วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เวทนานี้ก็เท่านั้น

















โศลกที่ยี่สิบหก "เวทนานี้ก็เท่านั้น"
ธรรมารมณ์เข้ามา
มโนทวารเปิดรับ
มโนวิญญาณปรากฏ
จุดกระทบเกิดขึ้น
เวทนาสืบต่อเพราะเหตุปัจจัยนี้
เวทนาอาศัยสิ่งใดเกิด
สิ่งนั้นไม่เที่ยง แปรเปลี่ยน ดับลง
สิกขติเข้าไปธรรมนั้น
ย่อมเห็นความไม่เที่ยงและเสื่อมไป
จึงคลายออกและปล่อยวาง
เวทนานี้ก็เท่านั้น




ศาสตร์โบราณได้เน้นย้ำไว้สำหรับให้ปฏิบัติต่อความรู้สึก นั่นก็คือ เป็นผู้เฝ้าดูความรู้สึกนั้นเท่านั้น ไม่ต้องกระทำอะไรไปมากกว่านั้น เพียงแต่เฝ้าดูความรู้สึกอย่างเดียว ไม่ปรุงแต่ง ไม่ขยายความใดๆ ทั้งสิ้น โดยมากแล้วคนเราปฏิบัติต่อความรู้สึกเป็นอย่างนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกด้านใดก็ตาม
ถ้าเป็นด้านลบก็
๑. หลีกหนีจากความรู้สึกนั้น
๒. กระทำตามความรู้สึกนั้น

ถ้าเป็นด้านบวกก็
๑. อยู่กับความรู้สึกนั้น
๒. กระทำตามความรู้สึกนั้น

ลองพิจารณาดู ถ้าเป็นความรู้สึกทางด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นความโศก ความเศร้า ความเจ็บปวด ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เรียกรวมๆ ว่าเป็นทุกขเวทนา พอเจอความรู้สึกอย่างนี้ทุกคนต้องดิ้นรนหลีกหนีให้พ้นจากความรู้สึกอย่างนี้ อยากพ้นจากความรู้สึกเช่นนี้ นี่เป็นคนประเภทที่หนึ่ง

ส่วนคนอีกประเภทหนึ่งก็เอาคืน กระทำตามความรู้สึกนั้น หากไม่พอใจ ขุ่นเคือง ไม่ชอบใจ โต้ตอบให้สาสมกับความรู้สึกที่มี ทำร้ายและทำลายสิ่งที่เป็นต้นตอของความรู้สึกนั้นให้สิ้นซาก อย่าให้ได้เห็นอีก ถ้าเป็นคนก็ทำลายคน ถ้าเป็นสิ่งของก็ทำลายสิ่งของ เป็นการระบายความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นให้หายไปด้วยวิธีโต้ตอบอย่างสาสม นี่คือประเภทที่สอง

ถ้าเป็นความรู้สึกด้านบวกก็จะเป็นอย่างนี้ คนประเภทที่หนึ่ง ความดีใจ กระหยิ่มยิ้มย่อง ภูมิใจ มีความสุข ปลื้มใจ บันเทิง สบายกาย สบายใจ รวมเรียกว่า สุขเวทนา พอได้รับความรู้สึกเช่นนี้ก็อยากจะอยู่กับความรู้สึกนั้นตลอดไป ไม่ให้สิ่งนั้น คนนั้นหรือความรู้สึกนั้นหายไปไหน นี่เป็นคนประเภทที่หนึ่ง

อีกประเภทหนึ่ง เมื่อเจอกับสิ่งไหนคนใดทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ชอบใจ ทำให้มีความสุข ก็ต้องให้ได้มา ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้มา ได้มาแล้วยึดมั่น หวงแหน ระบายความรู้สึกต่อสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ เช่น ระบายความสุขที่มีในตนต่อสิ่งนั้น หากเป็นสิ่งของก็จับ มอง ไม่ปล่อย หากเป็นคนก็โอบ จูบ ลูบ คลำ นี่เป็นคนประเภทที่สอง

วิธีทั้ง ๒ ประการที่ปฏิบัติต่อความรู้สึกนั้นไม่ถูกต้องทั้งสิ้น เพราะเป็นการกระทำต่อความรู้สึกที่ไม่มีสติเฝ้าดูเหลืออยู่เลย กลายเป็นตัวของอารมณ์ความรู้สึกนั้นไป อันตรายย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เนื่องจากเหตุปัจจัยแห่งความรู้สึกนั้นไม่คงที่ ย่อมกระทบต่อตัวความรู้สึกนั้นที่ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ได้มองอีก ความรู้สึกนั้นก็จะต้องได้รับการสนองไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแน่นอน นั่นคือ ที่มาแห่งตัณหา



โศลกว่า “เวทนาสืบต่อเพราะปัจจัยนี้”
ต้องเข้าใจกระบวนการเกิดและกระบวนการดับความรู้สึกให้ถูกต้อง เมื่อเข้าใจกระบวนการที่ถูกต้องก็ย่อมมีวิธีที่จะปฏิบัติต่อเวทนานี้ให้ถูกต้องเช่นกัน ก่อนอื่นต้องเข้าใจเหตุเกิดและเหตุดับมันก่อน เหตุเกิดก็เพราะมีผัสสะ เหตุดับเพราะมีสติต่อผัสสะ ต้นตอของผัสสะก็คือขันธ์นี้ ถ้าไร้ขันธ์นี้ผัสสะก็ไม่มี แต่เนื่องจากขันธ์นี้มีขึ้นเสียแล้วจำเป็นต้องปฏิบัติด้วยวิธีมีสติต่อผัสสะ นั่นคือวิธีที่หนึ่งเป็นการเฝ้าดูเสียตั้งแต่ต้น เรียกว่า ดับไฟเสียแต่ต้นลม ก่อนที่มันจะกระพือไป แต่หากมันได้ติดไฟเสียแล้ว เกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึกเสียแล้ว ก็ใช้วิธีเดียวกันคือ เป็นเพียงแค่เฝ้าดู ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกนั้น
วิธีการ ๘ ขั้นตอนต่อไปนี้นำมาปรับใช้ได้


๑. ไม่หนีจากอารมณ์
๒. ให้เฝ้าดูอารมณ์
๓. ให้อารมณ์อยู่ และเฝ้าดูอยู่
๔. รักษาระยะไว้เสมอระหว่างอารมณ์กับผู้เฝ้าดู
๕. เฝ้าดูอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องปรุงแต่ง
๖. นิ่งและเย็นสบายๆ เฝ้าดู รับมือกับอารมณ์รุนแรงได้
๗. เริ่มดูตอนต้นๆ อารมณ์จะรับอารมณ์ทัน
๘. ไม่เลือกอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น



มีครอบครัวหนึ่ง เมื่อบิดาใกล้จะสิ้นลม พ่อได้เรียกบุตรชายเข้ามาใกล้ๆ สั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย พ่อขอให้ลูกรับปากว่าต้องทำให้ได้ ลูกชายจึงรับปากพ่อ คำสั่งเสียของพ่อของชายผู้นี้ก็คือว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้เจ้าโกรธ ขอให้โกรธหลังจากนั้น ๓ วัน ความโกรธ คือ อารมณ์ความรู้สึกที่ขัดเคืองรุนแรงด้านลบ เกิดขึ้นทันทีทันใด การที่ลูกของชายผู้นี้ต้องรอให้ถึง ๓ วันแล้วค่อยโกรธ เป็นวิธีการที่แยบยลกับการปฏิบัติต่อความโกรธ เพราะในขณะที่ระลึกถึงคำพ่อนั้นเป็นเขาได้กลายเป็นผู้เฝ้าดู กำลังแยกความโกรธออกจากตัวเขาเอง ตัวเขาคือผู้เฝ้าดู ความโกรธที่อยู่ที่นั่น ยังโกรธไม่ได้ต้องรอ ๓ วันก่อน ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ความโกรธไม่อยู่รอถึง ๓ วันแน่

โศลกว่า “เวทนาอาศัยสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นไม่เที่ยง แปรเปลี่ยน ดับลง”
ก็ทุกอย่างไม่ว่าเหตุและปัจจัยก็ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ทั้งสิ้น แล้วฉะนี้จะพึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนและดับไปเป็นจริงเป็นจังทำไม ที่ยังไม่สามารถแยกแยะพิจารณาเห็นได้เช่นนี้ก็เพราะทุกคนยังตกอยู่ในความฝัน ยังไม่ตื่น ยังไม่มีสติเฝ้าดูสิ่งนั้นให้แจ่มชัด


ก็ในเมื่อเธอทั้งหลาย ไม่ว่าจะเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่ติดพันเสวยเวทนานั้นๆ ชื่อว่า ไม่ติดพันอยู่ด้วยทุกข์อีกต่อไป
จากวิธีการปฏิบัติต่อเวทนาเช่นนี้ก็หมายความว่า เมื่อมีทุกข์กาย ก็อย่าได้ทุกข์ใจ ปลดเปลื้องทุกข์ได้ ก็อย่าได้พึงพอใจสุขที่เกิดขึ้น เมื่อรู้ว่าผัสสะเป็นเหตุเกิด รู้ตัวเวทนา รู้ความพอใจในสุข ไม่พอใจในทุกข์ มีสติสัมปชัญญะในเวทนานั้น นี่เป็นการดับเส้นทางกระแสแห่งเวทนาเสียได้

โศลกว่า “สิกขติเข้าไปธรรมนั้น ย่อมเห็นความไม่เที่ยงและเสื่อมไป” การที่เข้าไปเพ่งศึกษาด้วยสติอันแจ่มชัดในเวทนา จึงเห็นความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง และความสิ้นไปของเวทนา หมุนเวียนอยู่อย่างนี้นับครั้งไม่ถ้วน การมีสติอยู่เสมอในกาย เวทนา จิตและธรรม รวมถึงมีความรู้ตัวทั่วพร้อมในความเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถอยู่เสมอเช่นนี้ ย่อมเห็นความสุข ความทุกข์เกิดขึ้น ก็ตามรู้อีกว่า สุขและทุกข์นี้อาศัยกายเกิด กายนี้ไม่เที่ยง สุขและทุกข์นี้ก็ไม่เที่ยงแท้ ผู้พิจารณาย่อมเห็นความจางคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เห็นการถอนการยึดมั่นเสียสิ้น แล้วก็ปล่อยวางเวทนานั้นเสีย ชื่อว่า เป็นผู้ละราคานุสัยและปฏิฆานุสัยในกายและในสุขเวทนาได้ แม้แต่ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นเช่นเดียวกัน นี้เรียกว่า ละอวิชชานุสัยเสียได้ การที่รู้ชัดในสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาว่าเป็นของไม่เที่ยง มีกายเป็นที่สุดรอบ มีชีวิตเป็นที่สุดรอบอย่างนี้ ย่อมไม่มัวเมาเพลิดเพลิน ชื่อว่า สิ้นสุดแห่งเชื้อแห่งการเกิดอีก สิ้นภัยแห่งทุกข์ในเบญจขันธ์


ความลึกซึ้งแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเห็นได้ในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น การตรองด้วยตรรกะนั้นไม่อาจเข้าถึงสภาวธรรมเหล่านี้ได้ เพียงแค่กล่าวกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวใช่ตน จะกล่าวสักกี่ชาติก็ไม่มีความหมาย ถ้าหากไม่เห็นแจ้งด้วยปัญญาอันเกิดจากการบำเพ็ญเพียรภาวนา ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเสมอให้มีสติเข้าไปศึกษาจึงจะเห็นแจ้งในธรรมที่ลึกซึ้งเหล่านี้ ก็ผู้คนทั้งหลายที่ตายไปไม่ได้นำความกลัวภัยมาสู่ผู้คนทั้งหลาย ฉันใด การที่คนทั้งหลายไม่เห็นโทษของความไม่เที่ยงก็ฉันนั้น


เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าไปตั้งสติพิจารณาหยั่งเห็นจักษุ เห็นรูป เห็นจักษุวิญญาณ เห็นจักษุสัมผัสตามความเป็นจริง เห็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาตามความเป็นจริงแล้ว เราย่อมไม่ยินดีในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ ในจักษุสัมผัส และเวทนาทั้งหลายที่เกิดจากจักษุสัมผัสนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป มีแต่อาศัยสิ่งที่ไม่เที่ยงเกิดขึ้น จะเอาอะไรกับสิ่งที่ไม่เที่ยง ตั้งอยู่และดับไปเล่า!
ผู้ใดก็ตามที่เห็นแจ้งตามความเป็นจริงเช่นนี้ ย่อมไม่ยินดี ไม่ลุ่มหลง เห็นโทษในเวทนาทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์อีกต่อไป ย่อมไม่มีความกระวนกระวาย ความแผดเผา เร่าร้อนทั้งทางกายและทางใจ ตัณหาที่แฝงอยู่ในความยินดีเพลิดเพลินนั้นก็ไม่มีอีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ มรรคมีองค์แปดย่อมเจริญ เต็มรอบ หมุนไปพร้อมเพรียง โพธิปักขิยธรรมย่อมสมบูรณ์ ย่อมรู้แจ่มแจ้งในขันธ์ ๕ ละอวิชชาและภวตัณหาได้ พัฒนาเจริญอยู่ในสมถะและวิปัสสนา ย่อมทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติ

สิ่งที่ยากก็คือ เวลาที่เวทนาเกิดขึ้นนั้นยากที่จะแยกแยะออกได้ว่า เวทนานั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่เป็นของเรา ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเข้าใจผิดของเราที่ถูกความไม่รู้บดบังนั่นเอง ถ้าเรารู้แล้ว เห็นแจ้งแล้วก็ง่ายที่จะถอนออกจากเวทนานั้น ไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตามเถิด ทุกอย่างเริ่มต้นที่ต้องมีสติเห็นแจ้งเท่านั้น ขั้นตอนของการมีสติก็คือการภาวนาเจริญสติในกาย เวทนา จิต และธรรม คำว่าเจริญในที่นี้ก็คือ ทุกลมหายใจ ทุกความรู้สึก ทุกอาการของจิต และทุกสภาวธรรมก็รู้ตัวทั่วพร้อม นี่แหละทางที่จะรู้เท่าทันเห็นแจ้งตามความเป็นจริงได้ สุดท้ายแล้ว เวทนานี้ก็เท่านั้น


นี่คือ โศลกที่ยี่สิบห้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา


ไม่มีความคิดเห็น: