วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561





นิโรธมัคคญาณปกาสินี

โอ...ทุกข์เกิดประเสริฐนักควรจักเห็น
ผูกโยงเป็นกระบวนสายธรรมไหลต่อ
สิ่งนี้มีสิ่งนี้เกิดธรรมเปิดรอ
มีขั้วข้อเพราะปัจจัยสืบสายวน
สมุทัยปัจจัยเหตุกิเลสเชื่อม
ผูกพันเหลื่อมขมวดรับจนสับสน
อวิชชาตัณหายึดเหนียวหนืดตน
ปัญญาค้นเห็นวาระสละวาง
สายดับพลันอุบัติขึ้นจิตตื่นแล้ว
เป็นธรรมแถวปฏิโลมคือล้มร่าง
วัฏฏะสิ้นทุกข์หายซากประจักษ์ทาง
ส่องสว่างนิโรธะคามินี
วิสุทธิ์ญาณประกาศชี้อริยมรรค
ประกอบหลักปฏิบัติอัฏฐ์วิถี
ทิฏฐิชอบเสริมปัจจัยธรรมให้มี
เส้นทางนี้อริยพระสัทธรรม




การศึกษาค้นคว้าวิจัยในโลกยิ่งนับวันก็ยิ่งห่างไปไกลออกจากเส้นทางมากขึ้น เส้นทางในที่นี้หมายถึงเส้นทางสายพัฒนามนุษย์ให้เข้าไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ เส้นทางสายกลางมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ไม่แปลกใจว่า ในที่สุดโลกแห่งการศึกษาแทนที่จะเป็นการศึกษาให้ปัญญาเพื่อแสวงหาความสุข ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ แต่การศึกษากลับมุ่งหมายไปที่การสะสม กอบโกย สนองการกิน กาม เกียรติ จนกลายพันธุ์ไปกันใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่เข้าใจว่า มีปัญญาโดยแท้ แต่กลับกระทำดุจเหมือนผู้ไร้ปัญญามากขึ้นเรื่อย ๆ ดูจากพฤติกรรมมนุษย์ทั่วไปที่มุ่งแย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันครอง ผลแห่งการแย่งก็คือการทำลาย เบียดเบียนกันและกันนั่นเอง
ถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็ต้องตอบว่า ผู้ที่ดูแลการศึกษาของประเทศและของโลกนั้นไม่มีมุมแห่งความคิดด้านการสร้างความสมบูรณ์ให้กับความเป็นมนุษย์เหลืออยู่เลย มีแต่มุมที่เรียกว่า แข่งขัน โลกแห่งการแข่งขัน โลกแห่งการชิงความได้เปรียบ โลกแห่งการเป็นผู้นำการค้า ทรัพยากร ทหาร อาวุธ เทคโนโลยี เข็มทิศชีวิตชี้ไปสู่สงครามแห่งการแข่งขันเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่เลยสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากบรรยากาศทั้งมวล สถานการณ์ทุกจุดของโลก ตกอยู่ในภาวะสงครามแย่งชิงข้างต้น หากมีใครคนใดคนหนึ่งเปิดหน้าต่างชีวิตบานอื่นหยิบยื่นให้ เหตุผลนับพันจะอัดเขาทันทีว่า “พวกไม่คิดทำอะไร พวกยอมแพ้” ยังจำเหตุผลของเล่าปี่ที่ไปหาขงเบ้ง แต่ไม่พบ กลับไปพบซุยเป๋งพ่อตาขงเบ้ง ซุยเป๋งหยิบยื่นทางสงบให้ แต่เล่าปี่ก็มีเหตุผลเพราะ ๆ ให้กับตนและสหายว่า “ปราชญ์เต๋ารักสันโดษ แต่เราไหนเลยจะให้ทรราชครองเมือง” ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือแนวคิดของคอมมิวนิสต์ที่เห็นผู้มีปัญญาอยู่อย่างมนุษย์ที่มีความสุขสมบูรณ์ว่า เป็นคนไร้ค่า พวกเขามองค่าของมนุษย์อยู่ที่วัตถุ พวกเขาจะบังคับให้บุคคลเหล่านี้ไปทำงาน หาเลี้ยงชีพ สร้างความร่ำรวยให้กับรัฐ แล้วเป็นฐานให้กับอำนาจของพวกเขานั่นแหละคือคุณค่าชีวิต
บุคคลผู้แสวงหาทางสร้างความสมบูรณ์ให้กับชีวิต เห็นแล้วว่า วิถีแห่งการแย่งชิงนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน ทั้งตนเองและผู้อื่น ยังจดจำเหตุผลที่พระเตมีย์โพธิสัตว์เห็นประโยชน์ของการดำรงชีวิตอย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์ยินยอมอดทนอยู่ถึง ๑๖ ปี ในที่สุดพระราชา ๓ เมืองก็เห็นด้วยว่า การดำรงชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นอยู่ได้ และอยู่อย่างผู้มีปัญญานั้นประเสริฐอย่างยิ่ง ถ้อยคำสำคัญในเหตุการณ์นี้ ก็คือ “กษัตริย์เหล่านี้สละสมบัติดุจบ้วนน้ำลายทิ้ง ไม่หวงแหนเสียดาย ไหนเลยเราจะเก็บน้ำลายที่เขาบ้วนทิ้งมาทานอีกเล่า” สำนวนนี้เป็นสำนวนวิเศษสำหรับผู้ที่มีปัญญารู้ว่า อะไรคือคุณค่าแท้ของชีวิต อะไรคือคุณค่าเทียมของชีวิต
มนุษย์เมื่อได้คิดเช่นนี้จึงจะเข้าใจชีวิตที่แท้ได้ ชีวิตที่แท้นั้นคือความสุข ความสุขอันเกิดจากกาม เกิดจากความสงบ และการจากการปล่อยวางหลุดพ้น เป็นแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขแบบไหน ก็ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ชาวโลกล้วนประสงค์สุขอันเกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และซาบซึ้งจิต แต่ไม่ใช่การสะสมทรัพย์สมบัติให้ท่วมท้นล้นธนาคาร ไม่ใช่ต้องเป็นเศรษฐีติดอันดับของโลกจึงจะได้รับความสุขอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ปัจจัยที่ถูกต้อง แต่ปัจจัยที่ถูกต้องก็คือ การรู้จักวิธีได้รับความสุขเช่นนั้น นี่คือ จุดประสงค์ของการศึกษาที่แท้จริง การดำรงชีวิตด้วยการเสพความสุขเช่นนั้นโดยมิใช่มุ่งแข่งขัน มุ่งเสพสื่อ หลงเข้าไปติดกับในเครื่องเสพติดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ เกม เน็ต ไลน์ และอื่น ๆ ใด เพราะนั่นคือ ผู้ที่ยังไม่ได้รับการศึกษา หน้าที่ของผู้ให้การศึกษาต้องทำให้คนมีปัญญา รู้ เข้าใจ ปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์ที่ได้รับการศึกษาในการหาความสุขให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องขยับฐานความสุขขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่ายินดีความสุขแบบหนอน ๆ ที่ต้องกินต้องเสพสิ่งปฏิกูลอยู่อย่างนั้นว่าเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุดในชีวิต หน้าที่การศึกษาคือ ทำให้คนเข้าใจความสุขที่มีระดับสูงขึ้นไป และทำให้คนขยับฐานไปให้ได้
เส้นทางที่ขยับฐานนั้นเรียกว่า ทางแห่งกุศล หรือกุศลกรรมบถ และทางสายกลางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ เรียกว่า อริยอัฏฐางคิกนิโรธคามีนีมัชฌิมาปฏิปทา นี่เป็นทางที่นำไปสู่การเลื่อนระดับสำหรับบุคคลผู้แสวงหาปัญญา เป็นหัวใจปรัชญาของการศึกษา ที่เรียกว่า “ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่ฉลาดรู้จักเลือกสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้ของชีวิตได้ดียิ่งขึ้น”
ผู้ที่ยังไม่แน่ใจ ก็ให้พิสูจน์ด้วยตนเองก่อน ให้ฝึกตนเองเป็นนักพิสูจน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักศึกษา ค้นคว้าวิจัยด้วยตนเอง พิสูจน์อย่างไร ก็พิสูจน์โดยการศึกษาเส้นสายกระบวนธรรมที่เกิดขึ้น เห็นความทุกข์อันเกิดขึ้นทั้งหลายกับตนและกับผู้อื่นในลักษณะอย่างลึกซึ้ง สำนวนที่ว่า “เมื่อเห็นทุกข์ ก็ถึงธรรม” ย่อมเกิดขึ้นกับผู้พิสูจน์ ก็ทุกข์คืออะไร ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ได้สิ่งที่ไม่ต้องการได้ ไม่ได้สิ่งที่อยากได้ สรุปแล้วตัวขันธ์คือ ทุกข์ จงใช้ความรู้สึก สติ ปัญญา เข้าไปสัมผัสกับทุกข์เหล่านั้น ให้เห็นความทุกข์เหล่านั้นมีอยู่ในตน มีแต่ทุกข์ที่เกิดกับตนจึงเป็นทุกข์ที่แท้ ถ้ามิใช่ทุกข์เกิดกับตนก็ไม่สำนึก เช่น เราเห็นผู้อื่นบาดเจ็บ ล้มตาย อย่างมากก็รู้สึกเสียใจ อย่างน้อยก็ปล่อยผ่าน ไม่กระเทือนความรู้สึกอย่างใด แต่พอหนามตำเท้าตนเอง ปวดฟัน คนรักทิ้ง ฯลฯ เมื่อนั้นจึงรู้สึกว่า นั่นเป็นทุกข์จริง ๆ การที่เห็นทุกข์อย่างลึกซึ้งเช่นนี้จะทำให้เข้าใจทุกข์ว่า แท้จริงเกิดจากอะไร
ผู้มีปัญญาศึกษาพิสูจน์ความจริงจึงจะเห็นต่อไปว่า แท้จริงความทุกข์ทั้งมวลนั้นเกิดขึ้นก็เพราะอาศัยปัจจัยเหล่านี้ คือ การเกิดมีชีวิต การกระทำให้เกิดมีชีวิต การยึดติดในชีวิต ความมุ่งหมายอยากในชีวิต ความรู้สึกต่อชีวิต การกระทบกันของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์แห่งชีวิต การทำงานร่วมของระบบชีวิต การปรุงขึ้นแห่งชีวิต โดยมีความไม่รู้เป็นฐาน สิ่งที่เรียกว่า ทุกข์จึงปรากฏขึ้น ก็เมื่อปัจจัยเหล่านี้อาศัยกันและกันเกิด ปัจจัยเหล่านี้ก็ต้องอาศัยกันและกันดับได้ นี่คือ ญาณเป็นเครื่องรู้ ในเชิงวิทยาศาสตร์เปรียบเหมือน ไฟเกิดขึ้นเพราะอาศัยเชื้อ ความร้อน อากาศ และประจุไฟ เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดไป ไฟก็ดับไป ความทุกข์ก็ฉันนั้น เมื่อเหตุแห่งทุกข์ คือ ชาติหมดไป ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็หมดไปด้วย นี่คือความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ที่เรียกว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”
ปัญญาที่เห็นแจ้งสายเกิดและสายดับเช่นนี้เป็นการเข้าไปศึกษาในระดับต้นตอของเหตุ ดุจดังนักวิทยาศาสตร์ที่ทราบถึงกระบวนการได้ยินเสียงว่า มีกระบวนการอย่างไรบ้าง ไม่มุ่งหมายไปที่เสียงอะไร แต่มุ่งหมายไปว่า ได้ยินได้อย่างไร เมื่อได้ยินแล้วส่งผลให้เกิดความรู้สึกอย่างไร เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง พระพุทธศาสนาเข้าไปทราบถึงสาเหตุของการได้ยินแล้วว่า เกิดจากอายตนะ ผัสสะ วิญญาณ ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการได้ยิน ปัญหาอยู่ที่ว่า ได้ยินแล้วรู้สึกอย่างไร มัชฌิมาปฏิปทาจึงจำเป็นอยู่ในขั้นตอนนี้ เช่น ได้ยินคำด่าอย่างรุนแรง ผู้ที่ไม่มีการศึกษาก็จะต้องตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์อันเกิดจากคำด่านั้น เพราะสัญญาเก็บไว้แล้วว่า เป็นคำด่า ด่าใคร ด่าเรา แต่ผู้ที่มีปัญญาและใช้มัชฌิมาปฏิปทาเป็นกระบวนการดับเหตุ มิให้เสียงนั้นเลื่อนไหลไปตามอำนาจอวิชชาโดยปกติ แต่เป็นการเกิดขึ้นแห่งปัญญากำกับ ก็เมื่อมีอายตนะก็ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียง เสียงก็ไม่อาจกำหนดได้ว่าต้องเป็นคำชมหรือคำด่าเท่านั้น คลื่นเสียงกระทบหูเกิดการรับรู้ว่าเป็นเสียง และรู้ว่าเป็นคำด่า ความเพียร ปัญญาและสติ (อาตาปี สัมปชาโน สติมา) เข้าไปย่อยสลายให้เห็นว่า ก็เสียงเป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่งที่กระทบประสาทหู วิญญาณรับรู้ว่าเป็นคำด่า (หรือชม) แต่เมื่อไม่เข้าไปตั้งความยากไว้ว่า มีเขา มีเรา มีคำด่า และไม่ยึดว่าเป็นนั่นเป็นการด่า เป็นแต่อาการของเสียงที่ดังแล้วดับไปเท่านั้น ลองนึกถึงว่า คำนี้เมื่ออ่านเจอก็ดี หรือได้ยินลอย ๆ หรือเป็นภาษาอื่นที่เราไม่รู้ความหมายก็ดี คำนั้น เสียงนั้นก็หายไป จบไป ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ก็เพราะไม่เข้าไปตั้งความยากยึดไว้นั่นเองว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา คำด่า คำชม เห็นเพียงอาการเกิดดับ เป็นธรรมชาติล้วน ๆ ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยถาภูตญาณทัศนะก็เกิด อริยมรรคมีองค์แปดก็เกิดขึ้นเพียงลัดนิ้วมือเดียว เกิดขึ้นในจิตและดับในจิตนี้ เกิดขึ้นชั่วลมหายใจเข้า หายใจออกเท่านั้น นี่คือ กระบวนการสร้างเหตุปัจจัยสายดับด้วยมัชฌิมาปฏิปทา
การศึกษาปัจจยการบนฐานอริยสัจ ๔ นี้นำมาซึ่งการเลื่อนระดับชีวิตมนุษย์ให้สมบูรณ์ขึ้น รู้จักมีปัญญาเลือกสรรสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้สำหรับชีวิตมากขึ้น มนุษย์ที่ได้ชื่อว่า ผู้มีปัญญาจักต้องพิสูจน์ทราบด้วยตนเอง ธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งหวังให้ผู้มีใจเป็นนักพิสูจน์ทราบได้ทดลอง เมื่อนั้นความจริงก็จะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง การศึกษาของโลกพึงมุ่งพัฒนาชีวิตอย่างนี้จึงจะสมกับเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาที่แท้


จบนิโรธมัคคญาณปกาสินี





ไม่มีความคิดเห็น: