วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

จังหวะ โอกาส




โศลกที่สิบหก "จังหวะ โอกาส"
นักวิจัยจิตต้องเป็นนักสังเกต
ช่วงเวลาไหนจิตสดชื่น ร่าเริง
จิตพร้อมต่อการปฏิบัติ
จิตควรแก่การพิจารณา
ไม่มีความคิดรีรอ
ใช้จังหวะและโอกาสนั้นให้ดี
ใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา
หากพ้นผ่านเวลาที่เหมาะสมไป
ก็สูญเสียขณะทองไปอย่างน่าเสียดาย
ต้องละเอียดและเนียนกว่าที่เป็น
รู้จักวางใจและอารมณ์มากกว่าที่เป็น
จึงชื่อว่าผู้ฉลาดในการบำเพ็ญธรรม


ไม่ว่าการกระทำอะไรๆ ก็ตามในโลกนี้ ช่วงจังหวะหนึ่งที่เหมาะสมนั้นมีไม่มากนัก ผู้ที่เข้าใจจังหวะและโอกาสนั้นเท่านั้นจึงจะฉวยโอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อการงานนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จังหวะและโอกาสที่รอคอยนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ บางทีต้องรอกาลนั้น บางทีต้องสร้างขึ้นด้วยความยากเย็น ด้วยเวลาอันยาวนาน


มีคำกล่าวของนักบริหารว่า การรอโอกาสเป็นกลยุทธ์ชั้นต่ำ การฉวยโอกาสเป็นกลยุทธ์ชั้นกลาง แต่การสร้างโอกาส เป็นกลยุทธ์ชั้นสูง แต่เมื่อโอกาสมาถึงแล้วต้องใช้โอกาสนั้นทันทีไม่ให้เสียไปเด็ดขาด สังเกตให้ดีจังหวะของการที่ใครคนหนึ่งจะร้องไห้ ใครคนหนึ่งจะเกิดปีติที่ท่วมท้น ใครคนหนึ่งจะตื้นตันใจอย่างเต็มที่ ใครคนหนึ่งจะรอดหวุดหวิดจากอุบัติเหตุ ทุกจังหวะนั้นมีเวลาน้อยนิดจริง เพราะมันคือเสี้ยววินาทีเท่านั้นเอง คนที่ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เป็นช่วงจังหวะเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าพ้นจังหวะนั้นไปก็ไม่ใช่กาลอันเหมาะสมที่จะเกิดผลอันน่าประหลาดใจได้


ภาพที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับจังหวะนี้ก็คือ การเล่นฟุตบอล การเข้าบอลผิดจังหวะกับถูกจังหวะนั้นมีผลต่างกัน เข้าบอลผิดจังหวะผลที่ได้ใบเหลืองเป็นอย่างน้อย อย่างมากใบแดง เข้าถูกจังหวะสามารถเซฟได้อย่างหวุดหวิด ช่วงจังหวะนั้นไม่มีเวลาให้ตัดสินใจมากนัก ต้องคิดต้องทำในขณะนั้นๆ หรือ การผสมตัวยาวิเศษ เภสัชกรผู้ชำนาญต้องคำนวณกาลอันเหมาะสมในการผสมตัวยา หากผิดเวลาไปเพียงนิดเดียว ตัวยานั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจเป็นโทษด้วยซ้ำไป ดังนั้น จังหวะจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ดูเป็นเรื่องไม่สำคัญไปได้

ใครที่เคยทราบการประลองฝีมือระหว่างมิยาโมโต มูชาชิกับซาซากิ โคจิโร่ การประลองดาบในครั้งนั้นมีชีวิตเป็นเดิมพัน ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้มีฝีมือที่ทัดเทียมกัน แต่สิ่งที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะก็คือ “จังหวะ” มูซาชิให้ความสำคัญกับ “จังหวะ” เป็นอย่างยิ่ง ความรู้สำคัญที่เขาสั่งสมมาตลอดก็คือจังหวะนี่เอง นักสู้ที่จะสามารถช่วงชิงชัยได้ ต้องอาศัยการหยั่งรู้ถึงจังหวะของคู่ต่อสู้ และช่วงชิงลงมือในจังหวะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจคาดถึง ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือศาสตร์และศิลป์ใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัย “จังหวะ” ในการสร้างความสมบูรณ์งดงาม


เช่นเดียวกับที่นักสู้จะสามารถมีชัยได้ ก็ต้องใช้อาวุธอย่างถูกต้องสอดคล้องกับ “จังหวะ” ในการต่อสู้ช่วงชิง สรรพสิ่งล้วนมีจังหวะ แม้แต่ “ความว่าง” ก็ยังมีจังหวะ การดำเนินชีวิตของคนทุกชนชั้นก็ยังมีจังหวะของชีวิต สรรพสิ่งจึงมีทั้งจังหวะของมันเอง ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต่างแยกแยะจังหวะออกว่า จังหวะไหนเหมาะสม ไม่เหมาะสม ควรเร็วหรือช้า ก่อนหน้าหรือตามหลัง รุกหรือรับ มิยาโมโต มูชาชิอาศัยจังหวะเสี้ยววินาทีที่ซาซากิ โคจิโร่ฟันลงมาเขาก็ฟันลงไป ไม่ก่อนไม่หลัง สอดคล้องประสานจังหวะที่สมดุลมาก ถ้าช้าไปก็แพ้ เร็วไปก็แพ้ ต้องพอดีๆ จึงจะชนะ



โศลกว่า “จิตควรแก่การพิจารณา” ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องเป็นนักสังเกตชั้นเยี่ยมจึงจะเห็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรสมณธรรม จิตนั้นก็มีจังหวะที่ปลอดโปร่ง สดชื่น ร่าเริงเหมือนกัน นี่เป็นจังหวะและโอกาสแรกในการเข้าไปถือจังหวะและโอกาสนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงจังหวะและโอกาสที่เกิดจากการเร้าอารมณ์จนถึงที่สุดอันเกิดจากการเต็มเปี่ยมแห่งอินทรีย์ที่เหมาะสม ผู้ปฏิบัติจะต้องอาศัยจังหวะนั้นมาพิจารณาธรรม


บุคคลแต่ละคนมีจริตและจังหวะไม่เหมือนกัน บ้างอาศัยช่วงเช้าตรู่ในการบำเพ็ญเพียร บ้างอาศัยช่วงกลางคืนในการบำเพ็ญเพียร บ้างอาศัยช่วงบ่ายคล้อยในการบำเพ็ญเพียร บ้างอาศัยช่วงที่มีฝนพรำในการบำเพ็ญเพียร ไม่ว่าจะอาศัยช่วงไหนก็แล้วแต่ แต่ต้องสังเกตได้ว่า ช่วงนั้นจิตตื่นตัวเต็มที่ จิตมีความสดชื่นร่าเริงแจ่มใสเต็มที่ จิตมีพลังอย่างเต็มที่ จึงไม่เป็นเวลาตายตัวของทุกคน


ยกตัวอย่างสามเณรบัณฑิตผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ขณะเดินติดตามพระสารีบุตรที่กำลังบิณฑบาตอยู่นั้น ผ่านไร่นา ผ่านบ้านช่างศร ผ่านบ้านช่างไม้ ฉุกคิดได้ว่า น้ำคนยังบังคับได้ ไม้ยังดัดเป็นศรได้ ไม้คนยังถากเสียจนเกลี้ยงเกลาได้ เราเป็นคนแท้ๆ ทำไมจะฝึกตนไม่ได้ สามเณรได้คิดดังนั้นจึงกลับวัดไปบำเพ็ญเพียรสมณธรรมภายในห้องท่ามกลางบรรยากาศอันสงบสงัด พระสารีบุตรเมื่อบิณฑบาตได้พอประมาณก็รีบกลับเพราะกลัวจะเลยเพลสามเณรจะฉันไม่ได้


ในขณะนั้นได้เวลาที่สามเณรกำลังบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเต็มที่ จิตกำลังดิ่งลงสู่การพิจารณาธรรมอย่างถูกจังหวะ หากพระสารีบุตรไปเรียกในขณะนั้นต้องทำให้สามเณรพลาดโอกาสไปได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบดังนั้นจึงได้เสด็จไปที่หน้าประตูวัดเพื่อที่จะช่วยเหลือสามเณรในการบำเพ็ญสมณธรรม พระองค์จึงตรัสถามคำถามพระสารีบุตร ๔ ข้อ เพื่อยื้อเวลาให้ผ่านกาลนั้นไปก่อน หลังจากที่พระสารีบุตรทูลตอบปัญหาเสร็จ สามเณรก็บรรลุพระอรหันต์พร้อมกับปฏิสัมภิทาพอดี พระสารีบุตรจึงเข้าไปหาสามเณรได้


นี่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ทราบถึงจังหวะและโอกาสแห่งความเต็มเปี่ยมของบุญบารมี พร้อมทั้งจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในการแสดงธรรมและการปฏิบัติธรรมของพระสาวกจึงทำให้การปฏิบัติธรรมนั้นได้ผลอย่างยิ่ง จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า เหตุใดที่พระภิกษุทั้งหลายในครั้งพุทธกาล เมื่อฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็ดี ฟังธรรมของพระอรหันตสาวกก็ดีจึงบรรลุธรรมได้ง่าย ก็เพราะพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายทราบวาระจิตที่เหมาะสมกับจังหวะและโอกาสนั้น จึงได้ชักนำวาระจิตนั้นได้โน้มไปสู่การพิจารณาธรรมได้อย่างถูกจังหวะและโอกาส ถูกที่ ถูกเวลา


จิตที่ควรแก่การพิจารณานั้นเป็นจิตที่กำลังอยู่ในขณะที่ควรแก่การงาน หมายถึงจิตที่มีกำลังมีความสมดุลของอินทรีย์ทุกส่วน ผู้ปฏิบัติธรรมต้องรีบใช้โอกาสนี้เข้าไปพิจารณาธรรม กล่าวคือ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของขันธ์ มีแต่จิตอยู่ในจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้นจึงจะมีพลังในการเห็นแจ้งได้ ตรงนี้จึงเรียกว่า “ปัญญาเกิด” ในพระพุทธศาสนานั้นใช้จิตที่สมควรแก่งาน ก็คือจิตที่อยู่ในช่วงจังหวะนี้มาใช้ประโยชน์ เพราะถ้าเลยจังหวะนี้ไป จิตก็เข้าสู่ห้วงแห่งความสุข ถ้าน้อยกว่านี้จิตก็ไม่มีพลัง

โศลกว่า “รู้จักวางใจและอารมณ์มากกว่าที่เป็น” ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม คือ ผู้ที่กำลังทำงานอยู่กับจิต เป็นการทำงานตามกฎ ๒ ประการร่วมกัน ก็คือ จิตนิยามและกรรมนิยาม จิตนิยาม ก็คือ กฎที่จิตทำงานตามหน้าที่ของมันอย่างเที่ยงตรง ไม่เป็นไปตามตรรกะ ไม่เป็นไปตามบริบทสิ่งแวดล้อมใด ทุกขั้นตอนตรงไปตรงมา ไม่เป็นไปตามคำขอร้องของใคร ไม่เบี่ยงเบนบิดพลิ้ว มีลำดับที่สม่ำเสมอ ก็เพราะจิตมีกฎของจิตอย่างนี้ ผู้เข้าใจกฎของจิตจึงได้ให้จิตทำหน้าที่ตามกฎของกรรม


กรรมหรือการกระทำก็เป็นกฎที่เที่ยงตรงเช่นกัน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะทำทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เมื่อทำอย่างนี้ก็ต้องได้รับผลอย่างนี้ เมื่อทำอย่างนั้นก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น เป็นผลของกรรม เรียกว่า วิบาก อันเกิดจากกฎของจิตที่ทำหน้าที่รักษาผลของกรรมนั้นไว้ จิตก็เที่ยงตรง กรรมก็เที่ยงตรง ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องกระทำให้สอดคล้องกับการทำงานของจิต


ความสำคัญก็อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้จิตนี้ทำงานร่วมกับกรรมนิยาม เป็นการยึดโอกาสในขณะที่จิตนี้กำลังอยู่ในการเสพเคี้ยวอารมณ์ แต่อารมณ์นี้ไม่ประกอบไปด้วยเจตนา เพราะเมื่อใดที่มีเจตนา เมื่อนั้นการกระทำก็จะเป็นกรรมทันที แต่การกระทำที่ไม่มีเจตนาเท่านั้นที่ไม่เป็นกรรม แต่เป็นการกระทำอยู่ นี่คือความพิเศษในพระพุทธศาสนา นี่ก็คือกรรมไม่ดำไม่ขาว การกระทำที่ไม่ประกอบไปด้วยเจตนา แต่เป็นอาการแห่งการพิจารณาเท่านั้น


การพิจารณาด้วยสติจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาที่เป็นกรรม แต่เป็นกริยา เพราะในขณะที่มีสตินั้นการกระทำมีแต่อาการเท่านั้น ดังนั้น จึงสำคัญอย่างยิ่งในการวางใจและอารมณ์ ถ้าหากวางใจและอารมณ์ไม่เป็นก็ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขของโอกาสได้ เงื่อนไขของโอกาสนี้มีเพียงจังหวะเดียวเท่านั้น คือจังหวะที่มีสติเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ มีแต่สติเต็มเปี่ยมสมบูรณ์การกระทำจึงไม่เป็นกรรมดำ หรือกรรมขาว แต่เป็นกรรมไม่ดำ ไม่ขาว มีแต่กรรมชนิดนี้เท่านั้นจึงจะทำให้จิตไม่สามารถรับผลของกรรมที่เป็นวิบากได้


กรรมโดยปกตินั้นเป็นการกระทำที่ประกอบไปด้วยกุศลมูลและอกุศลมูลเป็นพื้นฐาน กุศลมูลและอกุศลมูลนี้มีตัณหาเป็นยางเหนียวหล่อเลี้ยงอยู่ภายใน การกระทำประกอบไปด้วยตัณหานี้ย่อมทำให้จิตถือเอาเป็นพลังในการส่งต่อลงไปในภวังคจิต

ยางเหนียวคือตัณหานี้ก่อสร้างภพขึ้นอีกอันเป็นผลของการกระทำซึ่งทำหน้าที่เก็บรักษาโดยจิต แต่จะทำอย่างไรให้กระทำนั้นไม่ประกอบด้วยยางเหนียว ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นมีสติ สติอันอยู่ในมโนกรรม โน้มนำไปสู่การพิจารณาไตรลักษณ์ มีนิพพานคือ ความว่างเป็นอารมณ์ เมื่อนั้นมโนกรรมก็เป็นเพียงแต่สักว่า อาการพิจารณาเท่านั้น จิตไม่สามารถส่งผลลงไปสู่ภวังคจิต เก็บกักวิบากไว้รอการแสดงผลได้อีก

ดุจดังที่พระพุทธเจ้าทรงโน้มนำให้พระพาหิยะได้พิจารณา การพิจารณาที่ไม่ประกอบด้วยกรรมอันเป็นวิบาก เป็นขณะที่สำคัญที่สุดและเป็นขณะที่สมบูรณ์ที่สุด ทุกกิริยาอาการเป็นแต่เพียงสักว่าเท่านั้นเพราะมีสติกำกับแล้วทุกอย่าง นี่คือกระบวนการอันแยบยลแห่งโน้มใจให้พิจารณาในกาลอันเต็มเปี่ยมด้วยสติพิจารณา มาจากคำว่า พึงศึกษา” ซึ่งสมบูรณ์ด้วยมรรคสมังคี ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ก็ในเมื่อใช้สติพิจารณาการเห็นจักเป็นสักว่าเห็น การฟังจักเป็นสักว่าฟัง การรับทราบจักเป็นสักว่ารับทราบ การรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ไม่มีอะไรหลงเหลือให้ติดค้างไปในโลกไหนๆ อีก ผู้ฉลาดในธรรมพึงเข้าใจเช่นนี้ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบต่อไป


นี่คือ โศลกที่สิบหกแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

3 ความคิดเห็น:

มหาออด โสภณบัวจันทร์ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
มหาออด โสภณบัวจันทร์ กล่าวว่า...

ขอบพระคุณครับอาจารย์ ที่ฝากของดี ๆ มาให้อ่าน ครับผมจะพยายามใช้จังหวะและโอกาสในการทำวิจัยต่อไปครับ

nid กล่าวว่า...

จิตเคร่งเครียด..อัตตาอึดอัด..ใช้จังหวะผ่อนคลาย

บทความใหม่กว่า บทความที่เก่ากว่า หน้าแรก