วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

แมลงภู่และภูเขา













โศลกที่สามสิบสาม "แมลงภู่และภูเขา"

ปรากฏการณ์ทางจิต
ขณะที่มีความสงบเย็น
ลมหายใจยังคงออกเข้าบางเบา
ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่
ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ
ลมหายใจกลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง
ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น
ก็ปรากฏภูเขาใหญ่สามลูกขึ้น
ภูเขากลายเป็นขาทั้งสองข้าง
อีกลูกหนึ่งเป็นลำตัวยึดโยงชนกัน
เกิดภาวะกดทับแทบจะระเบิดออก
ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

ผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาย่อมต้องเจอภาวะหนึ่งที่เรียกว่า อาการทางจิต หรือปรากฏการณ์ทางจิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแล้วแต่ฐานจิตของแต่ละคน จะมากจะน้อย จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ปรากฏการณ์นั้นย่อมเกิด เพราะนี่เป็นกระบวนการทางจิต ดุจดังการย่อยอาหารต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการทานอาหารเข้าไป บางคนเกิดมากจนถึงขั้นสั่นไปทั้งตัว บางคนเกิดน้อยเพียงแค่ขนลุกชูชัน บางคนน้ำตาไหลพราก บางคนเพียงแค่กระตุกนิดๆ บางคนก็น้ำตาขังบ่อ บางคนซาบซ่านไปทั่วทั้งตัว บางคนตัวเบาคล้ายจะลอยขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่ประสบการณ์ของใครๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่จะต้องตื่นเต้น ตื่นกลัว มุ่งหวังให้เกิด หรือไม่ต้องการให้เกิด

ภาษาที่เรียกกันในการปฏิบัติธรรมก็คือ อาการของปีติ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงอาการของปีติไว้ ๕ ประการ
๑)อาการขนลุกชัน หรือน้ำตาไหล เรียกว่า ขุททกาปีติ คือปีติเกิดเล็กน้อย
๒)อาการเสียวแปลบปลาบ รู้สึกเหมือนฟ้าแลบ รู้สึกเหมือนไฟฟ้าในตัวช๊อต เรียกว่า ขณิกาปีติ คือปีติเกิดเพียงชั่วขณะ
๓)อาการสั่นไหวไปทั้งตัว เกิดเป็นระยะแต่ต่อเนื่อง มีลักษณะเหมือนระลอกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง เรียกว่า โอกกันติกาปีติ คือปีติท่วมทับซู่ซ่าเป็นระยะๆ
๔)อาการตัวลอย โลดลอย ร่างกายเบาเหมือนล่องลอยไปได้ การหลุดปากอุทาน เรียกว่า อุพเพงคาปีติ คือปีติที่ทำให้ตัวลอย
๕)อาการที่ทั่วร่างเกิดความซาบซ่าน เอิบอาบ เบ่งบาน ยิ้มละไม เอิบอิ่มเปี่ยมไปทั่วร่าง เรียกว่าผรณาปีติ คือปีติที่ทำให้เอิบอิ่มแผ่ซ่าน


อาการเหล่านี้เป็นปกติของนักปฏิบัติธรรม แม้บางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ทันสังเกต แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหวังให้เกิดหรือไม่ให้เกิด เป็นอาการทางจิตที่พอมีความสงบแล้วก็จะเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นก็เท่านั้น เพียงแต่เข้าใจไว้อย่างหนึ่งว่า ปีติเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการบรรลุธรรมที่จะพึงเกิดขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ เพราะเมื่อปีติเกิดขึ้นการยกระดับจิตก็จะตามมา อาการเปลี่ยนแปลงทางจิตก็จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะแห่งความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบกายและสงบใจ ซึ่งเรียกเป็นภาษาเฉพาะ (technical term) ว่า “ปัสสัทธิ” เมื่อปีติและปัสสัทธิเกิดขึ้น พึงทราบได้ว่า เดินมาถูกทางแล้วและความเป็นสมาธิก็จะเกิดขึ้นตามมาเป็นกระบวนการลูกโซ่ เป็นกระบวนการที่เป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เป็นปกติของกระบวนการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม

โศลกว่า “ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่ ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ”

สิ่งสำคัญเมื่อเกิดอาการทางจิตที่เรียกว่า ปีติขึ้นมา ก็ไม่ต้องตกใจ หรือเกิดอาการหลงใหล ยึดติด หรือหยุดยั้งการบำเพ็ญเพียรภาวนา ให้กำหนดรู้ทุกอาการที่เกิดขึ้น ไม่เกิดอาการพึงพอใจหรืออาการตกใจ กำหนดรู้ต่อไป การกำหนดรู้ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากลมหายใจที่สั้นยาวเข้าออก แต่เป็นการกำหนดรู้ปีติและสุขที่เกิดขึ้น หายใจเข้าออกเป็นปกติ มีสติอยู่ที่อาการนั้นๆ หายใจเข้า หายใจออก ไม่กำหนดลมหายใจแต่กำหนดปีติและสุขหายใจเข้า ออก จนในที่สุดอาการปีติและสุขก็สงบระงับไปตามกฎธรรมชาติที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ความสำคัญอยู่ที่เมื่อปีติเกิดแล้วอย่าได้เลือก อย่าได้ปล่อยให้ใจเข้าไปยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัว อย่าได้เข้าหลงอยู่ภายในความสำเร็จที่เป็นอาการเช่นนี้ เพราะปีติเป็นเพียงอาการด้านหนึ่งของทวิภาวะเท่านั้น ก็คือมีปีติก็มีไม่ปีติ มีสุขก็มีไม่มีสุขเป็นของคู่กันคนละด้านของเหรียญ ความเป็นคุณและโทษของปีติมีอยู่ตลอด เมื่อใดที่ปล่อยใจไม่มีสติก็จะหลงไปกับคุณของปีติ คุณของปีติทำให้ผู้ปฏิบัติพึงพอใจในอาการเช่นนั้น ดุจดังการเห็นของสวยๆ งามๆ ก็พึงพอใจ อาการพึงพอใจในของสวยงามก็กลายเป็นตัณหาทันที แสดงว่าปล่อยให้อาการที่เกิดขึ้นผ่านเข้าไปสู่ระดับที่ยากต่อการถอนมากขึ้น แนวทางปฏิบัติที่มีต่ออาการของปีติก็คือ เข้าไปกำหนดในตัวของปีติเองเห็นเป็นเพียงจิตสังขาร เห็นเป็นเพียงอาการที่เป็นสิ่งที่ประกอบเข้ากับจิตเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นทั้งปีติและสุขที่เกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า

“จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามิ
จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารจักหายใจเข้า
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก”

ไม่มีอะไรๆ ให้ต้องเข้าไปยึดถือว่าเป็นเรา ว่าของเรา ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เพื่อให้เข้าถึงระดับที่สี่ ก็คือ การเข้าไปพิจารณากำหนดเห็นความสงบระงับไปของจิตสังขารนี้เท่านั้น ปีติและสุขที่เกิดขึ้นสื่อเชื่อมกันระหว่างกายกับจิต เมื่อจิตมีอาการปีติสุข กายก็แสดงอาการออกมาตามลักษณะ ในขั้นนี้คือการสัมพันธ์กันระหว่างอาการทางกายและจิต ปีติและสุขเกิดขึ้นกับจิต กายก็รับรู้แสดงอาการเป็น ๕ ลักษณะตามที่ได้แสดงไว้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดต่อไปหยั่งเข้าไปในอาการนั้น (สิกขติ) เพื่อให้เห็นถึงความสงบระงับหรือการสิ้นไปของปีติและสุขที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ดังพุทธพจน์ว่า

ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามิ
ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”



การพิจารณา ๔ ระดับนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่เข้าใจความลึกใน ๔ ระดับนี้ ก็ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากความมีอยู่ เป็นอยู่ได้เลย เพราะในระดับที่ ๑ ถึง ๓ นี้ เป็นระดับของความมีอยู่ เป็นอยู่ทั้งสิ้น ทำให้จิตเข้าไปยึดเอาได้ง่าย จะเห็นได้ว่า ธรรมในพระพุทธศาสนาที่เป็นระดับของการปฏิบัตินั้นจะมี ๔ มิติเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ สติปัฏฐาน หรืออริยสัจ

มิติที่ ๑ เป็นมิติทางกายภาพ
มิติที่ ๒ เป็นมิติทางความคิด
มิติที่ ๓ เป็นมิติทางอารมณ์
มิติที่ ๔ เป็นมิติแห่งความว่าง


เทียบเคียงกับอานาปานสติในระยะของเวทนาที่เกิดขึ้นก็จะพบว่า เข้าได้กับระดับทั้ง ๔ นี้ ระดับทั้ง ๔ นี้มีความลึกลงไปในแต่ละชั้น และในแต่ละชั้นนั้นก็ต้องมีสติกำหนดรู้เข้าไปให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง
ระดับที่ ๑ เป็นระดับที่ปีติท่วมทับจิตพรั่งพรูจนจิตแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๒ เป็นระดับที่ปีติแปรเปลี่ยนไปเป็นความสุขแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๓ เป็นระดับที่ทั้งปีติและสุขอยู่ด้วยกันกลายเป็นความดื่มด่ำ
ระดับที่ ๔ ระดับที่ปีติและสุขสงบระงับไป


พึงทราบว่า ในแต่ละระดับที่แสดงไว้นี้เป็นนามธรรมที่กำหนดรู้ได้ด้วยสติที่คมชัดเท่านั้น ถ้าหากสติไม่คมชัดไม่สามารถแยกแยะและเข้าไปกำหนดรู้ได้เลย เพราะตัวปีติและสุขจะกลายเป็นตัวเราไปทันที กลายเป็นเรามีความสุข ความสุขมีในเรา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จบ เป็นการพลาดจากทางเข้าที่เหมาะสมทันที

โศลกว่า “ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น ก็ปรากฏภูเขาใหญ่สามลูกขึ้น”

ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตามที่อยู่ในขั้นตอนของการปฏิบัติ วันหนึ่งอาจเบิกบานยิ้มแย้ม ขนลุก น้ำตาไหล หรือวันหนึ่งอาจเปลี่ยนเป็นความหนักหน่วงแห่งภูเขาท่วมทับ หรือกระแสน้ำถาโถม ทุกภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ในวิสัยที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพียงแต่ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางจิตขึ้นเช่นนี้จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพราะอาการเหล่านั้นจะรุนแรงท่วมทับตนเองจนแทบหายใจไม่ออกก็มี แสดงออกมาทางกายภาพทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดอาการขึ้น บางครั้งต้องอาศัยครูอาจารย์ช่วยแก้ไข ผ่อนคลายให้ บางครั้งก็แก้ไขได้ด้วยตนเอง

ผู้ปฏิบัติพึงต้องศึกษาให้ทราบถึงเส้นทางที่จิตเดินไปเสียก่อน ดุจดังการจะเดินทางไปตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งจะต้องสำรวจก่อนว่า จะไปทางไหน เจอกับอะไร เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาอย่างไร มีหลุม มีบ่ออย่างไร ทางโค้ง ทางตรงอย่างไร เหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่ต้องศึกษา ที่เรียกว่า ปริยัตินั่นเอง ศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่า เมื่อเดินทางไปแล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะได้ไม่ตกใจ ไม่พลัดหลงจากทางที่จะไป ไม่ว่าจะพบกับแรงปะทะทั้งจากสภาพภายนอกและสภาพภายในอย่างไร ก็มีความเข้าใจในสภาวะนั้น รู้วิธีที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้


ภูเขาใหญ่ที่ท่วมทับร่างกายอัดแน่นเข้ามาทั้ง ๓ ทาง มาจากด้านข้างทั้งสองข้าง มาจากด้านบนอีก ทับกันอัดแน่นเข้าๆ ทุกขณะจนเกิดอาการกายจะระเบิด ขั้นนี้เป็นเพียงอาการที่จิตเกิดอาการทางสภาวะแห่งการปฏิบัติแล้วสื่อออกมาทางกายภาพให้อึดอัดขัดข้อง เพียงแต่เข้าไปกำหนดในอาการนั้นว่า ไม่ใช่อะไรอื่นใด เป็นเพียงเวทนาที่ปรากฏกับจิตเท่านั้น เวทนาก็ไม่เที่ยง กายก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดขั้นจากความไม่เที่ยงแท้ทั้งนั้นมันจะดำรงอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร ก็ทุกอย่างเป็นแต่เพียงความไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พิจารณาเห็นถึงความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป หายใจเข้า หายใจออก

การยกระดับจิตจะเกิดขึ้นในระยะนี้ เหมือนดังการเปลี่ยนแปลงของความรู้ไปสู่ทักษะ เป็นเรื่องที่บอกยากว่า เปลี่ยนเมื่อไหร่ เปลี่ยนอย่างไร แต่รวมกันเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความรู้ก็เป็นระดับหนึ่งขององค์ประกอบทางจิต แต่เป็นระดับของจินตามยปัญญา แต่ทักษะนั้นเป็นการยกระดับจากจินตามยปัญญาไปสู่ระดับภาวนามยปัญญา เป็นการรู้แจ้งอันเกิดจากการเข้าไปพิจารณาในความรู้นั่นเอง

คำว่า “พิจารณา” คำนี้ต้องระวัง อย่าในไปปนกับคำภาษาไทยที่ใช้กันในความหมายทั่วไป เพราะไม่ตรงกัน ความหมายในภาษาไทยนั้นเป็นคำระดับที่ ๒ เท่านั้นเอง แต่พิจารณาในสภาวธรรมนี้เป็นระดับ “สิกขติ” เป็นระดับที่ ๔ เป็นระดับตัวสติที่เห็นแจ้ง กำหนดรู้ เจาะหยั่งลงไปในอาการทางจิตที่ปรากฏนั้น เพียงแต่ยืมคำมาใช้ให้เข้าใจง่ายเท่านั้น การกำหนดรู้เจาะหยั่งลงไปในอาการนั้นทำให้ยกระดับจิตขึ้นไปสู่มิติที่ ๔ ได้ เป็นภาวนามยปัญญา

โศลกว่า “ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป”

ในระดับมิติทั้ง ๔ นี้ ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพราะมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางจิตได้ง่ายขึ้น เพราะในระดับที่ ๑ ถึงมิติที่ ๓ นั้นเป็นระดับที่มีทวิภาวะซ่อนอยู่ภายในนั้น เมื่อใดที่ยังเป็นระดับทวิภาวะ เมื่อนั้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎแกว่งไปมาตามทฤษฎีลูกตุ้มนาฬิกา เพราะความเป็นทวิภาวะนั้นมีสนามแม่เหล็กแห่งตัณหาซ่อนอยู่ภายในนั้น สนามแม่เหล็กนี้แหละที่ผลักชีวิตให้ตกอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์อย่างแท้จริง นั่นก็คือวงจรแห่งวัฏฏะ ที่เรียกว่า “วน” คือ “กิเลส กรรม วิบาก” ตราบใดที่ไม่เข้าไปสู่ระดับที่ ๔ ตราบนั้นก็ยังคงตกอยู่วังวนนี้ไปตลอดอนันตกาล

ความพิเศษของระดับที่ ๔ ก็คือ การไม่เป็นปฏิปักข์ต่อสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวในประเด็นนั้น แต่กลับเลื่อนระดับไปสู่การเห็นสิ่งที่ปรากฏทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม นามธรรม ก็มีแต่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปทั้งนั้น การพิจารณาอย่างนี้ถือว่าไม่ได้เล่นตามเกมของตัณหา แต่กลับเล่นเกมผู้สังเกตการณ์แทน แทนที่จะดีใจ เสียใจ พึงพอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ มีความสุข มีทุกข์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเกมของตัณหา

แต่ระดับที่ ๔ กลายเป็นการเฝ้ามองอาการที่ปรากฏแทน เป็นแต่เพียงผู้มองเท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใด มองให้เห็นถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และสิ้นไปของปรากฏการณ์เหล่านั้น เมื่อนั้นลูกตุ้มนาฬิกาก็หยุดแกว่ง เมื่อลูกตุ้มนาฬิกาหยุดแกว่ง สนามแม่เหล็กก็ลดพลังดึงดูดลง เพราะการแกว่งของลูกตุ้มเป็นตัวเสริมพลังดึงดูด ความกระจ่างใสย่อมปรากฏขึ้นแทน ตรงนี้แหละคือ ช่วงเวลาแห่ง “ปัญญาญาณ” ย่อมเกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า “จกฺขุง อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ดวงตาคือ ปัญญาเห็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว การกำหนดรู้ความหยั่งรู้เหตุผลเกิดขึ้นแล้ว ความรู้แจ้ง เกิดขึ้นแล้ว ความมีใจสว่างเกิดขึ้นแล้ว”

ตรรกะในสภาวธรรมนั้นไม่ตรงกับตรรกะทางความคิดเหตุผลที่คนทั้งหลายเข้าใจ เพราะตรรกะของคนทั่วไปนั้นมุ่งไปที่ฐานที่ ๑ และ ฐานที่ ๒ กล่าวคือทุกอย่างต้องมีการกระทำให้เกิดขึ้น แต่ในสภาวธรรมนั้นกลับตรงกันข้าม เมื่อใดกระทำไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ เมื่อนั้นก็ยิ่งห่างไกลจากปัญญาญาณที่จะเกิดขึ้น ปัญญาญาณจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากยังอยู่ในระดับความคิด เปรียบเหมือนความใสสะอาดเกิดไม่ได้ด้วยการเติมความขุ่นลงไป เมื่อใดที่ไม่กวนให้น้ำขุ่น เมื่อนั้นความใสจึงจะปรากฏเอง

นี่คือ โศลกที่สามสิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ก้าวเดินเป็นธรรม








โศลกที่สามสิบสอง "ก้าวเดินเป็นธรรม"


หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว
เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่
ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด
เดินคือเดินเต็มที่
ทุกฝ่าเท้าที่เหยียบคือเหยียบ
ทุกเท้าที่ยกคือยกเท้า
ทุกเดินก้าวคือก้าวเดิน
ไม่เหลือให้ได้คิดเดิน
ไม่เหลือช่องให้เดินคิด
ไม่เหลือช่องบริกรรมเดิน
เดินด้วยใจรัก งดงาม บำเพ็ญ
ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว
ทุกกิริยาอาการที่เดินไป
มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว
คือก้าวเดินเป็นธรรม





อาการสองสิ่งในกิริยานั้นจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ในขณะเดินก็ไม่ยืน ในขณะยืนก็ไม่นั่ง ในขณะนั่งก็ไม่นอน แต่จะเกิดขึ้นไล่ลำดับกันอย่างรวดเร็วทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่า อาการนั้นเกิดก่อนหรือหลัง ต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าไปในวังวนเดิม ไม่ให้ถูกจิตใช้เป็นเครื่องมือเหมือนเดิม ให้เข้าใจคำว่า “เป็นเพียงผู้เฝ้าดู เป็นพยาน (Witness)” และคำว่า “เป็นผู้ตื่นตัว (Awareness)” คำทั้งสองคำนี้มีความหมายอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นทันทีที่มีคำว่า เป็นผู้ตื่นตัว (สติมา) นี้อยู่ และมีคำว่า เป็นผู้เฝ้าดูรู้ตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) ถ้าหากไม่มีคำนี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะสัมปชาโน สติมา คือธรรมที่แท้จริง มีความหมายมาก มีอานิสงส์มากเหลือเกิน คำ ๒ คำนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ ต้องบำเพ็ญ ต้องมีความเพียร ต้องมีความต่อเนื่องที่เรียกว่า “อาตาปี”

ความตื่นตัวและเป็นเพียงผู้เฝ้าดูนั้นเป็นด่านสกัดไม่ให้มีความคิดอะไรเข้ามาแทรกแซงกิริยาอาการที่เคลื่อนไหวทุกขณะ ทุกระยะ ทุกรายละเอียด เห็นหมด เห็นทุกอย่างชัดแจ้ง ไม่เหลือช่องให้มีความคิดเข้ามาแทรก ไม่ให้โอกาสการปรุงแต่งเข้ามาแทรก ไม่ให้เกิดความพึงพอใจ (อภิชฌา) ในอาการนั้นๆ ไม่ให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง (โทมนัสและอนภิชฌา) ในอาการนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ทุกอิริยาบถนั้นมีความเต็มเปี่ยมแห่งอาการนั้นเท่านั้น มีความสมบูรณ์พร้อมแห่งอาการนั้นเท่านั้น

โศลกว่า “ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด เดินคือเดินเต็มที่”

ในการปฏิบัติธรรมสิ่งที่ขัดขวางมากที่สุดก็คือ “ความคิด” กระบวนการแห่งความคิดเป็นกระบวนการแห่งความทุกข์ ตามลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท เพราะในความคิดนั้นประกอบไปด้วยอวิชชา “ความคิด” ที่มีอวิชชาเป็นพื้นฐานก็ย่อมประกอบไปด้วยตัณหาและอุปาทาน เป็นปกติของจิตที่ไม่รู้แจ้ง เมื่อไรที่รู้แจ้ง จักษุคือปัญญาเห็นธรรมก็เกิด ญาณกำหนดรู้ก็เกิด ปัญญาหยั่งรู้เหตุผลก็เกิด วิชชารู้แจ้งก็เกิด อาโลโกความสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เกิด กระบวนการทางดับแห่งทุกข์ก็ปรากฏขึ้นทันที ความคิดโดยปกติตัวของมันเองนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพราะไม่เห็นแจ้งในอริยสัจจ์ พอไม่เห็นแจ้งในอริยสัจจ์ก็ดำริสะเปะสะปะเป็นเหตุให้กล่าวออกมาทางวาจา


เมื่อใดที่เห็นแจ้งในอริยสัจจ์เมื่อนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเกิดมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่เต็มรอบ สติสัมปชัญญะไม่ให้มีความดำริสะเปะสะปะอีกต่อไป กระบวนการแห่งธรรมก็เกิด ด้วยเหตุนี้กระบวนการแห่งสติปัฏฐานและอานาปานสติจึงเป็นกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ความคิดตามความเข้าใจของชาวโลกนั้นไม่ถูกต้องตรงกันกับชาวธรรม การกินแบบโลกกับการกินแบบธรรมนั้นต่างกัน ไม่ต้องนำมาคิดเข้าหากัน เพียงแค่คิดก็ตกหล่นหลุดออกไปจากเส้นทางทันที ต้องไม่คิดเท่านั้นจึงจะอยู่บนเส้นทางได้


โศลกว่า “เดินด้วยใจรัก งดงาม บำเพ็ญ”

เฝ้าดูจิตที่ประกอบไปด้วยความเชื่อมั่นในการก้าวเดิน ความเป็นทั้งหมดแห่งการก้าวเดิน การก้าวย่างที่ขยับเขยื้อนก้าวไปนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความต่อเนื่องเป็นลำดับ ความสมบูรณ์พร้อมเกิดขึ้นเต็มที่ ไม่เหลือช่องให้สิ่งใดหลุดรอดเข้ามาได้ ต้นสายปลายเหตุทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป อาการเดินเช่นนี้คือการเดินที่งดงาม จึงไม่แปลกใจที่อุปติสสมานพพอพบกับพระอัสสชิ พอเฝ้าสังเกตเห็นการเดินของพระอริยอัสสชิ ก็พบเห็นความงดงามนั้นเห็นอากัปกิริยาอาการที่ก้าวเดินทุกก้าวอย่างสมบูรณ์ ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องกังวล ความงดงามแห่งการก้าวเดินของผู้มีสติสัมปชัญญะนั้นสื่อออกมาภายนอก เป็นความสงบกายที่เคลื่อนไหว เป็นความงดงามของท่าร่างที่ก้าวเดิน

อาการเช่นนี้จะปรากฏขึ้นอย่างไรเล่า จะมีก็แต่เฉพาะผู้มีความเต็มเปี่ยมจากภายในเท่านั้น อุปติสสมานพไม่เคยเห็นผู้ที่เดินด้วยความงดงามเช่นนี้มาก่อนจึงได้ติดตามไประยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดความแน่ใจในสายตาของตนว่า นี่เป็นของจริง นี่คือบุคคลที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในที่สุดท่านจึงได้รับรสแห่งอมตวาจาที่สมบูรณ์พร้อมอีกเช่นกันในยามที่สนทนา


“เย ธัมมา เหตุปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต
เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโณ”


โศลกเพียงเท่านี้ยังกระแสแห่งความสว่างในอริยสัจจ์ปรากฏขึ้นในปัญญาญาณของอุปติสสมานพ กาลภายหลังท่านก็คือพระสารีบุตรเถระ ธรรมเสนาบดีในพระพุทธศาสนานี่เอง


สำหรับเราท่านแล้ว การก้าวเดินไปยังคงเป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี เดินไปเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อให้วิชชาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อเห็นแจ้งการเกิดดับ เดินไปเพื่อให้ญาณเกิดขึ้น การเดินเช่นนี้จึงเป็นการเดินที่เป็นธรรม เดินไปด้วยความพากเพียรพยายาม เดินไปด้วยความงดงามแห่งสติสัมปชัญญะ และเดินไปด้วยการยังความเต็มเปี่ยมแห่งการเดินแต่ละก้าวให้ปรากฏ



โศลกว่า “มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว”



ผู้เข้าใจความเป็นเอกภาวะย่อมเข้าใจสรรพสิ่งได้ดีขึ้น ความเป็นเอกภาวะนั้น คือ ความว่าง คือนิพพาน คือความดับ คือความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น ทุกกิริยาอาการ ความเป็นหนึ่งเดียวนี้ไม่เกี่ยวกับเอกัคคตารมณ์ (One Pointedness) เพราะเอกัคคตารมณ์นั้นเป็นเรื่องของจิตที่มีปกติวุ่นอยู่ตลอดเวลา จิตจะมีความสงบลงได้ก็ต่อเมื่อจิตทำหน้าที่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างเดียว การที่จิตอยู่กับอารมณ์จนเป็นเอกัคคตาจิตนั้นจิตไม่สามารถเข้าใจตัวของมันเองได้ มันได้แต่เข้าใจตัวของสิ่งอื่นเท่านั้น ก็ยังเป็นการเข้าใจสิ่งที่เป็นภายนอก


แต่เอกภาวะในที่นี้เป็นความเต็มเปี่ยมแห่งสติกับทุกกิริยาอาการ สติสัมปชัญญะนั้นรู้ตัวจิตเองได้ เป็นการเข้าใจภายใน มีแต่สติสัมปชัญญะเท่านั้นที่สามารถปราบความคิดที่ยึดอารมณ์ให้กลายเป็นเอกภาวะได้ การที่จะเข้าถึงการรู้แจ้งภายในนั้นต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ไม่อาจใช้ความคิดได้ เมื่อใดที่ใช้ความคิด เมื่อนั้นเอกภาวะก็ไม่เกิดขึ้น ความสมบูรณ์แห่งสติที่เต็มเปี่ยมมีเมื่อใด เอกภาวะก็ปรากฏเมื่อนั้น

ความยากที่จะเข้าใจเรื่องนี้ก็เพราะคนโดยมากแล้วตกอยู่ภายใต้การทำงานของจิต โดยเฉพาะโลกตะวันตกที่ไม่เคยทราบว่า จิตไม่คิดเป็นอย่างไร เอกภาวะเป็นอย่างไร การเข้าถึงเอกภาวะจึงต้องนำมาคิดก่อนว่า มันเข้าถึงได้อย่างไร จะเป็นเช่นนี้เสมอ ด้วยเหตุนี้คำว่า สัมมาสมาธิ ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า “Right Concentration” และยังสื่อให้เห็นอีกว่า หัวใจของสมาธิในที่นี้ก็คือ “เอกัคคตาจิต” หรือ “One Pointedness” ผู้ที่ไม่เข้าถึงอรรถะแห่งคำว่า “สัมมาสมาธิ” ในที่นี้ก็เข้าใจตามไปกับภาษาอังกฤษที่เขาใช้จึงทำให้หลงประเด็นกันไปใหญ่


Right Concentration ไม่ใช่สัมมาสมาธิตามที่พระพุทธศาสนามุ่งหมาย การใช้คำว่า Right Meditation ยังจะใกล้เคียงกว่าเสียอีก เพราะคำว่า สมาธิในพระพุทธศาสนานั้น เป็นหนึ่งในองค์แห่งพละ ๕ ที่มีหน้าที่กรองสิ่งที่ขุ่นมัวทั้งหมดให้ใสสะอาด สติมีหน้าที่เฝ้าดู ส่วนสมาธิมีหน้าที่ทำให้ใสสะอาด เมื่อนั้นปัญญาจึงเห็นแจ้งในความเป็นจริงของสรรพสิ่ง สมาธิจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะคิดเอาได้ตามตรรกะ อธิบายด้วยเหตุผล เพราะเหตุผลนั้นอยู่ในระดับของความคิด โดยเฉพาะการแปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ความหมายของสมาธิ

ความยากอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่เขียนคำนี้ก็ไม่เคยรับรู้ถึงสภาวะแห่งสมาธิเช่นนั้น ก็เข้าใจเอาเองว่า สมาธินั้นคือการที่จิตอยู่ในเอกัคคตา นั่นเป็นการตรองเอาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การที่จิตดิ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็หมายเอาว่านั่นแหละคือสมาธิ ถือว่าเป็นกับดักใหญ่ หลุมพรางใหญ่ในการปฏิบัติเท่านั้น นั่นเป็นเพียงการใช้จิตเข้าสะกดจิตเท่านั้น


การกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นการกระทำที่มีสติสัมปชัญญะกำกับดูแลอยู่อย่างสมบูรณ์ ความคิดเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เกิดทวิภาวะทันที ความเป็นทวิภาวะนี้อยู่ในระดับความคิด ความคิดมีสภาพเป็นทวิภาวะเสมอ เมื่อใดที่มีสติเมื่อนั้นก็เข้าถึงเอกภาวะ การเดินอย่างมีสติเต็มเปี่ยมก็ชื่อว่า เป็นการเดินที่เป็นเอกภาวะ ความเป็นเอกภาวะนี้เท่านั้นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมโดยแท้ ความเพียรเพื่อให้ดำรงอยู่ในเอกภาวะ ในความว่าง ด้วยสติเสมอจึงนับได้ว่าเป็นอิสระอย่างแท้จริง


นี่คือ โศลกที่สามสิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา





วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

ธรรมวาจา




โศลกที่สามสิบเอ็ด "ธรรมวาจา"

สงวนคำไม่พร่ำเพรื่อ
ควรกล่าวเมื่อควรกล่าว
ยามไร้วาจาก็สงบ
ยามกล่าววาจาก็ลึกซึ้ง
มีอรรถน่าฟัง อบอุ่น ไพเราะ
เต็มเปี่ยมด้วยเมตตา
ถ้อยคำเป็นโอสถเยียวยาจิต
เป็นธรรมานุธรรมวาจา
ให้แนวทางและกำลังใจ
ผู้ฟังมีแต่ความสุข สงบ
นี่คือทิพยวาจา



ให้พึงสังเกตพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติธรรม เหตุใดจึงพูดน้อย สงบปากสงบคำ ไม่กล่าวพร่ำเพรื่อ ไม่แสดงภูมิธรรมพร่ำสอนไปทั่ว ไม่พูดจนเลอะเลือน ซึ่งต่างไปจากผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม แม้ผู้อื่นไม่ให้พูดก็อยากพูด ขอให้ได้พูด แม้พูดแล้วก็จบไม่ลง ใช้วาจาเป็นเหมือนหอกที่ใช้ทิ่มแทงผู้อื่นอยู่ร่ำไป


เหตุที่ผู้ปฏิบัติธรรมพูดน้อยก็เพราะความสงบเยือกเย็นได้เข้าปกคลุมสภาวะจิตแล้ว ความสงบเยือกเย็นเป็นเหมือนร่มฉัตรจักรพรรดิที่ฉายร่มเงาให้พระเจ้าจักรพรรดิให้อยู่ภายในนั้น พระเจ้าจักรพรรดิไม่พูดพล่าม ไม่กล่าวพร่ำเพรื่อฉันใด พระโยคาวจรก็เป็นฉันนั้น ในยามที่พระเจ้าจักรพรรดิกล่าวคำย่อมมีน้ำหนัก มีความศักดิ์สิทธิ์ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น กล่าวคำแต่ละคำย่อมมีความหมาย มีอรรถสาระเสมอ


ผู้ใดที่เริ่มอาชีพการสอนใหม่ๆ จะเข้าใจว่า การพูดนั้นสำคัญไฉน ยิ่งสอนในระดับสูงๆ ด้วยแล้วจะพบว่า ข้อมูลที่ตนเตรียมนั้นแม้มากก็ไม่ค่อยจะพอกับเวลา เวลาเหลืออีกเป็นชั่วโมงแล้วจะเอาอะไรมากล่าว พูด ๓ ชั่วโมงจะทำยังไง บางท่านเตรียมไปเท่าไรก็จะต้องใส่ให้หมด ด้วยเกรงว่า ผู้ฝังจะติดค้างทุกเรื่องที่เตรียมมา เกรงว่าผู้ฟังจะปรามาสว่าตนไม่รู้เรื่อง ท่านจึงกล่าวไว้เป็นลำดับว่า ผู้สอนใหม่ สอนทุกเรื่อง ผู้สอนปานกลาง ตอบได้ทุกเรื่อง ผู้ตกผลึกสอน กล่าวเพียงบางเรื่อง

สำหรับผู้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแล้วถือตามลักษณะการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะกล่าวอะไร จะพูดอะไรก็มีความมุ่งหวังอนุเคราะห์สรรพสัตว์เป็นเบื้องต้น ตามหลักแห่งการกล่าวคำ ดังนี้

“วาจาใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ก็ไม่กล่าววาจานั้น
คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์

ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น
ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าวคำนั้น
คำใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตก็ไม่กล่าวคำนั้น
คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นที่รัก

เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น”

วาจาที่ไม่ควรกล่าวเลย ก็คือ คำเท็จ ไม่มีประโยชน์
คำก้าวร้าว ไม่เป็นที่พอใจ และก็คำเท็จ ไม่มีประโยชน์ แม้จะคำไพเราะเสนาะหู เป็นที่พอใจก็ตาม นี่ประการหนึ่ง วาจาที่พูดแต่ต้องดูกาลเทศะ ก็คือ คำจริง มีประโยชน์ อาจใช้คำตำหนิ ไม่น่าพอใจ และคำจริง มีประโยชน์ คำไพเราะเสนาะหู น่าพอใจ นี่ก็อีกประการหนึ่ง

ด้วยคำนึงถึงการกล่าวคำเหล่านี้ด้วย และเป็นเพราะความสงบเยือกเย็นด้วย ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมจึงพูดน้อย ไม่ทำลายบรรยากาศของร่มฉัตรจักรพรรดิให้เป็นร้านตลาด ผู้ใดปฏิบัติธรรมถึงระดับก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ก็คือ พูดน้อย ทานน้อย ปฏิบัติมาก คำว่า ปฏิบัติมากในที่นี้หมายรวมถึงทำงานอนุเคราะห์หมู่สัตว์มากด้วย

โศลกว่า “ยามไร้วาจาก็สงบ ยามกล่าววาจาก็ลึกซึ้ง”


ความเงียบ เยือกเย็น สุขุม สงบ เป็นพลังอย่างหนึ่งทำให้ผู้อยู่ใกล้นั้นสัมผัสความสงบเย็นนั้นได้ กล่าวได้ว่า แม้เพียงได้เห็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ทำให้คลายความทุกข์ได้ส่วนหนึ่ง แค่ได้ฟังวาจาที่เยือกเย็น ไพเราะ อบอุ่น เปี่ยมเมตตา ความทุกข์โศกเศร้าก็แทบจะคลายหายสิ้นแล้ว

ครั้งหนึ่งในพุทธกาล นางปฏาจารา สตรีที่ถูกความทุกข์ทับถมในชาตินั้นอย่างหนักหน่วง เกินที่จะรับได้ถึงกับกลายเป็นคนบ้าไป เดินซัดเซพเนจรเข้าไปถึงธรรมศาลาที่ที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่ เธอไม่อยู่ในอาการรับรู้อะไรทั้งสิ้น เป็นคนบ้าไม่มีผ้าผ่อนเดินไป พระพุทธเจ้าทรงตรัสขึ้นเมื่อเธอเดินมาถึงธรรมศาลาว่า

“เจ้าจงมีสติเถิด อย่าโศกเศร้าถึงบุตร สามี บิดามารดา พี่ชายที่ตายไปแล้วเลย
จงเบาใจ จงแสวงหา ตัวของตัวเองเถิด
เจ้าทุกข์เดือดร้อนไป ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
เพราะไม่ว่าเครือญาติ หรือใครๆ ก็ไม่อาจห้ามกั้น
ความตายได้เลยว่า อย่าเกิดขึ้น กับผู้ที่ถึงที่ตาย

ขึ้นชื่อว่าบุตรสุดที่รัก ไม่อาจเป็นที่พึ่ง
เป็นที่ต้านทานหรือเป็นที่ป้องกันแก่ผู้ไปสู่ปรโลกได้
บุตรเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ก็เหมือนไม่มี
ส่วนผู้รู้ทั้งหลายรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว
ควรชำระทางไปสู่พระนิพพานของตนเท่านั้น

ดูกร ปฏาจารา น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ยังมีปริมาณน้อย
น้ำตาจากความเศร้าโศก ของคนที่ถูกทุกข์ กระทบแล้วนั้น
มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เสียอีก ฉะนั้น
เหตุใด เจ้าจึงยังประมาท อยู่เล่า"

พระศาสดาตรัสถึง ความเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับทุกข์ ที่ควรจะเบื่อหน่าย หาที่สุดจบไม่ได้ ทำให้ความโศกของนาง ทุเลาลง ได้สติขึ้นมาทันที พระองค์จึงทรงแสดงธรรมอีกว่า

“สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ ทมะ มีอยู่ในผู้ใด
พระอริยะทั้งหลาย ย่อมคบผู้นั้น นั่นเป็นอมตธรรมในโลก
บัณฑิตรู้ใจความข้อนี้แล้ว ย่อมสำรวมในศีล
รีบเร่งชำระทางไปพระนิพพานทีเดียว”

ถ้อยคำของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงเปี่ยมด้วยเมตตา เป็นธรรมโอสถวาจาที่สามารถชำแรกเข้าไปภายในจิตใจ กำซับซาบซ่านไปถึงดวงจิต ทำลายเชื้อโรคคือความทุกข์เสียได้ ผู้ใดก็ตามได้รับรู้สัจธรรมที่เป็นจริงแล้วย่อมไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ อีก การถอนออกจากการยึดมั่นนั้นแหละคือ การดับทุกข์ วาจาใดที่แสดงให้ถอนการยึดมั่นนั้นก็เป็นวาจาที่เป็นโอสถกำจัดทุกข์

เมื่อใดก็ตามที่ท่านเห็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในชีวิต ก็จะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนับกาลไม่ถ้วนในชีวิต ไม่เพียงแต่ชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติที่ผ่านๆ นับกาลไม่ถ้วนด้วย ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสให้นางปฏาจาราฟังว่า น้ำตาที่ไหลออกเพราะความทุกข์นั้นถ้ารวมกันแล้วมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก

ก็ไม่แปลกใจเลยว่า หากท่านสามารถย้อนกลับไปในอดีตได้ ย้อนกลับไปสู่ชาติต่างๆ ที่ผ่านมาได้ ย้อนไปดูชีวิตที่เป็นเหมือนภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องของตนที่ผ่านมาสักสิบเรื่องล่าสุดได้ ท่านจะเข้าใจถึงสุขทุกข์ชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าใจถึงความยินดีปรีดา ความโศก เศร้า สมหวัง ผิดหวัง ระทม เริงร่า หัวเราะ ร้องไห้ บาดเจ็บ ล้มตายได้อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น

เป็นบทภาพยนตร์ที่ท่านเป็นพระเอก นางเอกของเรื่อง ทุกบททุกตอนในแต่ละฉากของชีวิตที่ผ่านไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องนั้น คือ ภาพยนตร์ชีวิตของท่านเอง ท่านคือผู้กำกับการแสดงเอง ท่านเป็นผู้โลดแล่นไปกับฉากนั้นเอง ทุกหยาดหยดน้ำตา ทุกรอยยิ้มที่พริ้มพราย ทุกความเจ็บปวดที่ครองใจท่านอยู่ ทุกความเริงร่าที่ท่านได้รับ และทุกความโศกเศร้าที่ท่านประสบ ล้วนเป็นของจริงไม่อาจตัดพ้อต่อว่าผู้ใดได้เลย นั่นเป็นชีวิตของท่านอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ หากผู้ปฏิบัติธรรมจนสามารถเห็นอดีตของตนได้อย่างนี้ จึงไม่เหลือความพึงพอใจต่อภพชาตินี้อีก ไม่เหลือความยินดีที่มีต่อวัฏฏะนี้อีก

เหตุใดผู้คนทั้งหลายจึงไม่ละความพึงพอใจในชาติ ในวัฏฏะนี้ได้ ก็เพราะทุกคนหลับอยู่นั่นเอง คนที่หลับอยู่แล้วฝันไปว่าตนเองเป็นคล้ายเคยได้รับความสุข ได้รับความทุกข์ โศกเศร้า สมหวัง ผิดหวัง เขาไม่เคยตื่นมาเลย ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงไม่ใส่ใจกับชีวิตที่เป็นภาพยนตร์ของตน เมื่อใดที่เขาตื่นขึ้นมาได้จริงๆ เห็นภาพยนตร์ที่เป็นจริง เมื่อนั้น เขาจึงจะเข้าใจถึงบทละครชีวิตในแต่ละชาติของตน ในแต่ละตอนของตนได้อย่างแท้จริง

ลองมองภาพเด็กคนหนึ่งร้องไห้เพราะตุ๊กตาตกแตก หรือตุ๊กตาถูกรถทับพังยับเป็นฉันใด ผู้คนเราท่านก็เป็นเช่นเด็กน้อยผู้นั้น ในชาติต่างๆ เราเคยร้องไห้เพราะสูญเสียสิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหนอย่างนั้นมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เราก็ไม่ทราบว่า ทำไมต้องร้องไห้ เสียใจ ก็เพราะเราท่านทั้งหลายหลับอยู่ การร้องไห้ของเรา ร้องๆ หยุดๆ พอได้ใหม่ก็หยุด พอตกแตก ก็ร้อง พอมีคนรักใหม่ก็หยุด พอคนรักจากไปก็ร้องไห้ หากไม่ใช่คนหลับฝันไปก็เป็นคนที่บ้ากันไปทั้งนั้น

ที่แปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ คนเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่เชื่อลองมีคนมาด่าสิ เราจะโกรธทันที เราคือหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งแท้ๆ ที่พอสิ่งหนึ่งเกิด เราต้องขยับตาม ทำไมเราต้องโกรธคนด่าด้วย ก็เพราะเราไม่ได้เป็นตัวของเรา เป็นเหมือนเครื่องไฟฟ้าที่พอถูกเสียบปลั๊กก็ทำงานทันที เป็นเหมือนตุ๊กตาไขลาน พอมีคนหมุนลาน ตุ๊กตาก็ดิ้นตาม เราทั้งหลายไม่รู้ตัวหรอก

จึงไม่แปลกใจเลยที่พระเยซูได้ร้องบอกกับคนทั้งหลายในขณะที่ตนเองกำลังจะถูกตอกตะปูตรึงกางเขนอยู่ว่า “พระเจ้าอย่าได้ตำหนิเขาเลย พวกเขาไม่รู้ตัวว่าพวกเขาทำอะไรลงไป” มหาตมคานธีก็กล่าวคำเช่นนี้เช่นกัน หลังจากที่ถูกชายผู้หนึ่งยิง ในขณะที่ท่านกำลังจะสิ้นลม ท่านกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ลงโทษชายผู้นี้ เขาไม่รู้”

คนทั้งหลายในโลกก็ล้วนทำความผิด เข่นฆ่า โหดร้าย ป่าเถื่อน เบียดเบียน ทำร้าย คดโกง กล่าวร้าย กันและกันไปมาอย่างนี้ พวกเขาไม่รู้ตัวว่าเขาทำอะไรลงไป เพราะต่างคนก็ต่างอยู่ในความฝัน เพราะต่างก็ถูกเสียบปลั๊กให้ทำทั้งนั้น มีหรือเขาด่ามาเราไม่โกรธตอบ เขาทำร้ายมา เรายิ้ม เขารักมา เราโกรธไป ก็เราท่านถูกตั้งโปรแกรมไว้แล้ว ให้ตอบสนองตามนั้นไว้แล้ว


โศลกว่า “ให้แนวทางและกำลังใจ ผู้ฟังมีแต่ความสุข สงบ”

วาจาหรือคำของคนมีผลส่งไปถึงใจให้มีพลังหรือให้มีความท้อแท้ถดถอยได้ คำกล่าวของคนทำให้เกิดความฮึกเหิมและเกิดความหวาดกลัวได้ ทำให้เกิดความอบอุ่นและทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลได้ เนื่องจากวาจานั้นเป็นพลังอย่างหนึ่งที่เข้าไปครอบครองจิตของตนและผู้อื่นได้

ในการปฏิบัติธรรมนั้นยิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะวาจาที่ออกมาจากจิตที่สงบเยือกเย็นนั้นเป็นวาจาที่เชื่อมประสานให้จิตของผู้อื่นสงบเยือกเย็นไปด้วย หากวาจาที่ออกมาจากใจที่เร่าร้อน ก็สร้างความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นกับจิตผู้อื่นด้วย ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงพูดในสิ่งที่นำใจไปสู่ความสงบเยือกเย็น นำใจให้มีกำลังปฏิบัติ เหนี่ยวโน้มไปสู่การปฏิบัติที่ลึกยิ่งขึ้น หยั่งลึกลงเป็นลำดับ นำไปสู่การพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง

วาจาที่เป็นธรรมจึงประกอบไปด้วยความอนุเคราะห์สรรพสัตว์ เป็นวาจาให้กำลังใจ ทำให้เกิดความเอิบอิ่ม ไม่นำไปสู่การกระหายอยาก ไม่นำไปสู่กระตุ้นเร้าอกุศลมูล เป็นธรรมสัจวาจา คำเพียงสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เช่น “รักษาจิต บำเพ็ญเพียร มีสติ ทำจิตให้งดงาม ตามทันสัมผัส เห็นอรรถอันแจ่มแจ้งเถิด” แต่ทุกคำนั้นออกมาจากความลึกระดับที่สี่

ผู้มีจิตเข้าถึงความลึกระดับที่สี่ วาจาย่อมเป็นสัจวาจาทั้งสิ้น เพราะระดับที่สี่นั้นเป็นระดับที่ไร้ภาษา แต่เมื่อจะกล่าวออกมาเป็นภาษาจึงกล่าวได้แต่คำสภาวะเท่านั้น กล่าวคำระดับที่สามซึ่งใกล้ชิดกับระดับที่สี่ที่สุด เป็นคำที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก เป็นภาษาของแม่ เป็นภาษาของคนรัก เป็นภาษาของผู้บำเพ็ญเพียร ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นภาษาที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข มีความสงบ มีกำลังใจ ผู้กล่าวมีความลึกซึ้งในอารมณ์ที่ประกอบกลั่นออกมาเป็นภาษา

จึงไม่แปลกที่ฟังผู้มีความรักพูดกับผู้ไม่มีความรักพูดมีน้ำหนักต่างกัน ผู้มีเมตตาพูดกับผู้ไม่มีเมตตาพูดนั้นยิ่งต่างกัน มารดาตนพูดกับคนอื่นพูดต่างกัน ผู้ปฏิบัติธรรมพูดกับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมพูดนั้นมีความลึกซึ้งต่างกัน ความต่างกันแฝงอยู่ในอารมณ์ แฝงอยู่ในถ้อยคำ แม้จะกล่าวคำเดียวกันก็ตาม ใครที่ประสบพบกับความท้อแท้สิ้นหวังประสบทุกข์จึงต้องการทิพยวาจาเช่นนี้เพื่อชโลมจิตให้สดชื่นขึ้นมาอีกได้ มีกำลังต่อสู้ชีวิตขึ้นมาอีกได้

นี่คือ โศลกที่สามสิบเอ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา



วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ทางแห่งพุทธะ















โศลกที่สามสิบ "ทางแห่งพุทธะ"

หยุดแสวงหาทางได้แล้ว
เส้นทางมีให้แล้ว
วิธีการก็ชัดเจนแล้ว
เหลือแต่ผู้ปฏิบัติ
ไม่ต้องอ้างสิ่งใดอีก
เพียงมีลมหายใจ
เพียงตั้งใจปฏิบัติ
เพียงเข้าไปกำหนด
เพียงหยั่งพิจารณาสู่
ลมหายใจและความรู้สึก
สภาพจิตและลำดับธรรม
ความว่างในตนย่อมปรากฏ
นี่เป็นทางแห่งพุทธะ





ผู้คนบนโลกนี้มีอุปนิสัยชอบสนใจสิ่งข้างนอกตนเป็นต้นทุน สิ่งใดที่มีอยู่แล้วในมือของตนมักไม่ได้รับความสนใจ สิ่งใดที่มีอยู่ในมือของผู้อื่นนั่นแหละคือสิ่งที่เขามองเห็นและใส่ใจ ด้วยเหตุนี้ คุณค่าและโทษในตนเองมักเป็นเรื่องที่เห็นได้ยาก แต่กลับมองเห็นคุณค่าและโทษของผู้อื่นเสมอ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสายตาอันประกอบด้วยตัณหานั้นส่งออกไปข้างนอกเสมอ


นั่นเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงอัตตาให้เจริญเติบโต ยิ่งเห็นก็ยิ่งอยากได้ เห็นแล้วยิ่งอยากมี เห็นแล้วก็ยิ่งอยากเป็น อยากครอบครอง หรือเห็นแล้วไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น อยากขจัดให้พ้น อยากหลีกให้ไกล ความอยากล้วนแล้วแต่เป็นอาหารประเภทต่างๆ ของอัตตาทั้งนั้น อัตตากินอาหารรสชาติอย่างนี้ไม่เมนูใดก็เมนูหนึ่งเสมอ

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” ยากยิ่งที่จะถมตัณหาด้วยตัณหา เพราะยิ่งถมเข้าไปตัณหายิ่งทวีคูณ ยิ่งสนองตัณหา ก็ยิ่งจมหายไป ดุจดังมหาสมุทรที่ไม่อิ่มด้วยน้ำฉะนั้น อย่าได้เข้าใจว่า จะสนองตัณหาให้มันเบื่อไปข้างหนึ่ง นั่นเป็นเพียงเล่ห์กลของมันเท่านั้นเอง ความเบื่อหน่ายไม่ได้เกิดจากการสนองตัณหา หรือการเติมสารอาหารให้อัตตา มีหรือที่เราจะเบื่ออาหารที่กินอยู่ทุกวัน เป็นไปไม่ได้ที่จะกินให้อิ่มเต็มที่เสียวันนี้เพื่อว่าวันพรุ่งนี้จะได้ไม่ต้องทาน



มีหรือเราจะเสพสนองกามราคะให้อิ่มเสียวันนี้ เผื่อว่าวันพรุ่งนี้จะได้เบื่อไม่ต้องเสพอีก นั่นเป็นเพียงอุบายเล่ห์กลของอัตตาเท่านั้น ก็อัตตานั้นยิ่งเสพยิ่งเติบโต ยิ่งเสพยิ่งติด ยิ่งเสพยิ่งมีพลัง มีหรือยิ่งเสพแล้วจะยิ่งเบื่อหน่าย ท่านลองให้อำนาจแก่คนดูสิ ให้ความสุขแก่คนดูสิ ให้ความสะดวกแก่คนดูสิ ท่านจะรู้ว่าอัตตานั้นจะเติบโตมีพลังอย่างไร

ในการปฏิบัติต่ออัตตานั้นก็คือการไม่ยอมให้อาหารแก่มัน ก็เท่านั้นเอง ไม่ให้ด้วยวิธีการอย่างไร ก็ด้วยการสลายคำว่า “อยาก” ออกไปเสียก่อน เพราะตัวอยาก (ตัณหา) เป็นท่อน้ำเลี้ยงของอัตตา อัตตาอาศัยท่อน้ำเลี้ยงนี้หล่อเลี้ยงตัวของมันให้อ้วน ให้มีกำลัง ประการแรก ลดทอนพลังของมันก่อนด้วยการปรับจากความอยากให้เป็นเพียงความพอใจ (ฉันทะ) ประการต่อไป แล้วค่อยถอนฉันทะนั้นอีกทีหนึ่ง

โศลกว่า “เส้นทางมีให้แล้ว วิธีการก็ชัดเจนแล้ว” มีเรื่องแปลกอยู่เรื่องหนึ่งเล่ากันว่า มีชายผู้หนึ่งซัดเซพเนจรเดินทางไปทั่วแคว้นเพื่อต้องการน้ำดื่ม เขาหิวกระหายอย่างยิ่งแทบจะทรงตัวอยู่ไม่ได้ จนกระทั่งเขาได้ยืนอยู่ที่ริมแม่น้ำใหญ่ แต่แทนที่เขาจะตักน้ำในแม่น้ำนั้นทานแก้กระหาย กลับหันหลังให้แล้วขุดหาน้ำอีก ผู้คนเกือบหมดโลกก็เป็นเช่นชายผู้นี้ ได้รับความทุกข์อันเกิดจากการบีบคั้นของตัณหา



เขาแสวงหาทางดับทุกข์คือตัณหานั้นไปทั่วทุกหนแห่ง จนกระทั่งมาพบพระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ มาพบทางพ้นจากตัณหานั้นแล้ว แต่แทนที่จะปฏิบัติตามทางในพระพุทธศาสนา กลับหันหลังให้แล้วไปขุดหาน้ำใหม่ แสวงหาทางใหม่อยู่อีก บอกไปผู้ใดเชื่อว่าเราท่านเป็นเช่นนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทางไว้อย่างชัดเจนแล้ว ทรงชี้ทางไว้อย่างดีแล้ว ทั้งเชิญชวน ทั้งตอกย้ำ ทั้งชี้แนะ ทั้งบัญญัติ ทำทุกวิถีทางที่จะให้ผู้คนทั้งหลายมาปฏิบัติตามทางสายเอก ทางสายแห่งการหลุดพ้น ไม่น่าเชื่อว่า ผู้คนพอเอาเข้าจริงกลับกลัวที่จะพ้นจากตัณหานั้น กลัวจะพ้นจากความหิวกระหายที่บีบคั้นนั้น กลัวว่า ตนเองจะอยู่ได้อย่างไรถ้าหากพ้นจากความอยาก กลัวว่าโลกจะอยู่ได้อย่างไรถ้าทุกคนปล่อยวางเสีย เศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม การศึกษาทั้งหลาย อาชีพทั้งหลายจะอยู่ได้อย่างไร



ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงหันหลังให้กับแม่น้ำคงคา เพียงเพราะมีผู้บอกว่า เป็นไปไม่ได้ว่าแม่น้ำจะทานได้ เพราะแม่น้ำใหญ่เกินไป เพียงเพราะมีผู้บอกว่า เส้นทางนี้ตรงเกินไปไม่น่าจะใช่ เส้นทางนี้จะทำให้พวกเราจมน้ำหายไป อย่าเลยจงแสวงหาเส้นทางใหม่เถอะ หรือถึงแม้จะเชื่อว่าน้ำในแม่น้ำนี้ทานได้ ดับกระหายได้จริง แต่ผู้คนก็ประวิงเวลาว่า ทานเมื่อไหร่ก็ได้ ทนหิวไปก่อน ให้อยู่กับลูกกับเมียก่อน อยู่กับสมบัติพัสถานก่อน อยู่กับตำแหน่งที่เพิ่งได้มาใหม่ๆ ก่อน อยู่กับโลกนี้ไปก่อน

นอกจากนั้นยังมีคนประกาศบอกว่า ใครที่อยากจะหลุดพ้นก็เดินตามทางของพระพุทธเจ้าเถิด แต่ถ้าใครอยากรวยให้มาทางนี้ ท่านคิดว่าคนในโลกนี้จะเลือกเดินตามเส้นทางใด ไม่แปลกเลยกับคำประกาศของเจ้าลัทธิผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยพุทธกาล คือ ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร ที่ประกาศบอกว่า ใครที่ฉลาดก็ไปหาพระพุทธเจ้าเถิด ส่วนใครที่โง่ก็มาหาเรา ไม่น่าเชื่อว่า ผู้คนจำนวนมากที่ยอมตนเป็นคนโง่ ไม่กล้าที่จะประกาศตนเป็นคนฉลาด


ดังนั้น คนในสำนักของท่านจึงมีมาก ไม่แปลกเลยว่าคนเข้าสำนักบอกใบ้ให้หวยจึงมาก ไปหาหมอดูทำนายจึงมาก ไปตลาดหลักทรัพย์จึงมาก ไปห้างสรรพสินค้าจึงมาก หากไม่เชื่อท่านลองประกาศไปตอนนี้ว่า “เส้นทางนี้มีให้แล้ว วิธีการก็ชัดเจนแล้ว มาปฏิบัติกันเถิด ปฏิบัติตามเส้นทางของพระพุทธเจ้าเถิด” ท่านจะพบกับความประหลาดใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนบอกว่า “ไม่ละ พวกเราขอปฏิบัติตามครู อาจารย์ พ่อ แม่ เพื่อน นักร้อง ดารา นักคิด นักเขียน Idol ของเราดีกว่า” นี่แหละคือผู้คนบนโลกนี้หละ

โศลกว่า“เพียงมีลมหายใจ เพียงตั้งใจปฏิบัติ” ความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติมีขีดเส้นคั่นนิดเดียวเท่านั้น คนที่มีชีวิตกับคนเข้าถึงชีวิตนั้นต่างกันนิดเดียว แต่ความต่างกันของขีดเส้นคั่นทั้งสองด้านนั้น แม้ว่าจะเพียงนิดเดียว แต่กลับเดินกันไปคนละด้าน ไม่ได้เดินเข้าหากัน ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะบรรจบกันได้ เหมือนกับคำว่า “ทหารมืออาชีพ กับอาชีพทหาร” “ผู้บริหารมืออาชีพ อาชีพบริหาร” “หายใจได้ กับหายใจเป็น” มีความใกล้เคียงกันมากในขีดเส้นคั่น แต่กลับห่างไกลกันในความเป็นจริง

การทำอะไรอย่างเชี่ยวชาญ อย่างมีวิจารณญาณ อย่างมีประสบการณ์ มีทักษะ มีภูมิธรรม ภูมิความรู้ จึงได้รับเรียกว่า “ทำอย่างมืออาชีพ (Professional) แต่ถ้าตรงกันข้าม เพียงแต่ทำตามอย่างที่เขาทำ ทำไปอย่างนั้น ทำไปเพราะอาชีพต้องทำ ทำไปเพราะเสียไม่ได้ เรียกว่า “มีอาชีพทำ Career”
ไม่เพียงแต่การทำงานโดยทั่วไปเท่านั้น แม้แต่การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน นั่งเช่นไรเป็นการนั่งปฏิบัติธรรม นั่งเช่นไรเป็นเพียงคนนั่ง ยืนเช่นไรเป็นการยืนปฏิบัติธรรม ยืนเช่นไรเป็นเพียงแค่คนยืน หายใจเช่นไรเป็นการหายใจปฏิบัติธรรม กับหายใจแค่เพียงคนหายใจมีชีวิตอยู่ หลับตาเช่นไรเป็นการหลับตาปฏิบัติธรรม กับการหลับตาของคนหลับ การปฏิบัติธรรมกับไม่ปฏิบัติธรรมนั้นมีคุณลักษณะต่างกัน

การหายใจที่เป็นการปฏิบัติธรรมนั้นต้องประกอบไปด้วยสติรู้เท่าทันลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ความสั้น ยาวของลมหายใจเข้าออก คนทั่วไปไม่รู้หรอกถึงลมหายใจที่เข้าออกรูจมูกของเขา แต่เขาทราบแน่ว่าเขามีลมหายใจอยู่ เพราะเขามีชีวิต
ถามว่า ทำไมเพียงแค่นี้จึงเป็นการปฏิบัติธรรม ก็เพราะการมีสติเข้าไปกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเช่นนี้ทำให้จิตนั้นไม่กวัดแกว่งไปสู่อารมณ์อันหลากหลาย ความคิดไม่แล่นไปสู่เรื่องโน้นเรื่องนี้ อุปกิเลสอันจรมากับความคิดนั้นก็เข้ามาสู่จิตไม่ได้ “กามทั้งหลายเกิดจากการดำริ” นี่คือต้นตอของมัน การที่กำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นการปิดช่องไม่ให้เกิดความดำริขึ้น ให้เหลือแต่ลมหายใจที่เข้าออกที่รู้เท่าทันเสมอ

โศลกว่า “ความว่างในตนย่อมปรากฏ” ความเพียรเครื่องเผากิเลสคือการปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ช่องแก่กิเลสที่จรมา สลายความอยากที่มองออกไปข้างนอก แต่เข้าไปหยั่งพิจารณาภายในตน คำว่า ตนในที่นี้หมายถึง หยั่งพิจารณาเข้าไปในลมหายใจ ไม่มีความอยาก ไม่มีความไม่อยาก ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงให้แก่อัตตา ไม่เติมตัณหา อันเป็นสารอาหารให้อัตตา เพราะการมีสติสัมปชัญญะในลมหายใจนี้ ไม่หลงเหลือเชื้อให้ก่อเกิดความอยากขึ้น มีแต่ความเพียรภาวนาไปเรื่อยๆ ความร้อนแห่งตบะนั้นย่อมมีพลังแก่กล้าขึ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์แก่กล้าเกิดเป็นพลังขึ้นมา อินทรีย์ที่กลายเป็นพลังย่อมเข้าไปเห็นชัดในกายนี้เป็นเพียงแค่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่ความว่างเท่านั้น ความว่างนั้นเป็นความจริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังสรรพสิ่ง

ในโลกวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายกำลังสนใจสสารที่เรียกว่า “ควาร์ก Quark” ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม ตัวอย่างคือเมื่อมีสิ่งๆ หนึ่งล่วงล้ำเข้าสู่อาณาเขตของหลุมดำ หากมันมีความเร็วน้อยกว่าหรือเท่ากับแสง มันจะถูกดูดและบดขยี้ทันที โดยจะถูกบดจนกลายเป็นอะตอม และถูกบดอีกจนกลายเป็นควาร์ก และไม่สามารถแยกย่อยได้อีก ถือเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กที่สุดในจักรวาล


จะเห็นได้ว่า นักวิทยาศาสตร์นั้นกำลังนำควาร์กมาศึกษากันอย่างจริงจัง เพราะควาร์กนั้นมีอานุภาพมหาศาลหากค้นพบกรรมวิธีใช้ ไม่ว่าจะเป็นควาร์กแบบอัพ (up) และดาวน์ (down) แบบชาร์ม (charm) และสเตรนจ์ (strange) และแบบท็อป (top)และบ็อทท็อม (bottom) คุณสมบัติของควาร์กนั้นเป็นประจุไฟฟ้า ประจุสี สปิน และมวล ควาร์กสามารถมีปฏิกิริยากับแรงพื้นฐานได้ครบหมดทั้ง ๔ ชนิด ได้แก่ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง อันตรกิริยาอย่างเข้ม และอันตรกิริยาอย่างอ่อน ทุกๆ อนุภาคของควาร์กนั้นมีคู่ปฏิอนุภาค เรียกชื่อว่า แอนติควาร์ก นี่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในโลกวิทยาศาสตร์

แต่โลกพุทธศาสตร์นั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนานแล้ว สิ่งที่พระพุทธองค์ค้นพบก็คือ นิพพาน ซึ่งก็คือความว่าง คือ อนัตตา คือ ศูนยตา คือสิ่งสุดท้ายของสรรพสิ่ง แต่การจะเข้าถึงความว่างได้นั้นต้องผ่านกรรมวิธีเสียก่อน แม้ความว่างจะเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งที่สูงสุดก็ตาม แต่ถ้าหากยังไม่เข้าถึงความว่างนี้ ความว่างนี้ก็ไม่แสดงอานุภาพออกมา

เปรียบเหมือนแร่ยูเรเนียม ตัวมันเองมีพลังมหาศาล แต่ถ้าหากไม่ผ่านกรรมวิธีก็เป็นเพียงก้อนแร่ธรรมดา จิตก็เหมือนกัน มีพลังมหาศาล แต่ถ้าไม่ผ่านกรรมวิธีคือบำเพ็ญตบะแล้ว จิตก็เป็นเพียงจิตธรรมดาเท่านั้น กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว สสาร (รูป) ทางวิทยาศาสตร์ ในที่สุดแล้วก็จะพบกับความว่างที่มีอานุภาพสลายสสารได้ (หลุมดำ) ส่วนจิต (นาม) ในพระพุทธศาสนา ในที่สุดแล้วก็ต้องเข้าถึงความว่าง จึงจะสลายจิตได้ (นิพพาน) หลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ นี่คือความลงตัวของสรรพสิ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมาจบลงที่ “ความว่าง”

นี่คือ โศลกที่สามสิบแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา




วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555




โศลกที่ยี่สิบเก้า "ปลูกความงดงาม"

ความงดงามคือสิ่งน่าปรารถนา
งามภายนอกนั้นไม่ยั่งยืน
งามภายในนั้นยั่งยืน
ยิ่งปลูกลงในจิต
ความงามยิ่งเบ่งบาน
จิตใจที่งดงาม
ไม่ว่าจะทำ พูด คิด
เดิน นั่ง สนทนา
เป็นความงามพร้อม
นั่นแหละคือผลการบำเพ็ญเพียร
ความงามแห่งการปฏิบัติธรรม



ความงดงามนั้นเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ปรารถนา เป็นสุภธาตุที่ฝังอยู่ในจิตของมนุษย์อยู่เป็นทุนเดิม เนื่องจากสุภธาตุนี้ย่อมเรียกร้องหาธาตุที่เกี่ยวเนื่องกันเข้ามา ด้วยเหตุนี้ความงามจึงเป็นที่ต้องตาของทุกคน แม้ในเสียงที่ไพเราะก็มีสุภธาตุเจือปนทำให้คนทั้งหลายชอบฟังเสียงที่ไพเราะเสนาะหู แม้แต่ไม่สามารถมองเห็น ไม่สามารถได้ยินเสียง จิตนี้ก็รับรู้ถึงความงามอันเกิดมาจากใจเองได้ เนื่องจากความงามทำให้เกิดความพึงพอใจ ความบันเทิง มีชีวิตชีวา ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงต้องการความงามนั้นมาครอบครอง แสวงหา สร้างขึ้น จากนั้นก็แย่งชิงกันมาเป็นสมบัติ

โดยมากแล้วความงามที่โลกกล่าวถึง แสวงหา สร้างขึ้น ครอบครอง แย่งชิง หลงใหลนั้นเป็น “ความงามในระดับที่หนึ่ง” เท่านั้น เป็นความงามระดับกายภาพ เป็นความงามระดับเปลือกนอก ความงามที่ฉาบทา เคลือบไว้ เป็นความงามแห่งมายาที่บดบังความไม่งามไว้

แต่เพียงเท่านี้ก็สามารถโยกคลอนมนุษย์ทุกคนได้เกือบหมดโลกแล้ว เพราะมนุษย์ทุกคนพอใจแล้วกับความงามเท่านี้ แม้ทราบว่ามีความงามที่ลึกซึ้งกว่านี้เขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจแต่ความงามที่จับต้องได้ ก็เพราะเขาเหล่านั้นเป็นมนุษย์พันธุ์ที่หนึ่ง เหมือนกับคนที่บอกว่า “ทำความดีแล้วได้ดี แล้วดีที่ว่ากินได้ไหม” เช่นเดียวกันกับความงาม ความงามระดับอื่นถึงจะมีแล้วมันเป็นรูปธรรมจับต้องสัมผัสได้ไหม กินได้ไหม ถ้าไม่ได้นั่นก็ไม่ต้องมาพูดกับคนพันธุ์ที่หนึ่งนี้ เพราะเขามีช่องรับความงามได้เพียงระดับเดียวเท่านั้น

เนื่องจากคนที่มีแต่ช่องรับความงามระดับกายภาพนี้มีมาก แต่ความงามที่เข้าสู่ช่องนี้มีจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดปัญหาอันเกิดจากความงามกันทั่วโลก ปัญหาเกิดจากการแย่งชิงสิ่งที่งามและปัญหาผลิตสิ่งที่งาม ปัญหาแย่งชิงสิ่งที่งามนั้นมีมาแต่บรรพกาล ไม่ว่าจะเป็นแย่งชิงวัตถุ สิ่งของ จนกระทั่งมาถึงแย่งชิงสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งแย่งชิงคนที่งาม

การแย่งชิงคนที่งามนั้นต้องยกให้กับการแย่งชิงผู้หญิงของเหล่าผู้ชาย น้อยรายที่เหล่าผู้หญิงจะทำสงครามแย่งชิงผู้ชาย สงครามทั้งหลายที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นนับตั้งแต่มหากาพย์รามเกียรติแย่งชิงสีดา มหากาพย์มหาภารตะแย่งชิงเทราปตี ศึกแย่งชิงครีโอพัตรา ยุทธการอุบายหญิงงามเตียวเสี้ยน ล้วนแล้วแต่เกิดสงครามแย่งชิงหญิงงามทั้งนั้น บัดนี้เริ่มเข้าสู่ปัญหาผลิตสิ่งที่งามออกมาสู่โลกเพื่อเป็นสินค้าให้คนประเภทนี้ได้เสพกัน

ปัญหาอยู่ที่ผลิตออกมาแล้วไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการย้อมแมวกัน โฆษณา ประกวด สร้างโรงผ่าตัดปรับแต่งอวัยวะเพื่อให้เกิดความงาม โรงผ่าตัดศัลยกรรมเหล่านี้มีทั้งมีฝีมือและไร้ฝีมือแต่เพื่อให้สินค้าออกมาได้ทันต่อความต้องการจึงเกิดปัญหาของชำรุดก่อนถึงมือลูกค้า ใบหน้าเน่าบ้าง นมเละบ้าง ปากเบี้ยวบ้าง จมูกบิดบ้าง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาให้คนประเภทที่หนึ่งนี้ได้เสพความงามกัน

ความงามที่สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ก็คือความงามในความคิด เป็น “ความงามระดับที่สอง” เป็นความงามแห่งสังกัป เป็นความลงตัวแห่งความคิดที่เข้ากันได้ มีเหตุผล สิ่งใดที่มีความลงตัว ไม่จำเป็นต้องงามทางกายภาพ แต่เป็นความงามอันเกิดจากการปรุงแต่งภายในใจของตนเท่านั้นก็งดงามแล้ว ความงามระดับนี้เห็นได้มากสำหรับนักคิด นักปรัชญา นักการศาสนาทั้งหลาย คนทั้งหลายเหล่านี้เห็นความงามอยู่ในความคิดของตน วาบแห่งความคิด ความคิดที่วิจิตร จินตนาการอันหลุดลอย ความงามเหล่านี้เป็นนามธรรมเป็นส่วนมาก

อะไรก็ได้ถ้าหากเขาสามารถอธิบายให้เห็นว่าสิ่งนั้นงาม สิ่งนั้นก็จะงามตามความคิดของเขาเอง ก้อนหิน ภูเขา ต้นน้ำ ลำธาร ใบไม้ เศษขยะ เป็นสิ่งที่นักคิดเหล่านี้สามารถพรรณนาให้เห็นเป็นความงามขึ้นมาได้ เพราะความงามเหล่านี้เป็นความคิดของเขาเอง จึงไม่แปลกที่ปัญหาเรื่องความงามจึงไม่หายไปจากโลกของนักคิด นักปรัชญาทั้งหลาย ถึงกับมีเป็นศาสตร์หนึ่งขึ้น มีบิดาแห่งสุนทรียศาสตร์ขึ้น ได้แก่ อาเลกซานเดอร์ โกเตียบ เบาม์การ์เทิน (Alexander Gottieb Baumgarten ๑๗๓๕) ก็เพราะเขามองเห็นในความคิดว่า ความงามนั้นเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง เพราะความคิดของแต่ละคนนั้นมีการสร้างสังกัปความคิดเป็นของใครของมันตามแต่ฐานอันเกิดจากความรู้ ศาสนา วัฒนธรรม

ความงามระดับที่สาม เป็นความงามในระดับอารมณ์ ความรู้สึก เป็นความงามที่ลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง ความงามในระดับนี้จึงยากยิ่งเข้าใจสำหรับบางคน เขาเห็นอารมณ์ทุกอย่างเป็นความงาม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ราคะ โลภ โกรธ หลง รัก เมตตา เอื้อเฟื้อ สุข เศร้า สมหวัง ผิดหวัง ปีติ ยินดี ยิ่งมีน้อยคนเข้าไปอีกในโลกนี้ที่สามารถเห็นความงดงามในระดับอารมณ์ อันที่จริงในตัวของอารมณ์เหล่านี้หมดจด งดงาม

ปัญหาของความงดงามในระดับนี้นั้นอยู่ที่ว่า การปฏิบัติต่ออารมณ์ของผู้ที่อยู่ภายใต้อารมณ์นั้นไม่ถูกต้อง และการถูกความคิดดัดแปลงอารมณ์นั้นไปเป็นอื่น เช่น อารมณ์ราคะ หรืออารมณ์ทางเพศ ตัวของมันนั้นเป็นความงดงามในฐานะเป็นรากฐานแห่งชีวิต สรรพชีวิตเกิดมาจากอารมณ์นี้ จะเห็นได้ว่า เมื่อมีอารมณ์ทางเพศจะมีอาการตื่นตัว ความตื่นตัวตรงนี้แหละคือความงามของอารมณ์นี้ แม้แต่ความคิดก็ไม่สามารถหยุดยั้งอารมณ์ทางเพศได้

แต่เนื่องจากมนุษย์ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอารมณ์นี้จึงปฏิบัติต่ออารมณ์นี้ไม่ถูกต้อง โดยมากก็หาที่ระบายทางเพศ หรือไม่ก็เก็บกดทางเพศนี่เป็นปัญหาหนึ่ง อีกอย่างพอมีอารมณ์ทางเพศก็ถูกบิดเบือน แทรกแซงด้วยความคิดว่า เป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องของกิเลสหยาบช้า เป็นเรื่องของการขัดศีลธรรมจรรยา ขัดจารีต วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการให้คำนิยามทางความคิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรกับอารมณ์ทางเพศล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น พอๆ กับการเข้าไปแย่งชิงครอบครองของพวกระดับแรกนั่นแหละ

ความงามระดับที่สี่ เป็นความงามระดับสุดท้ายของการเข้าถึงความงาม ความงามในระดับนี้นั้นเป็นความงามที่แผ่ไปสู่จักรวาล เป็นความงามที่ไร้รูป ไร้ลักษณ์ เป็นความงามที่สลายปัญหาต่างๆ ของปัญหาความงามในระดับที่หนึ่งถึงระดับที่สามดังกล่าว ผู้ที่เข้าถึงความงามในระดับนี้ย่อมไม่เห็นสิ่งใดที่ไม่งามอีก เป็นผู้ปฏิบัติต่อความงามทุกระดับอย่างถูกต้อง เป็นความงามที่ระเบิดออกมาจากภายใน เป็นความงามที่ข้ามพ้นขอบเขตจำกัด เป็นการยกสุภธาตุระดับธรรมดาให้กลายเป็นสุภธาตุของระดับโลกุตตระ สุภธาตุในระดับโลกุตตระนั้นแผ่ซ่านไปทั่วสรรพสิ่ง ไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำกัดขอบเขต ตัวสุภธาตุภายในกับสุภธาตุภายนอกได้กลายเป็นสิ่งเดียวกันเสียแล้ว

โศลกว่า “ยิ่งปลูกลงในจิต ความงามยิ่งเบ่งบาน” ความงามที่ปลูกลงไปในจิตในที่นี้ก็คือ ความงามในระดับที่สี่นี่เอง เป็นความงามในระดับสกัดเป็นหัวความงาม นั่นก็คือไม่ว่าจะมองอะไรก็ให้มองเป็นความงาม เจือจานความงามลง เพาะบ่มลงไปในจิต เพื่อให้จิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของความงามไปเสีย เมื่อจิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของความงามก็ย่อมแผ่ซ่านออกมา เมล็ดพันธุ์แห่งความงามในพระพุทธศาสนาก็คือ เมล็ดพันธุ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญา

พระเจ้าปเสนทิโกศลแสดงความแปลกใจที่มีต่อพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนาว่า ทั้งที่เลี้ยงชีพด้วยอาหารที่ผู้อื่นเขาให้แท้ๆ แต่เหตุใดพระอริยสาวกทั้งหลายเหล่านี้จึงมีความร่าเริง มีใจชื่นบาน มีรูปอันน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีความขวนขวายน้อย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระอริยสาวกทั้งหลายได้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความงามทั้ง ๓ ประการไว้แล้วนั่นเอง ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ความงามในเบื้องต้นด้วยการฝึกอบรมกาย วาจา ให้มีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย เป็นปกติ ที่เรียกว่า ศีล เมล็ดพันธุ์ความงามในท่ามกลาง ด้วยการปฏิบัติในสมาธิ อันได้แก่ ฌานทั้งหลาย และเมล็ดพันธุ์ความงามในที่สุดด้วยปัญญาญาณ


โศลกว่า “เป็นความงามพร้อม นั่นแหละคือผลการบำเพ็ญเพียร” ทุกอากัปกิริยาที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ไปด้วยสติสัมปชัญญะ เต็มเปี่ยมไปด้วยการเป็นผู้เฝ้าดู ไม่ว่าจะพูด จะฟัง จะคิด จะเดิน นั่ง ยืน นอน ล้วนแล้วแต่มีความสมบูรณ์พร้อมนั่นแหละคือความงดงามที่แสดงออก การพูดที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา ด้วยความรัก ด้วยจิตที่งดงาม คือผลแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการบำเพ็ญเพียร สุดท้ายแล้วความงดงามนั้นสื่อออกเป็นความสงบ สื่อออกเป็นความเย็นแห่งจิต ไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจก็ล้วนแล้วแต่มีความสงบเป็นพื้นฐาน นั่นแหละความเต็มเปี่ยมแห่งความงาม เป็นความงามอันอมตะ เป็นความงามที่แท้และยั่งยืน

นี่คือ โศลกที่ยี่สิบเก้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา