่จะทำลายผู้นั้นได้ แรกเริ่มจะเริ่มตั้งปัญหาก่อนว่า “เราเป็นใคร มันเป็นใคร” ถ้าหากเห็นกายลักษณะของผู้นั้นเด่นกว่า ก็จะยินยอมให้ได้ แต่ถ้ากายลักษณะของผู้นั้นด้อยกว่า ก็จะหาวิธีทำให้คนนั้นได้รับรู้ว่า กายลักษณะของตนนั้นเป็นอย่างไร การไม่มองเห็นกายลักษณะของตนอยู่ในสายตานั้นมีจะได้รับบทเรียนอย่างไร มีผลเสียอย่างไร นี่คือผลลัพธ์ที่หน้ากากกระทำต่อหน้ากากด้วยกัน


ในครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล ท่านกาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นสหชาติเกิดวันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ภายหลังได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจากพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าทรงส่งท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วให้อาราธนากับเยือนกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อท่านเข้ามาบวช ท่านเห็นอัตตานั้นดิ้นรนแสดงอาการ เพราะในพระพุทธศาสนานั้นได้สอนให้ทุกคนวางความเป็นกายลักษณะนั้นเสีย ท่านรำพึงกับตนเองว่า “แต่ก่อนนั้นไม่ว่าจะไปไหนมีแต่คนรายลอบ ห้อมล้อม ชื่นชม สรรเสริญเยินยอ มีแต่คนเอาใจในฐานะอำมาตย์ผู้ใหญ่ ในฐานะคนสนิทของพระราชา ในฐานะผู้ทรงภูมิความรู้ ในฐานะสหชาติของพระพุทธเจ้า มาบัดนี้ไม่มีผู้ใดแสดงอาการอย่างนั้นกับเราเลย” กายลักษณะเหล่านั้นได้ฝังเข้าไปในความรู้สึกของท่าน ก็ในพระพุทธศาสนา กายลักษณะนั้นไม่มีผู้ใดมองเห็นอีก ไม่มีผู้ใดให้ความสำคัญอีก อัตตาจึงรับไม่ได้ ตราบเมื่อท่านได้เข้าถึงและผ่านพ้นกายลักษณะนี้เข้าไปเห็นกายที่ลึกอยู่อีกชั้นหนึ่ง จึงเห็นอัตตานั้นทำงานอย่างสุดกำลังของมัน


อีกตัวอย่าง มีศาสตราจารย์ที่ทรงภูมิความรู้ มีชื่อเสียงกระฉ่อนในสังคมคนหนึ่ง เข้าไปปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรม เขาได้พกเอากายลักษณะนี้ไปอย่างเต็มที่ สวมใส่หน้ากากศาสตราจารย์นั้นอย่างแนบเนียน แนบแน่น และเด่นชัด ไม่ว่าจะย่าง จะเดิน จะสนทนา จะนั่ง จะทานก็มีความรู้สึกเสมอว่า ตนเป็นศาสตราจารย์มาปฏิบัติธรรม พอเห็นใครต่อใครไม่สนใจตนก็เริ่มรู้สึกว่า เขาเหล่านั้นไม่ให้เกียรติตน ยิ่งสนทนากับพระวิปัสสนาจารย์ ก็รู้สึกว่า พระวิปัสสนาจารย์ท่านนี้พูดภาษาบาลีก็ไม่ถูกต้อง ไม่อ้างตำรา ไม่แสดงขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ไม่มีความรู้เอาเสียเลยจึงรู้สึกว่า ไม่คู่ควรต่อการจะมาเป็นสอนตน เมื่อหน้ากากแสดงออกอย่างชัดเจนเช่นนั้น พระอาจารย์จึงถามว่า ท่านเป็นใคร เขาไม่สามารถตอบได้ว่า ตนเองเป็นใครกัน การจะตอบที่ว่า เขาเป็นศาสตราจารย์นั้นช่างเป็นคำตอบที่น่าละอาย ไม่ใช่คำตอบที่พระอาจารย์ต้องการทราบแน่ นั่นเป็นคำถามและคำตอบของเด็กๆ ที่เห็นหน้ากากหรือตุ๊กตาแล้วถามว่า นั่นเป็นอะไร ไม่มีความหมายใดต่อการปฏิบัติธรรม จนในที่สุดเขาเริ่มวางกายลักษณะไว้ ผ่านเข้าไปถึงกายสภาวะ


อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการสอบปลายภาควิชาปรัชญา นักเรียนที่ลงเรียนในรายวิชานี้ต่างนั่งเตรียมพร้อมอยู่ที่ที่นั่งของตน ศาสตราจารย์ผู้ปราดเปรื่องได้ยกเก้าอี้ที่ตัวเองนั่งขึ้นวางไว้บนโต๊ะแล้วตั้งคำถามเพียงข้อเดียวเพื่อเป็นข้อสอบปลายภาคว่า จงใช้ความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนในเทอมนี้อ้างเหตุผลเพื่อพิสูจน์ว่าเก้าอี้ที่อยู่ตรงหน้านี้ไม่มีอยู่จริง นักศึกษาต่างก้มหน้าก้มตาตอบคำถามอย่างเอาจริงเอาจัง นักศึกษาบางคนเขียนคำตอบยาวถึง ๑๐ หน้ากระดาษ ใช้เวลาเขียนเป็นชั่วโมง เพื่ออ้างเหตุผลพิสูจน์ว่าเก้าอี้ที่ตนนั่งอยู่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่มีนักศึกษาอยู่คนหนึ่งใช้เวลาเพียง ๓๐ วินาทีในการตอบข้อสอบข้อนี้ แล้วก็ลุกออกจากห้องสอบไปเป็นคนแรก หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปเป็นวันที่ประกาศผลการสอบ ผลสอบที่ออกมานั้นปรากฏว่านักศึกษาที่ใช้เวลาในการตอบข้อสอบไม่ถึง ๑ นาที เป็นคนเดียวในชั้นที่ได้เกรด A ในรายวิชานี้ ทำให้ทุกคนสงสัยว่าทำไมเขาถึงได้ A ในรายวิชานี้ เขาตอบคำถามเพียงแค่ ๒ คำ คือ เก้าอี้คืออะไร “What's chair?” คำตอบของนักศึกษาคนนี้ก็เหมือนกับคำถามของพระวิปัสสนาจารย์ที่ถามศาสตราจารย์คนนั้นว่า “ท่านเป็นใคร” “Who are you?”

๒. กายสภาวะ


สภาวะแห่งความรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่า คน มนุษย์ หรือสัตว์ กลุ่มก้อนแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ (สัมโภคกาย) เมื่อถอดหน้ากากออกแล้ว ก็จะเหลือแต่ความเปลือยเปล่า เหลือแต่สภาวะที่เรียกว่า คน มนุษย์ หรือสัตว์ เหลือแต่ความอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่ติดอยู่กับความเป็นคนหรือสัตว์นั้น เหลือแต่สภาวะก้อนแห่งขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก้อนแห่งสภาวะนี้ทำหน้าที่ของมันจนกลายเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาขึ้นมาได้ กายสภาวะนี้ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากนั้น ผู้ใดที่เข้าถึง เข้าใจ และเห็นกายสภาวะนี้ได้ ก็สามารถล่วงพ้นเขตอำนาจของเส้นสายสัมพันธ์ที่อัตตาแสดงผ่านได้ แต่กระนั้นอัตตาก็ได้วางกับดักไว้อีกชั้นหนึ่งเป็นเส้นสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงขันธ์ ๕ นั้นไว้ อัตตาก็ทำงานผ่านเส้นสายสัมพันธ์ที่เป็นความรู้สึกนึกคิดว่า มีอยู่ เป็นอยู่ ดำรงอยู่ เพียงเท่านี้ก็ยังรักษาความเป็นเรา (เอตํ มม) ความเป็นของของเรา (เอโสหมสฺมิ) และความเป็นตัวเป็นตนของเรา (เอโส เม อตฺตา) เป็นกับดักที่ละเอียดอ่อนมาก เป็นกรงขังที่แยบยลมาก เป็นตาข่ายที่ถี่มาก


จึงไม่แปลกเลยที่นักปรัชญาตะวันตกคนสำคัญ ได้แก่ เดการ์ดส์ (Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) ถึงได้ทิ้งวลีทองไว้ให้ชนชาวตะวันตกทั้งหลายว่า “I Think, Therefore I am” ก็เพราะเราคิดได้ ฉะนั้นจึงมีเราอยู่ เพราะเราคิดอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น ตัวตนเราไม่ได้หายไปไหน นี่จึงกลายเป็นกรงขังชาวตะวันตกทั้งหมด ชาวตะวันตกทั้งหลายถูกวลีนี้หล่อหลอมให้เข้าใจอย่างนั้นจนไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ เดการ์ดส์เข้าถึงกายสภาวะแล้ว และเห็นกายสภาวะนี้ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน มันเป็นเหมือนมรดกแห่งพระเจ้าฉะนั้น ใครก็ตามที่เห็นกายสภาวะนี้แทบจะกล่าวได้ว่า เห็นพระเจ้าแล้ว เข้าถึงพระเจ้าแล้ว ก็เพราะเขาเห็นความเป็นตัวตนที่อยู่ข้างใน ตัวตนนี้ทำหน้าที่ผ่านความคิด การปรุงแต่ง อารมณ์ ความรู้สึกนั่นเอง นี่เป็นเพียงกายสภาวะหรือกายภายใน เมื่อเห็นกายสภาวะนี้อยู่ ผู้ปฏิบัติต้องไม่เข้าไปยึด ไม่ต่อต้าน ไม่ขัดขืน และไม่ปล่อยไปตามความคิดและอารมณ์นั้นๆ ใช้สติดูกายสภาวะนี้ไว้


๓. กายภูตะ


กายธรรมหรือธรรมกายเป็นกายแห่งสัจธรรม เป็นการสลายเส้นสายทั้งมวลที่ร้อยรัดให้กายสภาวะเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมาให้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อเส้นสายที่ร้อยรัดขันธ์นี้ถูกสลายไป ก็จะเห็นกายภูตะซึ่งไม่หลงเหลืออะไรที่อัตตาจะเข้าไปยึดถือได้อีก เป็นเพียงความว่าง เป็นเพียงอาการที่แสดงออกเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อยู่ภายในนั้น เป็นความสงบนิ่ง เป็นยถาภูตญาณทัสสนะ คือการเห็นแจ้งซึ่งความเป็นเช่นนั้นด้วยปัญญาญาณ ความเป็นเช่นนั้นที่ว่านี้ก็คือ ความว่างนั่นเอง การผ่านทะลุกายสภาวะที่เป็นขันธ์ภายใน ก็จะลุถึงกายภูตะ อันเป็นความว่างที่ไร้อะไรเข้าไปร้อยรัดได้ ก็เพราะไม่มีอะไรเหลือให้อัตตาเข้าไปยึดถือ ไม่เหลืออะไรให้อัตตาแสดงออกมาได้ อัตตาก็สูญสลายไปในที่สุด


กายภูตะนี้แลที่เป็นกายแห่งพุทธภาวะ ได้แก่ กายภาวะแห่งความรู้แจ้ง กายที่อยู่เบื้องลึกแห่งสรรพภาวะ ทั้งในสัตว์ บุคคล และในสรรพสิ่ง สรรพสิ่งนั้นประกอบไปด้วยกายลักษณะ กายสภาวะ และกายภาวะอยู่ภายใน เพียงแต่เพราะความจำกัดด้วยปัญญาที่จะเข้าถึงภายในที่สุดเท่านั้น ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นพุทธภาวะนี้ได้ โดยธรรมชาติแล้ว อัตตานั้นไม่สามารถมองเข้าไปภายในตัวของมันเองได้ มันมีปกติมองออกข้างนอกเสมอ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจึงเห็นได้แต่กายลักษณะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นกายที่ปรากฏอยู่ภายนอกนั่นเอง เป็นกายที่ฉาบทาอยู่ที่พื้นผิวของสรรพสิ่งให้แสดงคุณลักษณะของสิ่งนั้น ๆ ว่า สวยงาม น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ หรือน่ารักเกียจ ไม่สวยงาม อัปลักษณ์ น่าขยะแขยง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนทั้งหลายจึงมีปกติมองเห็นความผิดปกติที่ปรากฏอยู่ที่กายลักษณะของผู้อื่นเสมอ จนกลายเป็นกลอนเชิงล้อเลียนว่า
โทษคนอื่นมองเห็นเป็นภูเขา
โทษของเรามองเห็นเป็นเส้นขน
ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเหลือจะทน
ตดของตนทนเหม็นไม่เป็นไร


กายแห่งพุทธะนี้เปรียบเหมือนน้ำ ส่วนกายลักษณะและกายสภาวะนั้นเปรียบเหมือนน้ำแข็ง เหตุที่กายลักษณะและกายสภาวะยังเป็นน้ำแข็งก็เพราะเป็นกายที่ยังไม่ถูกอบ รม เผา ให้น้ำแข็งนั้นละลายให้กลายเป็นน้ำ มีแต่ต้องทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งจึงจะละลายได้ น้ำแข็งจึงจะกลายเป็นน้ำ ในที่นี้สามารถใช้กระบวนการละลายน้ำแข็งได้ ๒ ระบบ แต่ละระบบนั้นมีผลได้น้ำสะอาดยิ่งกว่ากัน ระบบที่หนึ่ง คือใช้ความอบอุ่นแห่งความรัก ความรักสามารถละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำได้ ความรักทำให้เข้าใจผู้อื่น ความรักทำให้ข้ามพ้นกายลักษณะเข้าไปได้ ความรักสามารถเกิดบรรยากาศที่เรียกว่า มีน้ำใจไมตรี เป็นความอบอุ่น เมื่อสามารถละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำได้แล้ว ทีนี้ต้องทำให้น้ำนั้นเป็นน้ำที่สะอาด บริสุทธิ์ด้วยระบบที่สอง คือ ใช้สติเป็นธรรมเครื่องกลั่นน้ำให้สะอาด สติสามารถเห็นองค์ประกอบของน้ำที่เป็นไฮโดรเจน สองอะตอม และออกซิเจน หนึ่งอะตอมได้ (H2O) สติทำให้ข้ามพ้นกายสภาวะนี้เข้าไปถึงกายพุทธะ เป็นกายที่อยู่ลึกสุด ต้องอาศัยสติเท่านั้นจึงจะสามารถเห็นได้ เพราะสติเป็นธรรมชาติมองเข้าไปข้างใน มองให้เห็นธรรมชาติที่แท้ของสรรพสิ่ง มองด้วยญาณทัศนะ

๔. กระบวนการเปลี่ยนภาวะ


ให้พิจารณาลักษณะของการกลั่นน้ำมัน น้ำมันนั้นแต่เดิมเป็นคุณลักษณะที่มีศักยภาพในตัวของมันเอง แต่ยังคงเป็นน้ำมันดิบที่นำไปทำประโยชน์ได้ไม่มาก แต่เมื่อใดนำน้ำมันเข้าสู่เตากลั่นน้ำมันที่มีความร้อนขององศาที่เสถียรเป็นเวลานานเท่าใด คุณภาพของน้ำมันก็จะเปลี่ยนแปรสภาพจากน้ำมันเตาเป็นน้ำมันก๊าซ เพิ่มองศาขึ้นไปอีก ก็จะได้น้ำมันอีกลักษณะหนึ่ง คือน้ำมันดีเซล เพิ่มองศาความร้อนขึ้นไปอีก น้ำมันก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นเบนซิน ถ้าเพิ่มมากขึ้นไปอีก ก็จะกลายเป็นน้ำมันของเครื่องบิน


เช่นเดียวกันกับการกลั่นน้ำให้เป็นน้ำสะอาดที่สุด ก็จะได้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นจะต้องรักษาอุณหภูมิแห่งสติให้คงที่ เมื่อความร้อนคงที่ ความร้อนก็จะกลายเป็นไฟขึ้นมาได้ ขอเพียงให้รักษาความร้อนนั้นไว้ให้ได้จังหวะ รอการเปลี่ยนแปลงให้ไฟปรากฏ ด้วยเหตุนี้ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายก็พึงรักษาตบะนั้นให้ต่อเนื่อง รักษาสตินั้นไว้ให้ต่อเนื่อง ยาวนาน รอกาลแห่งการเปลี่ยนแปลงทางจิตให้ปรากฏขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางจิตนี้ก็คือปัญญาที่จะเห็นแจ้งนั่นเอง เป็นไฟอย่างหนึ่งที่จะลุกโพลงขึ้นมาเมื่อสมาธิได้ที่ ดังนั้น เมื่อเห็นกายภูตะนี้แล้วก็พึงรักษาสภาวะนี้ไว้ให้ยาวนานจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง


วิธีการที่จะผ่านจากกายลักษณะเข้าไปก็ด้วยการกำหนดลมหายใจสั้นยาว ความสั้นยาวของลมหายใจนั้นเป็นกายลักษณะที่รักษาหน้ากากเอาไว้ เมื่อสังเกตเฝ้าดูลมหายใจ ความสงบสุขก็จะเกิดขึ้น เมื่อเฝ้ามองกายที่ ๑ กายที่ ๒ ก็จะเกิดขึ้น จนกระทั่งถึงระดับกำหนดรู้ลมหายใจบางเบา ลมหายใจที่บางเบานี้อยู่ในขั้นของกายสภาวะ เป็นกายแห่งความสงบ เป็นกายแห่งความสุข หรือจะเรียกว่า สัมโภคกาย ก็ตามเถิด ให้เฝ้าสังเกตกายที่ ๒ ต่อไป กายที่ ๓ ย่อมปรากฏ คือกายแห่งความจริง กายแห่งสัจธรรม กายแห่งสามัญลักษณะ ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา กายนี้เรียกว่า กายภูตะ หรือจะเรียกว่า ธรรมกายก็ตามเถิด เมื่อเข้าถึงจุดนี้ได้แล้วพึงรักษาสภาวะแห่งความว่างนี้ให้ยาวนานจนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความสงบระงับกายระดับที่ ๓ นี้ เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาญาณ ความรู้แจ้งที่ไม่กลับกลาย การเห็นแจ้งซึ่งสัจธรรมทั้งหลายทั้งมวล สัจธรรมที่มีแต่ความว่างเท่านั้น


ไม่ว่ากายลักษณะ อันได้แก่หน้ากากทั้งหลาย เส้นสัมพันธ์ของโลก ไม่ว่ากายสภาวะ ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด ความสงบสุข และหน้าที่เส้นสายสัมพันธ์ในขันธ์ทั้งหลาย ไม่ว่ากายภูตะ ได้แก่ สัจธรรม ความจริงแห่งขันธ์ ความว่างที่ดำรงอยู่อย่างนั้น ความเคลื่อนไหวแห่งธรรมชาติ ไม่มีอะไรให้ต้องเข้าไปยึดถือ ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นห่วงกังวล ไม่มีอะไรที่ต้องลุ่มหลง พระอริยะทั้งหลายจึงได้สละหน้ากาก ไม่ว่าจะหน้ากากใด ใด สละเส้นสัมพันธ์ที่ผูกโยงให้ยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ทั้งหลาย ตัดขาดเสียซึ่งอวิชชาที่ห่อหุ้มในกายทั้ง ๓ พระอริยะทั้งหลายเป็นน้ำบริสุทธิ์สะอาดสูงสุด เป็นน้ำที่เหมาะสำหรับทุกคนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในโลกทุกสิ่ง พึงพยายามใช้ความรักละลายน้ำแข็ง และใช้สติกลั่นน้ำให้สะอาดบริสุทธิ์เถิด


















วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พุทธคามินีปฏิปทา

พุทธคามินีปฏิปทา




๑. ความเบื้องต้น

การเดินทางไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ของคณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ ๒๕ มกราคม – ๖ กุมภาพันธ์ โดยมีพระครูธีรสารปริยัติคุณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีให้เป็นประธานในการเดินทางและมีพระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ (สมณศักดิ์ตอนนี้คือ พระเมธาวินัยรส) รักษาการคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เดินทางไปตลอดเส้นทาง นับเป็นความสำเร็จตามโครงการกราบนมัสการสังเวชนียสถานและสัมมนาวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินเดียของบัณฑิตวิทยาลัยด้วยดี การจัดโครงการในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดที่เต็มรูปแบบของการเดินทางไปศึกษาต่างประเทศ เนื่องจากมีทั้งผู้เดินทางจำนวนมากและใช้ระยะเวลาการเดินทางที่มากถึง ๑๒ วัน ด้วย จึงต้องเตรียมความพร้อมหลายเดือน


โครงการนี้จะสำเร็จลงไม่ได้ถ้าหากไม่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่เห็นความสำคัญของการเดินทางไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานตามโครงการของบัณฑิตวิทยาลัยที่เสนออนุมัติ นอกจากนั้นยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนงบประมาณให้กับบัณฑิตวิทยาลัย เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาจารย์อำนวย สุวรรณคีรี คณะกรรมการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รัฐสภา คุณนาที รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีนักศึกษาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา และบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ สำหรับผู้นำผู้ที่รับภาระธุระในการนำพาคณะของบัณฑิตวิทยาลัยไปตามจุดหมายต่าง ๆ จนครบทุกแห่งก็คือ NC Holidaytours โดยมีคุณสุจินต์ อ่อนหนู ผู้จัดการทั่วไป ดำเนินการไปด้วยตนเองตลอดเส้นทาง


เส้นทางในการไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา มี ดังนี้ พุทธคยา บ้านนางสุชาดามหาอุบาสิกา ราชคฤห์ พระคันธกุฎี-เขาคิชฌกูฏ วัดเวฬุวัน มหาวิทยาลัยนาลันทา สารนาถ ลุมพินี กุสินารา สาวัตถี พาราณสี แม่น้ำคงคา อจันต้า-เอลโลรา สถูปสาญจี วัดพระพิฆเนศ ประตูชัยที่มุมไบ สัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัยพาราณสี (BHU) โดยมี Prof. Kamal Sheel คณบดีคณะศิลปะศาสตร์ เป็นผู้ต้อนรับ และมหาวิทยาลัย ดร.บาบาซาเฮบ เอมเบดก้า มาราธวาด (Dr.Babasaheb Ambedkar Marathwada University) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า มหาวิทยาลัยออรังกาบาด โดยมี Prof. Dr.Prashant B. Pagare, คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และ Dr. Chetana Pralhad Sonkanble เป็นผู้ต้อนรับ มีผู้ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ทั้งสิ้น ๑๐๗ รูป/คน ตามรายชื่อที่แนบไว้ภาคผนวกท้ายเล่ม


ความสำเร็จทุกประการ พร้อมกับบุญกุศลที่ทุกคนจาริกไปกับคณะในครั้งนี้ได้บำเพ็ญตลอดเส้นทาง ขอแผ่ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย แผ่ให้กับเทวดา มาร พรหม ขอให้จงได้รับส่วนแห่งบุญที่ทุกคนได้บำเพ็ญในกาลครั้งนี้ ในนามของผู้ประสานงานดำเนินการโครงการได้เห็นความปีติอิ่มใจที่ทุกคนผู้ได้เดินตามรอยพระบาทพระพุทธองค์ ได้กราบลงแทบพื้นแผ่นดินที่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายได้เดินทางไปเผยแผ่ธรรม ได้เห็นทุกคนมีจิตใจที่งดงามบำเพ็ญบุญกุศล ก็ถือเอาเป็นกำลังใจให้ได้มุ่งมั่นกระทำคุณงามความดี นำพาทุกคนไปสู่เส้นทางธรรมอย่างไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะพ้นจากสังสารวัฏนี้ต่อไป

 
๒. การเดินทางที่แท้
นิยามของชีวิตข้อหนึ่งมีว่า “ชีวิต คือการเดินทาง” ผู้ให้นิยามไว้คงมองเห็นแง่มุมของการเดินทางอย่างไม่หยุดหย่อนของชีวิตนี้ เริ่มนับตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นชีวิต ซึ่งเป็นการมองในแง่ของการใช้ชีวิตในชาติหนึ่ง หากมองกันอย่างนักการศาสนา ก็มองไปจนถึงข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่แต่เพียงชาติหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นนับชาติไม่ถ้วนที่ชีวิตต้องเดินไป จำได้ว่า คำตอบของภิกษุณีรูปหนึ่งเคยกราบทูลตอบพระพุทธเจ้าไว้ว่า “ชีวิตนี้มาจากไหน จะไปไหนก่อนนั้นไม่ทราบ แต่บัดนี้ทราบแล้ว” ชีวิตของมนุษย์มาจากไหน และจะไปไหนไม่อาจทราบได้จริง ๆ ผู้คนทั้งหลายดิ้นรนเดินทางไปจากความไม่มีอะไรมา และก็ไม่มีอะไรไปเช่นเดิม เป็นอย่างนี้แทบทุกคนบนโลก ที่น่าแปลกก็คือ มนุษย์ที่เดินทางไปสู่ความไม่มีอะไรนั้น กลับแสวงหาและยึดเหนี่ยวสมบัติบนพื้นโลกนี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตน พยายามแก่งแย่ง แข่งขัน ปากกัด ตีนถีบ ทำร้ายและทำลายกันและกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ดุจดังจิ้งหรีดในกระบุงที่เขาขังไว้รอวันเวลาทอดกรอบ ต่างก็ใช้เท้าเหยียบย่ำ ดีดกันไปมาไม่มีใครยอมใคร สุดท้ายก็จบลงที่กระทะทอดน้ำมัน ผู้คนก็เช่นกัน สุดท้ายก็ไปร่วมกันทำพิธีศพให้

การเดินทางในมุมมองของพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นการเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนของตนเอง เมื่อค้นหาตัวตนของตนเองพบก็จะพบว่า ที่แท้แล้ว ตัวตนที่ว่านั้นไม่มีอยู่เลย งานค้นหาต้นตอของชีวิตนั้นเป็นงานระดับชาติ หมายความว่า ต้องใช้ชีวิตทั้งชาติในการค้นหา เพราะตัวตนไม่อาจเผยตัวให้พบได้ง่าย ๆ เนื่องจากบุคคลทั้งหลายต่างพากันแสวงหาจากภายนอก ยิ่งในมุมมองของนักธุรกิจหรือการดำรงชีพของผู้คนแล้ว การค้นพบตัวตนของตนเอง หมายถึง การค้นพบว่า ตนเองนั้นชอบอะไร มีความถนัดอะไร มีความสามารถอะไร ถ้าใครพบไวก็สามารถสร้างชีวิตและสร้างครอบครัวได้ไว ถ้าใครพบช้าก็สร้างชีวิตและครอบครัวได้ช้า มิติแห่งการค้นหาชีวิตตามแนวของโลกกับของธรรมนั้นไปคนละเส้นทาง


พระพุทธเจ้าได้ใช้เวลาในการค้นหาตนเองมาเป็นเวลา ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป เป็นการแสวงหาตนเองมาเป็นเวลาอันยาวนานมาก ความยาวนานในที่นี้เป็นการนับออกมาให้เห็นเป็นจำนวนนับเท่านั้น แท้จริงแล้วชีวิตของทุกคนก็ไม่ได้น้อยไปกว่าเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาแสวงหาตัวตนของพระองค์หรอก เชื่อแน่ว่ามากกว่านั้น ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ในปัจฉิมยามหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ทรงค้นพบตัวตนของพระองค์แล้ว นับเป็นเวลาที่สิ้นสุดการเดินทางที่แท้จริง พระองค์ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า
อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการงฺคเวสนฺโต ทุกขา ชาติ ปุนปฺปุนํ,
คหการกทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ,
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา
แปลความได้ว่า


เมื่อเรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารอันเป็นอเนกชาติ แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างปลูกเรือน คือตัณหาผู้สร้างภพ การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป นี่แน่ะ นายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา (คือ ถึงนิพพาน)

พุทธอุทานนี้นับเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์อย่างยิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ก็อะไรเล่าเป็นตัวสร้างทางแห่งชีวิตนี้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้ชีวิตนี้ต้องเดินทางเป็นวงกลม ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด จนกลายเป็นความทุกข์ของขันธ์นี้ การเดินทางที่แท้ก็คือ การเดินทางเพื่อให้เข้าไปรู้จักนายช่างผู้สร้างเรือน คือ เบญจขันธ์นี้ต่างหาก เมื่อรู้แล้วก็ทำลายนายช่างนั้นเสีย อย่าได้ปล่อยให้นายช่างได้สร้างเรือนอีกต่อไป


๓. นายช่างผู้สร้างเรือน
นายช่างผู้สร้างเรือน คือ เบญจขันธ์นี้น้อยคนนักที่จะรู้จัก และทำลายเสียได้ เพราะนายช่างผู้สร้างเรือนหลังนี้ได้แฝงอยู่ในเบญจขันธ์นี้เรียบร้อยแล้ว ฝังตัวอยู่ในระดับ DNA ก็คือ ระดับอนุสัยเลยทีเดียว จึงยากที่จะพบเห็นได้โดยง่าย แม้จะมีใครพบเห็นแล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะรื้อถอนนายช่างให้ออกไปจากเบญจขันธ์ก็ไม่ใช่กระทำได้ง่ายเช่นกัน แต่ถึงอย่างไร ในนามของชาวพุทธที่แท้แล้ว แม้จะยากสักเพียงไหนก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำก็ต้องถูกนายช่างนี้สร้างเรือนให้และเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้นับชาติไม่ถ้วน


นายช่างนี้คือใคร ก็คือ นายช่างชื่อ ตัณหานี่เอง ถามว่า นายช่างตัณหานี้มาได้อย่างไร แล้วมาทำบทบาทหน้าที่อย่างไรจึงทำให้เกิดเรือนขึ้น ตอบว่า ตัณหานี้เกิดจากเวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์นี่เอง เมื่อมีสุขอันเกิดจากผัสสะ ตัณหาก็ทำงาน คือการอยากได้ อยากมี อยากเป็นทันที กามตัณหาและภาวะตัณหาก็ทำงาน พอมีความรู้สึกเป็นทุกข์อันเกิดจากผัสสะ ตัณหาก็ทำงาน คือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น วิภวตัณหาก็ทำงานทันที กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหานี้เองที่ทำให้เกิดเรือนขึ้น เพราะเมื่อใดที่มีตัณหา การเข้าไปยึดว่ามี ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเราก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการรับช่วงของอุปาทาน นั่นแหละภพชาติเกิดขึ้นแล้ว วงจรแห่งความทุกข์เกิดขึ้นด้วยเหตุฉะนี้


เมื่อย้อนดูสาเหตุขึ้นไปอีกว่า เพราะเหตุใดจึงมีผัสสะจนทำให้เกิดเวทนาอันเป็นที่มาของนายช่างได้ ก็พบว่า ก็เพราะอาศัยอายตนะทั้ง ๖ จึงทำให้เกิดมีผัสสะขึ้น แล้วอายตนะเล่ามาได้อย่างไร ก็พบว่า อายตนะมีมาได้ก็เพราะมีนามรูปนี่เอง เหตุใดนามรูปจึงมีมาได้ ก็เพราะมีวิญญาณ คือการรับรู้นั่นเอง แล้ววิญญาณเล่ามีมาได้อย่างไร ก็เพราะมีสังขาร ตัวปรุงแต่งนี่เอง แล้วเหตุใดสังขารจึงมีมาได้เล่า ก็เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้นั่นเอง ถามว่า เหตุใดอวิชชาจึงมีมาได้ ก็เพราะมีอาสวะ คือ ความเศร้าหมอง เหตุใดจึงมีความเศร้าหมองได้ ก็เพราะมีอวิชชานั่นแหละ ที่ว่ามีอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นความไม่รู้อย่างไร เป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ อันได้แก่ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ และไม่รู้หนทางนำไปสู่ความพ้นทุกข์

๔. ความสิ้นไปแห่งตัณหา
ชีวิตของมนุษย์ถูกตัณหานี้ผลักดันไป ผลักดันให้แสวงหาความสุข ความสุขที่ติดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ แสวงหาจนไม่หยุดหย่อน มีสิบ อยากได้ร้อย มีร้อย อยากได้พัน มีพันอยากได้หมื่น อยากได้แสน อยากได้ล้าน ชีวิตจบลงที่หลักหมื่นกันนับไม่ถ้วน มีบ้างที่จบหลักล้าน ความหวังทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้ เดินทางไปได้ ดำรงอยู่ได้อย่างอดทน ทั้งที่ไม่รู้ว่า การเดินทางนั้นมีจุดหมายเพื่ออะไร เพื่อแฟนสวย ๆ หล่อ ๆ เพื่อลูก เพื่อบ้าน เพื่อรถ เพื่อหน้าที่ การงาน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แล้วที่สุดก็เป็นชีวิตที่ว่างเปล่า ไร้ทางออกเช่นเดิม


แต่มนุษย์นั้นผู้มีตาอันมืดบอดจึงไม่สามารถเห็นได้ รู้ได้ เข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “จงมาดูเถิด (เอหิปัสสิกะ) และน้อมเข้ามาปฏิบัติ (โอปนยิกะ)” ดูให้เห็นในปัจจุบัน ดูเข้าไปภายใน เพียงแค่อยู่นิ่ง ๆ น้อมเข้ามาปฏิบัติ กล่าวคือ น้อมเข้ามามองดูด้วยสติและอุเบกขาก็จะเห็นชัด จึงเรียกการเห็นเช่นนี้ว่า เห็นแจ้ง หรือวิปัสสนา เป็นการเห็นตามความเป็นจริง หรือยถาภูตญาณทัศนะ นี่เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเพื่อถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา นี่เป็นการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา เป็นการเปิดตาภายในให้เห็นตามความเป็นจริง เป็นการให้ดวงตาแก่โลก เพื่อให้เห็นนายช่างคือตัณหา ตัณหาที่หมักหมมถมทับกันไปมาจนไม่อาจเป็นอะไรได้อีก


แท้จริงแล้ว ความเป็นพุทธะดำรงอยู่ภายใน ขอเพียงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และเบิกบาน ก็ชื่อว่า เป็นพุทธะ เข้าถึงความเป็นพุทธะ แต่ที่ไม่รู้ก็เพราะฝุ่นผงคือ ตัณหาที่ติดแน่นด้วยกาวคืออุปาทาน ได้เคลือบเป็นชั้น ๆ ทำอย่างไรจึงจะขจัดตัณหาให้สิ้นไปได้ ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น การจะขจัดอะไรก็ต้องขจัดที่สาเหตุของสิ่งนั้น เมื่อสาเหตุของสิ่งนั้นหมดไป ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดสิ่งที่ตามมาได้ ในที่นี้ตัณหานั้นมีสาเหตุมาจากเวทนา ก็ต้องดำเนินการที่เวทนาจึงจะทำให้ตัณหาสิ้นไป


จะทำอย่างไรกับเวทนาเล่า ! ประการแรกสุดก็ต้องหาเครื่องมือก่อน เครื่องมือที่จะดำเนินการกับเวทนาก็คือ สติและอุเบกขา สติจะเป็นธรรมเครื่องส่องให้เห็นเวทนาตามความเป็นจริง อุเบกขาจะเป็นธรรมไม่ให้เวทนาเป็นเชื้อให้เกิดตัณหาได้ พระพุทธเจ้าอุทานว่า “จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป” ก็เมื่ออุเบกขาธรรมประกอบในเวทนาแล้ว ไม่ให้เวทนานี้เป็นไปตามอำนาจของตัณหาอีก ตัณหานั้นเป็นสังขารธรรม คือธรรมปรุงแต่งเวทนาให้กลายเป็นตัณหา คือ ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เมื่อมีอุเบกขา ตัณหาก็ไม่สามารถทำงานได้ ขันธ์ทั้ง ๕ ก็เป็นเพียงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีสภาพตามความเป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเท่านั้น ผู้เห็นแจ้งเบญจขันธ์เช่นนี้ย่อมไม่ถูกตัณหาชักนำไปได้ ก็เพราะได้ตัดเสียซึ่งสาเหตุเบื้องต้น สาเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวล ซึ่งได้แก่ อวิชชา เมื่อวิชชา เกิด อวิชชาก็ดับไป กองแห่งทุกข์ก็ดับไปด้วย

๖. ความแปลกแต่จริง
เป็นความแปลกอย่างหนึ่งของขันธ์ทั้งหลายที่มันทำงานของมันเอง แล้วมันก็เข้าไปยึดตัวของมันเองเป็นเหมือนเครื่องปั่นไฟ ตัวมันปั่นไฟเองแล้วก็ภาคภูมิใจในไฟที่มันสว่างโดยที่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ผู้คนทั้งหลายในโลกแทนที่จะหันมามองหาต้นตอว่าทำไมจึงทำให้เกิดความโลภ โกรธและหลง แต่กลับมองออกไปภายนอกว่า ใครเป็นต้นเหตุแห่งความโลภ ความโกรธ และความหลง ดังนั้นคนจึงเห็นเงินทอง คนรวยเป็นต้นเหตุแห่งความโลภ ผู้หญิงสวย ความงามเป็นต้นเหตุแห่งราคะ คนมายั่วโมโห คำด่า คำสบประมาท การทำร้ายกันและกันเป็นสาเหตุแห่งความโกรธ คนปิดบังอำพรางเป็นสาเหตุแห่งความหลง เข้าใจผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ตั้งสมมติฐานผิด แล้วนำไปสู่การกระทำต่ออาการเหล่านั้นผิดเพี้ยนไป


แท้จริงแล้ว สิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งอาการทั้งมวลก็คือ อวิชชา ความไม่รู้แจ้งในขันธ์นี้นั่นเอง เมื่อไม่รู้แจ้งก็เป็นเหตุให้ขันธ์นี้กระทำอย่างสะเปะสะปะ นำไปสู่การผูกแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ทราบว่าที่แท้นั้นขันธ์นี้เป็นเช่นใดกันแน่ ขันธ์นี้เป็นกองแห่งทุกข์อย่างไร การจะสิ้นกองทุกข์แห่งขันธ์นี้ต้องทำกันอย่างไร


การได้เห็นตัณหา อุปาทาน ที่ผูกโยงขันธ์ทั้งหลายไว้ให้ยึดโยงกันไว้จนกลายเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เอาไว้ นับว่าเป็นการง่ายต่อการจะปฏิบัติต่ออัตตาได้ถูกต้อง อัตตานี้เกิดขึ้นเพราะการไม่รู้แจ้งในขันธ์ทั้งหลาย ยึดถือเอาขันธ์ทั้งหลายว่า มีอยู่ เป็นอยู่อย่างเที่ยงแท้ แน่นอนและเป็นที่สุดของชีวิต การไม่รู้แจ้งในขันธ์นี้เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะอวิชชามิใช่จะเปิดโอกาสให้สรรพสัตว์เห็นแจ้งในขันธ์ได้อย่างง่ายๆ แม้เพียงเรื่องง่ายๆ เช่น การไม่รู้ในสิ่งสมมติขึ้น เมื่อรู้ได้ด้วยการบอกกล่าว อบรมสั่งสอน ยังเป็นเรื่องยากที่บุคคลทั้งหลายจะจดจำและปฏิบัติตามสมมตินั้นได้อย่างถูกต้อง ขยับขึ้นไปอีก การที่จะเป็นคนคิดได้ รู้จักคิด รู้จักบาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ก็เป็นเรื่องยากสำหรับสรรพสัตว์ที่จะเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องพูดถึง ความยากในระดับที่สามนี้ที่ใครจะเข้าไปเห็นความเป็นอนัตตาแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมได้

๗. พุทธคามินีปฏิปทา
ทางปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นพุทธะ คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่า ทางสายกลาง ประกอบไปด้วยหลักธรรมสายกลางคือ มัชเฌนธรรมและหลักปฏิบัติสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา หลักธรรมสายกลางก็คือ ไตรลักษณ์ หลักปฏิบัติสายกลางก็คือ ไตรสิกขา พุทธคามินีปฏิปทานี้เปรียบเหมือนตัวยาวิเศษที่ผสมผสานตัวยาวิเศษทั้งหลายไว้ในยาเม็ดเดียว เมื่อถามว่า ตัวยาผสมอะไรบ้าง ก็สามารถบอกได้ แต่ไม่ได้สามารถใช้ทีละส่วนผสมได้ ต้องใช้ทั้งเม็ดเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น จึงเรียกว่า โอสถสมังคี หรือ มรรคสมังคี คือความถึงพร้อมแห่งยาที่ผสมกันได้ส่วน หรือความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง


ตัวยานี้ใช้ในขณะไหน ใช้ในขณะปฏิบัติสมาธิในอานาปานสติ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกาย การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิต มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิใด...การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกาย การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิต มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มาก เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิเหล่าไหนเล่า...เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ”(สํ.ม. ๑๙/๓๙๙-๔๐๐/๑๓๒๒-๑๓๒๖.) “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร คือ อานาปานสติ” (องฺ.เอก. ๒๐/๓๙-๔๐/๑๗๙-๑๘๐)


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญอานาปานสติแม้ชั่วการลัดนิ้วมือเดียว ภิกษุนี้เรากล่าวว่าอยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า จะป่วยกล่าวไปใยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติเล่า” (องฺ.เอก. ๒๐/๕๔-๕๕/๒๒๔)


อานาปานสติเป็นพุทธคามินีปฏิปทา เป็นทางที่จะทำให้เห็นแจ้งตัณหา มีวิธีอย่างไรเล่า! ก็มีวิธีอยู่ ๔ ส่วน ได้แก่ ส่วนของการสงบกาย สงบเวทนา สงบจิต และปล่อยวาง การสงบกายนั้นทำอย่างไร สงบกายก็คือ การมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก ยาว สั้น เป็นเพียงลมและก็สงบระงับเสีย สงบเวทนานั้นทำอย่างไร หายใจเข้า-ออกก็พิจารณาหยั่งเห็นด้วยสติในปีติ สุข ความรู้สึกและสงบระงับเสีย สงบจิตนั้นทำอย่างไร หายใจเข้า-ออกก็พิจารณาหยั่งเห็นด้วยสติในจิต ความปราโมทย์ ความตั้งมั่น และเตรียมจิตไว้ แล้วการปล่อยวางนั้นทำอย่างไร หายใจเข้า-ออกก็พิจารณาหยั่งเห็นด้วยสติในความไม่เที่ยงแห่งกาย เวทนา และจิต ถอนความยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา และจิต เป็นอิสระสิ้นเชิงจากสิ่งร้อยรัดยึดมั่นในกาย เวทนา และจิต จากนั้นก็ปล่อยวางไว้เช่นนั้น


อาศัยพลังแห่งความเพียรเครื่องเผากิเลส (อาตาปี) ความตื่นตัว (สติมา) และความระลึกรู้เสมอ (สัมปชาโน) ในการดำเนินตามพุทธคามินีปฏิปทาอย่างต่อเนื่อง การเดินทางที่แท้เริ่มแล้ว ชีวิตมีที่สิ้นสุดแล้ว นายช่างคือตัณหาไม่อาจสร้างเรือนได้อีกต่อไป การได้ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาธรรมด้วยพลังแห่งสมาธิจึงจะเห็นข้อต่อแห่งอัตตาที่ผูกขันธ์ทั้งหลาย เมื่อเห็นแจ้งข้อต่อคือ ตัณหาและอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่นเพราะความไม่รู้ที่ทำให้เกิดความอยากขึ้นอย่างสิ้นเชิง ก็ชื่อว่า กระบวนการแห่งธรรมที่ทำที่สุดแห่งทุกข์สิ้นแล้ว พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว ภพนี้เป็นภพสุดท้าย ชาติสิ้นแล้ว ขันธ์ที่เหลืออยู่มีไว้เพื่อบำเพ็ญและอุทิศตนเพื่อเผยแผ่ธรรมนี้ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย บริหารขันธ์นี้ให้เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง จนกว่าจะสิ้นขันธ์นี้ไปก็เท่านั้น