วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

มาตรฐานวัฒนธรรมของสังคมโลกใหม่ : โอกาสในวิกฤติ COVID-19 CULTURAL STANDARDIZATION OF NEW WORLD SOCIETY : OPPORTUNITY IN CRISIS, COVID-19



มาตรฐานวัฒนธรรมของสังคมโลกใหม่ : โอกาสในวิกฤติ COVID-19
CULTURAL STANDARDIZATION OF NEW WORLD SOCIETY :
OPPORTUNITY IN CRISIS, COVID-19

รศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์
บัณฑิตวิทยาลัย มมร

๑. เกริ่นนำ
                  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้มีหลายประการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก นับแต่สถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (COVID-19) อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่ในช่วงชีวิตของคนหลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน COVID-19 ได้สร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมโลก หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เมืองอู่ฮั่น (武漢/WUHAN) มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีนและแพร่ระบาดไปทั่วโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา ๕ เดือน ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความหนึ่ง เรื่อง “โลกทัศนะสถานการณ์ปัจจุบัน : จากวงจรชีวิตหนูสู่โควิด-19 Worldview on the Current Situation : From Rat Life Cycle – COVID-19” เพื่อแสดงให้เห็นว่า โลกได้จัดสมดุลให้กับมนุษย์โดยมองผ่านวงจรชีวิตของหนู มาขณะนี้ได้เกิดความคิดเห็นในใจที่อยากเขียนออกมาเผยแผ่ในแง่มุมเชิงปรากฏการณ์วิทยาบนสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่หยุด
          บัดนี้โลกกำลังอยู่ในลักษณะโกลาหล หรือโลกไร้ระเบียบเต็มที่ เป็น S Curve ที่กำลังหักลง เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้นกทฤษฎีโลกไร้ระเบียบ (Chaos Theory) เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ (Edward Lorenz, 1960) เป็นผู้จุดประกาย ต่อมาเจมส์ ไกลค์ (James Gleik, 1987) ได้เขียนหนังสือ เรื่อง CHAOS : Making a New Science มีข้อความที่น่าสนใจเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ว่า “ความโกลาหล (ไร้ระเบียบ) ที่สามารถกำหนดหรือระบุได้ (deterministic chaos) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความโกลาหลในทฤษฎีเคออสไม่ได้เป็นความสุ่ม (randomness) แบบมั่วๆ แต่กลับแฝงไปด้วยความเป็นระเบียบ (order) ซึ่งมาจากกฎเกณฑ์ที่แน่นอนนั่นเอง” (ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ : ๒๕๕๒) จากข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ความโกลาหลก็ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ แต่เป็นไปอย่างมีระเบียบที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาวะโกลาหลนั้น
          เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์โกลาหลในประวัติศาสตร์ก็พบว่า มักมีเกณฑ์มาตรฐานทางสังคมเกิดขึ้นทุกครั้ง (New World Order) เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็เกิดสันนิบาตชาติโลกขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เกิดองค์การสหประชาติ พ.ศ.๒๔๘๘ (United Nations-UN 1945 AD.) เพื่อสร้างเกณฑ์ดูแลโลก หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ กระบวนการทางสังคม สิทธิมนุษยชน ยุติสงครามระหว่างประเทศ และการบรรลุสันติภาพโลก ในระดับที่เห็นกันโดยทั่วไปที่เรียกว่า ปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปฏิวัติสังคม ปฏิวัติการเมือง การปกครอง การปฏิวัติจึงเป็นสัญลักษณ์เชิงกลไกของความโกลาหลประการหนึ่ง เมื่อความโกลาหลสงบลง ก็จะเกิดมาตรฐานทางสังคมใหม่ขึ้นมา เช่น ปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดความโกลาหลจากแรงต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมสูง สังคมได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนับตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบัน (การปฏิวัติอุตสาหกรรม, https://th.wikipedia.org/wiki/, เข้าเมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๓)
ความโกลาหล หรือความไร้ระเบียบเป็นภาวการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์มนุษย์ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ในสมัยพุทธกาลก็เกิดมีความโกลาหลอย่างหนึ่งขึ้นเรียกว่า มังคลโกลาหล เป็นความแตกตื่นวุ่นวายเกี่ยวกับคำตอบว่า อะไรมงคลในชีวิต ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุความโกลาหลไว้ ๕ ประการ คือ  
๑.    กัปปโกลาหล แตกตื่นเรื่องจะสิ้นกัป หรือโลกจะแตก
๒.    จักกวัตติโกลาหล แตกตื่นเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิจะประสูติ
๓.    พุทธโกลาหล แตกตื่นเรื่องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลก
๔.    มังคลโกลาหล แตกตื่นเรื่องอะไรจะเป็นมงคลในสังคม
๕.    โมเนยยโกลาหล แตกตื่นเรื่อง ผู้ปฏิบัติเคร่งครัดจะเกิดขึ้น (ขุ.สุ.อ ๑/๓-๔)
หลังจากเกิดความโกลาหลเกี่ยวกับการทำอย่างไรถูกต้อง เป็นมงคล เป็นความดี เป็นเรื่องจะนำมาซึ่งความสงบสุข ก็ถกเถียงกันไปต่างๆ นานา ขยายความโกลาหลจากโลกมนุษย์ไปจนถึงโลกเทวดา จนพระพุทธเจ้าได้ระงับความโกลาหลดังกล่าวด้วยการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดว่าอะไรคือมงคลให้แก่สังคม จนกลายเป็นมาตรฐานทางสังคม ความโกลาหลก็สงบลง เป็นการจัดระเบียบสังคมโลกใหม่ (New World Order) หรือจะเรียกเป็นสำนวนว่า “ฟ้าหลังฝน” ก็ได้
ที่นำเรื่องนี้มาประกอบเหตุผลก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า COVID-19 เป็นสาเหตุหนี่งที่สร้างความโกลาหลขึ้นในโลก และจัดอยู่ในประเภทกัปโกลาหล เพราะแสดงให้เห็นโลกเสื่อมลง โลกกำลังได้รับความสับสนวุ่นวาย แตกตื่น เดือดร้อน กังวลในการดำเนินชีวิตจาก COVID-19 บัดนี้ยังบอกไม่ได้ว่า โกลาหลหรือความไร้ระเบียบนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จะเกิดมีระลอกสองหรือไม่ แต่โดยธรรมชาติแล้วมักมีระลอกสองเสมอ (Aftershock) ประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจก็คือ หลังจากความโกลาหลสงบลง จะเกิดมาตรฐานวัฒนธรรมทางสังคมโลกใหม่ขึ้นในหลายมิติ บทความนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างวัฒนธรรมมาตรฐานทางสังคมที่ได้มาตรฐาน ถูกต้อง และได้รับการยอมรับ หากมีหน่วยงานที่ได้รับความน่าเชื่อถือกำหนดเกณฑ์มาตรฐานวัฒนธรรมทางสังคมขึ้นในโลก เกณฑ์มาตรฐานนั้นก็จะกลายเป็นมาตรฐานวัฒนธรรมของสังคมโลกต่อไป ดังนั้น อย่าปล่อยโอกาสเช่นนี้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย หรืออย่าได้ถูกกลุ่มมิจฉาทิฏฐิฉวยโอกาสชักนำโลกให้เสียหายกว่าเดิม

๒. เห็นโอกาสในวิกฤต (Finding Opportunity in Crisis)
จำนวน ๒๑๐ ประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เทียบเป็นสงครามโลกต่อโรค ทุกสื่อรายงานวิกฤติ หรือความโกลาหล ไร้ระเบียบ (Chaos) ทำให้ชาวโลกเสพวิกฤติกันถ้วนหน้า โดยปกติมนุษย์ก็เสพปัญหากันแต่ละวันอยู่แล้ว น้อยคนนักที่จะไม่เห็นวิกฤติหรือปัญหา เนื่องจากมนุษย์มีปกติมองในเชิงระนาบ เมื่อมองในเชิงระนาบก็จะพบแต่ปัญหา วิกฤติ ความโกลาหล แต่ถ้ามองเชิงมุมสูง (Bird's eye view) มองเหนือโลก (Overworld View) มองอย่างเข้าใจโลก มองเชิงระบบ โครงสร้าง ภาพรวม ก็จะพบโอกาส พบมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือปัญหาในวิกฤติเหล่านั้น ผู้เขียนขอเสนอโอกาสที่พบในวิกฤติ COVID-19 บนฐานเชิงปรากฏการณ์วิทยา คือ “ปรากฏการณ์ที่พุ่งสู่เจตสำนึก” (intentionality) ดังนี้

๒.๑ โอกาสยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมการแพทย์และสาธารณสุข
สถานการณ์ COVID-19 เป็นช่วงเวลาที่บุคลากรสาธารณสุขทุกส่วนต้องเผชิญกับสงคราม ถึงกับเรียกกันว่า แนวรบด่านหน้าของประเทศ หรือเรียกว่า ขุนพลเสื้อกาวน์ออกรบ เป็นการทดสอบศักยภาพของขุนพลเสื้อกาวน์ของทุกประเทศ โลกถึงกับตะลึงที่ประเทศจีนได้ใช้ยุทโธปกรณ์และสรรพกำลังที่มีอยู่เนรมิตโรงพยาบาลขนาด ๑,๐๐๐ เตียง บนที่โล่งๆ ๓๔,๐๐๐ ตารางเมตรเสร็จภายใน ๑๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม - ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ระดมแพทย์จากกองทัพ ๑,๔๐๐ คน เข้าประจำการเพื่อทำการต่อสู้กับสงคราม COVID-19 อย่างสุดความสามารถ นอกจากนั้น ได้เห็นบุคลากรทางการแพทย์ของจีนที่เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประเทศตนเอง

 








ที่มา : 2020 MARKETEER ONLINE Date: 03/02/2020 Author: nuttachit
ทีมแพทย์ไทย หลังจากที่จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในที่สุดก็พบว่า COVID-19 ได้แทรกซึมเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และนั่นก็เป็นการเปิดศึกครั้งแรก เมื่อกรมควบคุมโรค โดยมี ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ของไทย รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ตรวจบุคคลต้องสงสัยที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นในวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ เขามีอาการแดงๆ ขึ้นตามตัว ไอ และมีอาการคล้ายระบบทางเดินหายใจจึงได้ส่งตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร วิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในที่สุดก็ยืนยันเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ โดยประกาศว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์โคโรนา (Corona) และเป็นสายพันธุ์ใหม่ หลังจากนั้น บุคลากรทางการแพทย์ในฐานะขุนพลด่านหน้าก็รบกับ COVID-19 อย่างเต็มตัว ต่อมานายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งที่ ๖๓/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ เรื่องตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) หรือ ศบค. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการศูนย์ฯ และ มีนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษกศูนย์ฯ เพื่อทำภารกิจสงครามครั้งนี้
ชื่นชม! 'ดร.สุภาภรณ์' นักเทคนิคการแพทย์ไทย ผู้ค้นพบไวรัสโคโรนา!โซเชียลฯแชร์ภาพ “ทีมแพทย์” ระดับแถวหน้าเมืองไทยร่วมถกโควิด-19 ...

ที่มา : pptvhd36

ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศมหาอำนาจหนึ่งของโลก เมื่อเจอศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างเช่น COVID-19 ประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งการให้ “เรือพยาบาลคอมฟอร์ท” เข้าเทียบท่าในนครนิวยอร์ก เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และยับยั้งการแพร่กระจายของ “โควิด-19” เรือพยาบาลคอมฟอร์ท สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง ๑,๐๐๐ เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ ๑,๒๐๐ ท่านประจำการ นอกจากนั้น กองทัพเรือสหรัฐอเมริกายังได้ส่ง “เรือพยาบาลเมอร์ซี” เข้าเทียบท่าที่นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองดังกล่าวด้วยเช่นกัน สรรพกำลังที่มีอยู่พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัยของสหรัฐอเมริกาจะสามารถต่อสู้กับมหันตภัยร้ายแห่งสงครามครั้งนี้ได้หรือไม่ นั่นก็ต้องรอดู เพราะบัดนี้ยังคงอยู่ในระหว่างสงคราม ยังประเมินไม่ได้ เท่าที่ประเมินในวันนี้ (๒๓ เมษายน ๒๕๖๓) สหรัฐฯ มียอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงที่สุดในโลก มีคนตายอย่างน้อย ๔๕,๘๙๔ ราย จากยอดผู้ติดเชื้อรวม ๘๓๔,๘๕๘ ราย เฉพาะที่นครนิวยอร์กมีผู้เสียชีวิตกว่า ๑๔,๘๘๗ ราย (บีบีซี นาวิเกชัน ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓)
หน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ถือเป็นทัพหลวงของโลก โดยที่ทุกฝ่ายต้องรายงานสถานการณ์ของแต่ละประเทศของตนตรงต่อทัพหลวงและฟังยุทธวิธีจากทัพหลวง นั่นก็คือ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization WHO) องค์การอนามัยโลกเป็นทบวงการชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบการประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๘ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานส่วนภูมิภาคตั้งอยู่อีกใน ๖ เมือง ได้แก่ บราซาวีล วอชิงตัน ดี.ซี. ไคโร โคเปนเฮเกน นิวเดลี และมะนิลา ปัจจุบันมีดอกเตอร์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO Director General) เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐


 

ในวันรับตำแหน่งเขากล่าวว่า
“๑. ต้องการสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพ ๒. ทำให้การดำเนินการขององค์การอนามัยโลกมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และ ๓. เน้นการแก้ไขปัญหาสุขภาพของกลุ่มเปราะบางในบริบทที่เปราะบาง โดยจะมีแผนปฏิบัติการออกมา เพื่อทำให้การใช้ทรัพยากรและการใช้เงินเพื่อดำเนินภารกิจมีความคุ้มค่า” (Ministry of Foreign Affairs, Kingdom of Thailand ๒๖ พ.ค. ๒๕๖๐ ๑๐:๕๔: ๓๖/ อัพเดต : ๒๖ พ.ค. ๒๕๖๐ ๑๐:๕๕:๑๓)
          บัดนี้เป็นภารกิจอันหนักหน่วงที่องค์การอนามัยโลกจะต้องบริหารจัดการต่อสู้กับ COVID-19 จากการแถลงการณ์ประจำวันในวันที่ ๒๑-๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ ดร.ทีโดรส ได้กล่าวให้กำลังใจและให้ความเข้าใจกับการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตว่า “องค์การอนามัยโลกให้พันธสัญญาจะสนับสนุนทุกประเทศให้ปกป้องรักษาชีวิตไว้ ผมย้ำเสมอว่า เวลานี้เป็นเวลาสำหรับความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ใช่เวลาสำหรับกล่าวหาว่าเป็นตราบาปของใคร - WHO is committed to supporting all countries to save lives...I have said many times, this is a time for solidarity, not stigma.” (WHO Director-General's opening remarks https://www.who.int/dg/speeches/detail/who-director-general-s-opening-remarks-at-the-media-briefing-on-covid-19--22-april-2020 เข้าถึงเมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓) และยังมีข้อความในระหว่างที่มีการถามจากสื่อมวลชน เขาได้กล่าวอย่างจริงใจต่อบางคำถามว่า “ชีวิตนั้นมีคุณค่ามาก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตเดียวหรือหลายชีวิต ผมรู้จักความยากจน รู้จักความหิวโหย รู้จักสงคราม รู้จักการติดเชื้อ รู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้สูญเสีย ไม่ใช่กล่าวแต่ตัวเลขการขึ้นลงของการติดเชื้อและการเสียชีวิต อย่างไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง หลายคนไม่ทราบความรู้สึกนั้นเพราะไม่เคยประสบมาก่อน ไวรัสนี้อันตรายต่อชีวิต เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ชีวิตเป็นสิ่งที่หาค่ามิได้ ชีวิตที่สูญเสียไปแล้วไม่อาจกู้กลับคืน ขอให้ช่วยกันรักษาชีวิต”
ศัตรูร้ายชื่อ COVID-19 ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นมาตรฐานวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของโลกได้อย่างสิ้นเชิง เมื่อดูจากสถิติผู้เสียชีวิตนับแต่ ๓๐๐ ปีก่อน คือ  เมื่อ พ.ศ.๒๒๖๓ เกิดกาฬโรค คนตายทั่วโลกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ เกิดอหิวาตกโรค มีคนเสียชีวิตประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ เกิดไข้หวัดใหญ่ มีคนเสียชีวิตประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน ปัจจุบัน ในปี ๒๕๕๗-๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๔-๒๐๑๖) เกิดไวรัส  อีโบลาที่ระบาดครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก (West Africa) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน หากเปรียบเทียบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์แล้ว กล่าวได้ว่า มีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบสถิติการตายด้วยเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันที่มีถึง ๑๘๔,๑๘๒ ศพ และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลก ๒,๖๓๖,๙๓๓ ราย ณ.เวลา ๐๗.๓๖ น.ของวันนี้ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ มีผู้ที่รักษาหายแล้วทั่วโลกจำนวน ๗๑๗,๔๔๔ ราย (กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/ news/detail/ 877427 เข้าถึงเมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓) จะเห็นได้ว่า ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าอดีตมาก และตัวเลขนี้จะเพิ่มอีกแน่นอน เพราะยังคงอยู่ในระยะกลางของการแพร่ระบาดเท่านั้นเอง
สถานการณ์ที่แสดงไว้ข้างต้น ๔ ปรากฏการณ์ ได้แก่ จีน ไทย สหรัฐอเมริก และองค์การอนามัยโลก เป็นเพียงตัวอย่างของแต่ละประเทศที่มียุทธวิธีรับมือกับ COVID-19 เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า ความมั่นใจของหน่วยงานแพทย์และสาธารณสุขของโลกนั้นโดยภาพรวมยังไม่อาจรับมือได้กับการระบาดของโรค ถึงแม้ว่าจะกล่าวอ้างว่า ต้องมีปัจจัยอื่นสนับสนุน แต่นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เลิกกล่าวอ้างในเชิงโยนความผิดว่า ถ้าเช่นนั้น ก็จะดี ถ้าเช่นนี้ ก็จะดี เพราะชีวิตที่สูญสิ้นไปนั้นไม่มีคำว่า “ถ้า” เหลืออยู่ให้แก้ตัว เราอาจกล่าวอ้างเช่นนี้ได้ในกรณีที่เป็นตัวบุคคล แต่นี่เป็นไวรัสร้าย โทษกันไปก็ไม่ได้ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง
โอกาสทางการแพทย์และสาธารณสุขมาถึงแล้วที่จะประเมินขีดความสามารถ วัดกันที่จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ที่หาย และผู้ที่เสียชีวิตมากหรือน้อย สำหรับประเทศไทยมีโอกาสที่จะดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้
๑) โอกาสประเมินขีดความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทย
โอกาสเช่นนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการวัดขีดความสามารถของหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทย สำหรับประเทศไทย โดยภาพรวมได้รับคำชื่นชมที่สามารถระงับยับยั้งการแพร่ระบาดได้อย่างน่าพึงพอใจ ปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่ม ๑๕ ราย รวมติดเชื้อสะสม ๒,๘๒๖ ราย กลับบ้านแล้ว ๒,๓๕๒ ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล ๔๒๕ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ศพ รวมเสียชีวิต ๔๙ ศพ (ศบค. ๒๒ เมษายน ๒๕๖๓) จะเห็นได้ว่า การควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดกระจายไปนั้นทำได้เป็นอย่างดี ดูได้จากการเพิ่มของผู้ป่วยที่มีเพียง ๑๕ รายต่อวัน มีผู้เสียชีวิตเพียง ๑ ศพ ในวันนี้ นับว่าเป็นผลแห่งปฏิบัติการของทีมแพทย์ที่มีศักยภาพ นับเป็นโอกาสที่สุดยอดในการสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ประสานสัมพันธ์บูรณาการกันแบบเป็นองค์รวม โดยการได้รับการสนับสนุนทุกภาคส่วนที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้ภารกิจครั้งนี้สำเร็จไปด้วยดี
ได้เวลาในการประเมินเพิ่มขีดความสามารถไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องได้รับการดูแล เครื่องมือต้องพร้อมและมากเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบริหารจัดการแบบองค์รวมต้องมีประสิทธิภาพ ขีดความสามารถเหล่านี้ต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะชุดข้อมูล (Big Data) การรายงานข้อมูลที่เป็นระบบ เป็นจริง และนำไปดำเนินการต่อได้ (Active and Pro-active) กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรับมือกับ COVID-19 เป็นไปได้ด้วยดีในประเทศไทย เมื่อเห็นความจำเป็นเช่นนี้ ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยง สามารถติดตามตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถึงตัว ทันเวลา เพราะเริ่มมีการเปรียบเทียบกับบางประเทศที่ทำแล้วได้ผลในด้านนี้
สำหรับประเด็นนี้ การสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทย นอกเหนือจากความทันสมัยของเครื่องมือ ความพร้อมของบุคลกร ยา และวิธีการแล้ว ประเด็นหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ วัฒนธรรมไทยที่มีต่อแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข กล่าวกันว่า พระสงฆ์นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงบอกแล้วบอกอีกเรื่องการไม่ควรดื่มสุรา ของมึนเมา เป็นโทษ เป็นพิษ เป็นภัยต่อชีวิตและร่างกาย ไม่ค่อยได้ผล แต่พอหมอบอกให้หยุด จะได้ผลทันที แสดงให้เห็นว่า คนไทยบนฐานวัฒนธรรมพุทธนั้นเคารพนับถือ และให้เกียรติแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมาก เพราะคนไทยมองเห็นท่านเหล่านั้นเป็นผู้ช่วยเหลือชีวิต ไม่ใช่มาทำธุรกิจกับชีวิต ต้องเพิ่มความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมตรงนี้ให้แน่นแฟ้น การทำงานบนฐานธุรกิจการแพทย์ กับการทำงานบนฐานวัฒนธรรมช่วยเหลือชีวิตนั้นแตกต่างกันมาก ในเมื่อประเทศไทยมีฐานวัฒนธรรมแห่งการช่วยเหลือชีวิตที่เป็นจิตวิญญาณของหมอแบบพระพุทธศาสนา ดังนั้น จงสร้างศรัทธาให้เข้มแข็งต่อสังคม
๒) โอกาสวิจัยสมุนไพรไทยเต็มระบบ
                     ประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยสมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาโรคมีอยู่ทั่วไป มีสมุนไพรหลายตัวที่ต่างประเทศได้นำไปจากประเทศไทยแล้วจดสิทธิบัตร นั่นแสดงให้เห็นว่า สมุนไพรไทยเป็นรากฐานทางเภสัชที่อยู่บนผืนแผ่นดิน แต่ปัจจุบันความเชื่อและความรู้สึกต่อสมุนไพรไทยได้รับการต่อต้านและสั่นคลอนจากสังคม เช่น นำสมุนไพรมาวาง และนำยาจากต่างประเทศมาวาง คนทั้งหลายจะหยิบยาต่างประเทศ ทั้งที่ไม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับยานั้น หรือแม้แต่ทราบสรรพคุณของสมุนไพรไทยตัวนั้นเป็นอย่างดี แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว คนก็หยิบยาต่างประเทศ นั่นก็เพราะวัฒนธรรมไว้วางใจยาต่างประเทศ แต่ไม่ให้เครดิตสมุนไพรไทย

จากแถลงการณ์ของ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกบอกว่า “ฟ้าทะลายโจร” สามารถกำจัดเชื้อ COVID-19 ได้ ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผอ.สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากจากการศึกษาฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหลอดทดลอง พบว่ามีสารเทียบกับแอนโดร- กราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่มีกลไกต้านไวรัสโควิด-19 สามารถทำลายไวรัสโดยตรง และต้านไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนเซลล์ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการชักนำให้เซลล์หลั่งสารที่ช่วยยับยั้งไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรค (ฟ้าทะลายโจรยับยั้งไวรัสโควิด ๑๙, https://www.bbc.com/thai/thailand-52344875 เข้าถึงเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๓) นั่นก็แสดงว่า สมุนไพรไทยนี่แหละที่จะช่วยเหลือชีวิตคนไทย ดังนั้น เมื่อมีสถานการณ์บีบคั้น มนุษย์ก็จะพยายามหาวิธีเอาตัวรอด อาศัยสถานการณ์เช่นนี้ ทีมแพทย์แผนไทยจึงได้โอกาสในวิกฤตเพิ่มขีดความสามารถในการยกมาตรฐานวัฒนธรรมการทดสอบทดลอง การเรียนรู้ การวางแผน และการบริหารจัดการทั้งระบบขึ้น สมุนไพรไทยที่กลายเป็นเภสัชประเภทสองมานานก็จะได้รับการยกระดับไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป มีสมุนไพรจำนวนมากของไทยที่ยังรอการวิจัยอย่างเปิดใจยอมรับ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนค้นคว้า ผลพวงจากวิกฤตินี้จึงเห็นโอกาสสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมวิจัยสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและให้ฟื้นเครดิตความเชื่อถือต่อสมุนไพรไทยขึ้นมาในสังคม
๓) โอกาสเปิดพื้นที่ให้กับภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านทางการแพทย์และสาธารณสุข
สมุนไพรมักมาพร้อมกับภูมิปัญญานักปราชญ์สมุนไพร ถึงเวลาที่จะให้พื้นที่พัฒนาภูมิปัญญาไทยด้านสมุนไพรรักษาโรค โดยการเชิญผู้มีภูมิปัญญาด้านนี้ทั้งประเทศมาเป็นคลังสมองของชาติ บุคคลเหล่านี้มีฐานความรู้ที่เกิดมาพร้อมกับตนเองในฐานะที่เคยบำเพ็ญบุญบารมีมาทางนี้มาก่อน ถ้าเราเชื่อเชิงภพภูมิ การเวียนว่ายตายเกิด บางคนไม่ได้ศึกษาอะไรมาก แต่มีความรู้ในด้านนั้นๆ ไม่ว่าเป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ไม่ใช่มุ่งหมายเอาเฉพาะผู้จบการแพทย์จากต่างประเทศว่าเป็นบุคคลากรแพทย์ของประเทศ หรือต้องจบการศึกษาแผนปัจจุบันจึงได้รับการยอมรับ ต้องเลิกวัฒนธรรมตั้งข้อรังเกียจและข้อสงสัยนักปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถรักษาโรคได้ว่าเป็นการหลอกลวง สมควรเชิญบุคคลเหล่านั้นเข้ามาให้ความรู้และพิสูจน์ทดลองให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นจริงหรือไม่ ไม่ใช่ตั้งท่าจับผิดอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้สูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเชิงปราชญ์ชาวบ้านไปอย่างน่าเสียดาย นี่คือโอกาสจะสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย
เป็นที่ยอมรับในองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่า ที่ประเทศไทยสามารถรับมืออย่างมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ COVID-19 ปัจจัยหนึ่งก็คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดังที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่าในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ ว่า WHO ชื่นชมประเทศไทยมีระบบการดูแลสุขภาพในระดับครอบครัวเป็นอย่างดี จากอาสาสมัครภาคสาธารณสุขที่มีอยู่ร่วม ๑,๐๔๐,๐๐๐ คน ทำให้ในไทยมีกลุ่มคนที่สามารถดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของประเทศไทย (WHO ชมไทยมีระบบดูแลสุขภาพดี, ที่มา : https://thestandard.co/who-appreciate-the-thai-health-care-system/ เข้าเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๓) จากเหตุการณ์นี้ก็แสดงว่า ไทยนั้นเดินมาถูกทางแล้วในการดูแลสุขภาพของคนในสังคมไทย โอกาสมาถึงแล้วที่จะต้องยกมาตรฐานวัฒนธรรมทางด้านนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยการมีการคัดกรองอาสาสมัครภาคสาธารณสุขเพิ่มจำนวนและมีระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ปราชญ์ชาวบ้านทางการแพทย์และสาธารณสุขมีบทบาทยิ่งขึ้น ถ้าจะกล่าวอย่างไม่เอาใจก็คือ เราใช้ของที่มีอยู่แบบเป็นอยู่ แต่โชคดีที่ได้ผลเท่านั้น แต่บัดนี้เราเห็นแล้วว่า บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนนี้ช่วยได้มากอย่างเกินความคาดหมาย ดังนั้น ต้องถือโอกาสนี้ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นมาตรฐานวัฒนธรรมการแพทย์และสาธารณสุขอย่างยกระดับ เสียงที่ปราชญ์หมอชาวบ้านให้กำลังใจผู้ป่วยและช่วยดูแลนั้นเป็นเสียงที่ประกอบด้วยพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นการดูแลบนวิถีแห่งจิตวิญญาณแห่งคุณธรรมในพระพุทธศาสนา  ต้องเพิ่มมาตรฐานพรหมวิหารวัฒนธรรมเข้าไปในการดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยมากๆ
(๔) โอกาสเปิดพื้นที่ภูมิปัญญาเภสัชในพระไตรปิฎก
                     เท่าที่เห็นข้อมูลจากวงการแพทย์โลก พยายามหายาแก้และวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 แล้ว ก็รู้สึกว่า มีความตีบตันเชิงความรู้ที่มีแบบเดิม ๆ ไม่อาจมีความรู้ที่กว้างขวางออกไปมากกว่านั้น บัดนี้เป็นโอกาสแล้วที่จะยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย กล่าวคือ การเปิดพื้นที่เข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาเภสัชในพระไตรปิฎก กล่าวถึง พระไตรปิฎกนับว่า เป็นสมบัติคลังปัญญาของโลก ทุกสรรพวิชาสามารถค้นได้จากพระไตรปิฎก เมื่อมีปัญหาอะไร ประเทศไทยควรนึกถึงพระไตรปิฎกก่อน ในฐานะเป็นคัมภีร์สำคัญในพระพุทธศาสนา ในพงศาวดารไทย รัชกาลที่ ๑ เมื่อเริ่มต้นสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องหนึ่งที่พระองค์ปรารภเป็นอันดับแรกๆ ก็คือ การรวบรวมพระไตรปิฎกมาให้ครบโดยการทำสังคายนา ในปี พ.ศ.๒๓๔๖ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์) เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก (พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) : พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๔, ๑๑๘) นี่คือ บูรพมหากษัตริย์ไทยที่เห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกซึ่งเป็นภูมิปัญญาของประเทศและของโลก
เมื่อตรวจสอบจากพระไตรปิฎกแล้วก็ควรสอบถามผู้รู้ทางพระพุทธศาสนาว่า เหตุการณ์เช่นโน้น นี่ นั่น ปรากฏในพระไตรปิฎกหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วพระพุทธเจ้าให้แก้อย่างไร ผู้มีปัญญาย่อมสามารถนำเอาแนวทางนั้นมาใช้ได้อย่างดี ถ้าหากเราทั้งหลายยอมรับในสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้า ก็ต้องเชื่อว่า แนวทางพระพุทธเจ้าใช้นั้นเป็นทางที่ดีแล้ว เกี่ยวกับภูมิปัญญาเภสัชในพระไตรปิฎก สมควรสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมพุทธเภสัชขึ้นในสังคมไทย พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ได้ใช้เภสัชเหล่านี้ในการรักษาสุขภาพ มีครอบคลุมทุกเรื่อง เท่าที่ปัญญาของปราชญ์ทางการแพทย์ของไทยจะศึกษาค้นคว้าวิจัยได้ ดังที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะและคิลานวัตถุกถา และเล่มที่ ๗ จูฬวรรค ขุททกวัตถุขันธกะ ในส่วนที่เกี่ยวกับยารักษาโรคและการบริหารร่างกายให้สมดุล รวมถึงในที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความเจ็บไข้ทั้งที่เป็นเภสัชชโอสถและที่เป็นธรรมโอสถ มีอยู่เกลื่อนกล่นในพระไตรปิฎก ควรนำเรื่องนี้บรรจุไว้ในการยกมาตรฐานวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทย
สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปอยู่ร่วมกับสถาบันทางการแพทย์ของทิเบตที่เมืองดาร์จีริง ประเทศอินเดีย ชื่อว่า สถาบันชักโปริ (Chagpori Tibetan Medical Institute) ในขณะนั้นท่าน Dr. Samphel 
Norbu Trogawa Rinpoche (1932) (Tibetan Medical, https://www. chagpori.org/tibetan-medicine.htm เข้าเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๓) เป็นพระทิเบตเป็นผู้ดูแล ท่านได้นำพระไตรปิฎกยาของทิเบตมาให้ชมซึ่งเขียนด้วยอักษรทิเบตลงทอง ปัจจุบันก็มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่า ทิเบตนั้นเป็นขุมทรัพย์เชิงพุทธวัฒนธรรมหลายๆ เรื่องที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นก็คือ การนำคำสอนของพระพุทธเจ้าในด้านการดูแลรักษาสุขภาพทั้งกายและใจมาเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ จึงสนับสนุนให้หน่วยงานทางการแพทย์ให้ความสำคัญทางด้านนี้ในฐานะเป็นรากฐานพุทธวัฒนธรรมทางด้านเภสัชที่ยาวนาน ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างได้รับการนำไปปรับใช้ทั้งนั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนการยกมาตรฐานวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ก็คือ เมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าไปสู่ประเทศจีนในยุคเริ่มต้น มีการนำเอาวิชาแพทย์เข้าไปพร้อมกับพระพุทธศาสนาจนทำให้ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพของการดูแลสุขภาพ พระไตรปิฎกสามารถยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมการแพทย์และสาธารณสุขได้
(๕) โอกาสปรับสัมมาทัศนคติทางการแพทย์
ขณะนี้โลกนั้นได้พัฒนายาที่ชื่อว่า ฟาวิพิราเวียร์ มีหลายชื่อเรียกอาทิ T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง   นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลของการศึกษาค้นคว้า 'ฟาวิพิราเวียร์' ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีกลุ่มนักวิจัยชาวจีนได้ตรวจหาฤทธิ์ยา และสารอื่นๆ กว่า ๗๐,๐๐๐ ชนิด โดยใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์บนคอมพิวเตอร์ (computer simulation) และการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในหลอดทดลอง เพื่อหาศักยภาพของยาหรือสารอื่นเหล่านั้น  ในการนำมาใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้พบยาที่น่าสนใจบางชนิด เช่น “ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” “คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate)” และ “เรมเดซิเวียร์ (remdesivir)” เป็นตัวยาสามารถต้าน "โควิด-19" ได้ในระดับที่น่าพอใจ (รู้จัก 'ฟาวิพิราเวียร์' ตัวยาต้าน 'โควิด-19', กรุงเทพธุรกิจ, https://www. bangkokbiznews. com/news/ detail/871757 เข้าเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๓) โลกก็ยังคงใช้ยาชนิดเดิมที่ใช้ได้ผลกับเชื้อตระกูลไข้หวัด ยังไม่รวมถึงว่า มีข่าวการค้นพบยาจากประเทศอื่นๆ อีก
ในท่ามกลางวิกฤตินี้ เป็นโอกาสพัฒนาค้นคว้าทดลองเรื่องยารักษา วัคชีน และแนวทางป้องกันอื่น ๆ เป็นไปอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั่วโลก ทุกสรรพกำลังแห่งสติปัญญาความสามารถของบุคลาการทางการแพทย์ได้รับการยกขึ้นมาไว้แนวหน้าอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาจากระยะเวลาดังกล่าว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือเพื่อโลก ไม่ใช่เห็นโอกาสที่จะเป็นผู้นำจำหน่ายยาของโลก เพราะเริ่มมีประเด็นออกมาจากกลุ่มประเทศตะวันตกที่กำลังสร้างโอกาสในวิกฤติที่ผิดๆ ออกมา ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างแรง เริ่มเห็นช่องทางร่ำรวยจากการจำหน่ายยาให้แก่ผู้ติดเชื้อทั่วโลก มีเรื่องเล่าอุทาหรณ์ผู้มีมิจฉาทิฏฐิลักษณะนี้ว่า แพทย์ใหญ่ประเทศหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจถึงขั้นเครียดที่ยอดลูกค้าตก ไม่มีคนเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ค่ารักษาและค่ายาก็ลดลง ทั้งที่ความเป็นจริง ยิ่งในประเทศใดมีแต่คนแข็งแรง ไม่มีคนเจ็บไข้ได้ป่วยเลยยิ่งเป็นประเทศตัวอย่างเชิงสุขภาพดีเด่น แพทย์ใหญ่ควรจะยินดี แต่นี่กลับเครียดเพราะยอดรักษาตก รายได้ต่ำ เป็นความตกต่ำทางด้านมาตรฐานวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของสังคม ต้องยกมาตรฐานทัศนวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขให้สูงขึ้น ปรับทัศนคติของวงการให้ถูกต้อง ให้อยู่ภายใต้จิตวิญญาณของแพทย์ที่แท้ ที่มองชีวิตของคนเป็นสำคัญ ไม่ใช่ธุรกิจการแพทย์ที่มองเงินทองจากการแลกชีวิตผู้อื่นเป็นสำคัญ ดังคำของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกที่ว่า “อย่าใช้สถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสทางการเมืองและช่องทางเห็นแก่ตัว แต่ต้องร่วมมือร่วมใจ” แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจความสำคัญของชีวิตมนุษย์ที่อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ใช่เวลาเล่นสำหรับเรื่องอื่น ชีวิตไม่ใช่เรื่องนำมาล้อเล่น แลกเปลี่ยนกับเกมอำนาจอื่นๆ
เพื่อให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขจึงแสดงเป็นแผนภูมิ ดังนี้



ที่มา : รศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๓

          ๒.๒ โอกาสยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมการให้ในสังคมไทย
          สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในโลก ได้เห็นอะไรหลาย ๆ ด้านของแต่ละประเทศที่บริหารจัดการกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป บางประเทศก็บริหารจัดการได้ดี บางประเทศก็บริหารจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดูจากตัวเลขที่มีการแพร่ระบาดแต่ละวัน นอกจากนั้นก็เป็นมุมมองทางด้านการมีส่วนร่วมของสังคมที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการยอมปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนดให้พลเมืองปฏิบัติตาม ในส่วนนี้จะเห็นถึงการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพ เพราะไม่ต้องการถูกจำกัดสิทธิดังเช่นประชาชนในบางประเทศ มิติมาตรการเยียวยาความเดือดร้อนทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากภาครัฐ แต่ละประเทศก็มีมาตรการหลายอย่างออกมา โดยเฉพาะการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ด้วยการชดเชยเงินให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการ Lockdown ประเทศ ในส่วนนี้ดูได้จากวิธีการชดเชยที่ใช้ได้ผลดีหรือไม่ เงินชดเชยไปถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริงหรือไม่ หรือการเอาจริงกับบุคคลที่ฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากสถานการณ์ความเดือดร้อนของสังคม จะเห็นได้จากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ที่ปรากฏในสื่อทั้งหลาย ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่สะท้อนออกมาจากวิกฤติของ COVID-19
          แต่เหตุการณ์หนึ่งที่ปรากฏในประเทศไทย ก็คือ การช่วยเหลือกันและกันในสังคม ถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤติที่สมควรได้รับการยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมการให้ในประเทศไทย เหตุการณ์การนำอาหารมาแจกของผู้ที่ไม่เดือดร้อน เป็นการรวมกลุ่มกันทำอาหารมาวางไว้ให้กับผู้ที่ประสงค์อยากจะมารับ การทำอาหารตั้งไว้หน้าบ้านของตนแจกเป็นทาน การตั้งโรงทานของวัดต่าง ๆ ที่มีมาตรการการเข้ารับของอย่างมีระบบ ระเบียบ การแจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยของมูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร กลุ่มต่าง ๆ เจ้าของฟาร์ม ผู้มีใจบุญทั้งหลาย รวมถึงการแจกพืชผักของเกษตรกรเป็นภาพที่หายากในต่างประเทศ
          จากสถานการณ์นี้เอง สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมการให้เกิดขึ้นในประเทศไทย แท้จริงคนไทยนั้นโดยรากฐานเป็นคนที่ใจบุญสุนทานมากอยู่แล้ว สังคมวัฒนธรรมของไทยเป็นระบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน ช่วยเหลือแบ่งปันกันและกัน ตามวิถีวัฒนธรรมพุทธ โดยเฉพาะวิถีชาวพุทธผสมผสานระหว่างเถรวาทกับมหายาน นับแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระพุทธศาสนามหายานได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนโดยได้รับอิทธิพลจากขอม โดยเฉพาะยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรขอมที่ยิ่งใหญ่ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๒) พระองค์นับถือพระพุทธศาสนามหายาน สิ่งที่ปรากฏให้เห็นความมีมหากรุณาแห่งพระโพธิสัตว์ก็คือ การได้สร้างอโรคยศาลาไปตามเส้นทางการปกครองทั่วดินแดนของพระองค์ ต่อมากรุงสุโขทัยได้นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ลักษณะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกันภายใต้หลักสังคหวัตถุ ๔ คือ การให้ การพูดแบบมีน้ำใจ การทำประโยชน์ต่อสังคม และการตั้งตนไว้โดยชอบ และหลักสามัคคีธรรม คือ    สาราณียธรรม ๖ ได้แก่ การมีเมตตาทั้งกาย วาจา ใจ การช่วยเหลือแบ่งปัน การเคารพกฎกติกา และการมีจุดมุ่งหมายใฝ่ธรรมร่วมกัน การผสมผสานวัฒนธรรมพุทธศาสนาทั้งสองส่วน ทำให้คนไทยมีลักษณะที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ทำให้สังคมไทยมีลักษณะแห่งพุทธวัฒนธรรมอย่างลงตัว
                     ๑) การยกมาตรฐานวัฒนธรรมการให้ของสังคมไทย ควรเริ่มที่มุมมองเรื่องการให้ก่อน ปัจจุบันมีสายตาที่มองผู้ให้เป็นแบบไม่ไว้วางใจ เริ่มที่เงินมาจากไหน เสียภาษีถูกต้องไหม เป็นการฟอกเงินหรือเปล่า เป็นการให้แบบมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ เป็นการให้เพราะหาหัวคะแนนการเมืองหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น ก็ไม่แปลกที่จะมีมุมมองอย่างนั้น เพราะวัฒนธรรมการให้ของไทยถูกไวรัสความเห็นแก่ตัวแทรกแซง มีตัวอย่างที่ไม่ชอบมาพากลอย่างนั้นปรากฏมาก่อน จึงทำให้มีทัศนะเช่นนั้นอยู่ในสังคม จนทำให้บุคคลที่ประสงค์จะช่วยเหลือสังคมก็ไม่อยากเปลืองตัว ไม่อยากถูกตรวจสอบ ไม่อยากเป็นประเด็นในสังคม จึงหยุดความคิดนี้ไป ไม่ให้ดีกว่า บัดนี้ได้เวลาในการยกมาตรฐานการให้ โดยปรับทัศนคติมุมมองที่ให้โอกาสแก่ผู้ให้เหมือนกับที่เกิดสถานการณ์ไม่ปกติ ให้เป็นการให้ในสถานการณ์ปกติ
                     ๒) การยกมาตรฐานวัฒนธรรมการให้ของสังคมไทย ควรเริ่มปรับความเข้าใจวัฒนธรรมการให้ว่า การให้นี้เป็นการสั่งสมบุญบารมีให้กับตนและสังคม การให้นี้แหละที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวและน่าลงทุน จากการสำรวจของ US News and World Report ปี ๒๐๒๐ จาก ๗๓ ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๒๖ ด้านที่ได้รับคะแนนสูง คือ การเปิดกว้างทางธุรกิจ การแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสในอนาคตที่ดีขึ้น และด้านมีมรดกทางวัฒนธรรม (การจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก, https://www.sanook.com/news/8014766/ เข้าเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓) การให้มีหลายมิติมาก สมควรรณรงค์วัฒนธรรมการให้ ดังนี้
                               ๑. หยิบยื่นให้ผู้อื่นก่อน (ทานมัย) เริ่มจากการให้ในเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การลุกให้ผู้ที่เหมาะสมนั่ง การบอกทาง การตักอาหารให้ผู้อื่น การส่งของให้ การถามความช่วยเหลือ การแบ่งปันของที่มี การให้เวลา การให้โอกาส การให้รางวัล เป็นต้น
                               ๒. การให้ความเคารพ อ่อนน้อม ถ่อมตน (อปจายนมัย) วัฒนธรรมการให้ข้อนี้จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจไม่หยาบกระด้าง ไม่เป็นคนหยิ่งจองหอง กระด้างกระเดื่อง แต่ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นคนน่าคบหา พฤติกรรมเช่นนี้จัดเป็นมงคลในชีวิต เป็นรากฐานของคนดี ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า “คารโว จ นิวาโต จ สันตุฏฐี จ กตัญญุตา กาเลน ธัมมัสสวนัง เอตัมมังคลมุตตมัง” (ขุ.สุ.๒๕/๓๑๘/๓๓๙. บาลี)
                               ๓. อาสาทำประโยชน์ทุกสถาน (เวยยาวัจจมัย) การอาสาตนเองเพื่อทำประโยชน์นั้นเป็นจิตเสียสละ เป็นจิตแห่งการให้ ประเทศไทยกำลังปลูกฝังเรื่องจิตอาสาให้กับสังคมแห่งการให้อย่างไร้เงื่อนไข รู้สึกว่า การให้นั่นแหละคือคุณค่าของชีวิต จิตอาสาจึงเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสิน ทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ที่พระองค์ตั้งพระราชหฤทัยสร้างวัฒนธรรมการให้ การเสียสละขึ้นในสังคมผ่านโครงการจิตอาสา
                               ๔. บอก-มอบกุศลทานทุกหน (ปัตติทานมัย) การให้ข้อนี้เป็นวัฒนธรรมการให้โอกาสที่จะทำคุณความดีให้กับผู้อื่น เรียกกันในปัจจุบันว่า การมีส่วนร่วม เมื่อมีงานบุญ กิจกรรมทางกุศล ก็เชิญชวนกันมาทำร่วมกัน เมื่อได้ทำแล้วก็มอบคุณความดีนั้นแก่ทุกคน ไม่อ้างเอาความดีไว้สำหรับตน ไม่อ้างเอาหน้าหาประโยชน์ในความชอบใส่ตนผู้เดียว
                               ๕. ชื่นชมการทำดีของทุกคน (ปัตตานุโมทนามัย) เมื่อเห็นใครทำดี ควรทำจิตอนุโมทนาในการทำคุณงามความดีของผู้อื่น เพียงแค่ชื่นชมยินดีก็เกิดบุญกุศลในจิตใจของตนแล้ว เรียกว่า เป็นบุญแบบหุ้นลม (อนุโมทนาบุญ) การปลูกฝังวัฒนธรรมการให้ในจิตเช่นนี้ช่วยลดความอิจฉาริษยา ลดไวรัสหมั่นใส้ ไวรัสนี้ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นนิสัยและสันดานคิดลบ (Negative Thinking)
                     โอกาสในวิกฤติที่จะเนรมิตมาตรฐานวัฒนธรรมการให้เกิดขึ้นในสังคมมาถึงแล้ว คนไทยเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน มาแต่เดิม หลังจากที่สังคมไทยได้รับวัฒนธรรมแปลกปลอมเข้ามาแทรกแซง เรียกว่า สังคมทุนนิยม สังคมบริโภคนิยม เป็นไวรัสความเห็นแก่ตัวขึ้น (Selfish Virus) เชื้อไวรัสนี้ไหลบ่ามาทั่วทุกทิศทางทำให้กระแสพุทธวัฒนธรรมอ่อนด้อยลงไป เห็นได้จากสายตาของคนไทยที่มองคนไทยด้วยกันนั้นเต็มไปด้วยเรื่องธุรกิจ เต็มไปด้วยต้นทุน กำไร เต็มไปด้วยเรื่องได้ผลประโยชน์ เสียผลประโยชน์เป็นสำคัญ ไวรัสร้ายนี้ได้ทำลายมาตรฐานวัฒนธรรมการให้ของคนไทยไปมาก จนกระทั่งเมื่อไรก็ตามเกิดการกระเทือนทางสังคมแรงๆ เช่น เกิดหายนภัย อุทกภัย โรคภัย ก็จะเห็นรากฐานพุทธวัฒนธรรมกลับมาอีกครั้ง โลกได้เห็นพุทธวัฒนธรรมเช่นนี้ก็รู้สึกประหลาดใจ และประทับใจ ภาพนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่คนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ก็จะทำเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ ทำอาหารไปแจกจ่ายให้กับครอบครัวอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น สมควรยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมการให้ของคนไทยให้คงอยู่อย่างนี้ แน่นอนว่า ระบบเศรษฐกิจก็ต้องดำเนินไป แต่สุดท้ายที่เรียกว่า คืนกำไรให้แก่สังคมที่เป็นมาตรฐานวัฒนธรรมการให้บนฐานพุทธธรรมและคุณธรรมพระโพธิสัตว์ มองทุกคนเป็นผู้มีส่วนร่วมแห่งความสำเร็จของตน ไม่ใช่คนที่สนองกำไรของตน ความเพียงพอและพอเพียงต้องอยู่ในกมลสันดาน เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร แต่ความสุขที่ได้เห็นทุกคนมีความสุขนั่นแหละเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่
๒.๓ โอกาสยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเอง
          ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เห็นแล้วว่า ประเทศไหนพึ่งพาตนเอง ประเทศไหนไม่พึ่งพาตนเอง สังเกตได้จากการไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะปิดประเทศและภาวะล็อคดาวน์ (Lockdown) เมืองต่าง ๆ แต่ประเทศที่พึ่งพาตนเองได้ในการเป็นอยู่จะไม่มีปัญหามากนัก อาจไม่ได้รับความสะดวกบ้างก็เป็นปกติ ลองกลับคืนสู่ชีวิตปกติธรรมดา (Back to Basic) ดูบ้าง จะพบว่า มีความงดงามซ่อนอยู่ในนั้น COVID-19 ช่วยให้เห็นว่า ชีวิตมนุษย์นั้นเปราะบางมาก เชื้อไวรัสเข้าไปในปอด ทำลายระบบหายใจก็เป็นอันจบสิ้นชีวิต ความเจริญทางด้านวัตถุ ตัวเลขในตลาดหุ้น ทรัพย์สินเงินทอง ที่ดิน บ้านเรือน สุดท้ายแล้วต้องปล่อยทิ้งไว้ ยิ่งผู้ติดเชื้อรุนแรง ทุกอย่างก็ยิ่งต้องเป็นอดีตไปเท่านั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ การพึ่งพาตนเองจึงเป็นความเข้มแข็งที่จะดำเนินชีวิตไปได้ ต้องรู้จักคิดคำนึงว่า ถ้าเราเป็นอะไรไป บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังอีกหลายชีวิตนั้นต้องลำบาก เดือดร้อน การรู้จักมีสติระมัดระวังตนเองนั้นเป็นมาตรฐานวัฒนธรรมขั้นพื้นฐานมาก
                     ปัจจุบันนี้ สังคมมนุษย์กลายเป็นสังคมพึ่งพาผู้อื่น พึ่งพาสิ่งอื่นไปเสียเกือบทั้งหมด ศักยภาพมนุษย์มีเพียงการเรียกร้องให้ผู้อื่นสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้น มนุษย์จะเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากผู้อื่น แม้กระทั่งความสกปรกหน้าบ้านตนเอง ยังต้องไปเรียกร้องจากเขตว่าทำไมไม่ทำหน้าที่ สุดท้ายมาถึง COVID-19 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ต้องเป็นหน้าที่ของคนนั้น คนนี้ หน่วยนั้น หน่วยนี้ ทำไมต้องให้ฉันทำอย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งที่ควรจะพึ่งพาตนเองเพราะว่า เชื้อไวรัสนี้ไม่เหมือนคนทำความเดือดร้อนให้อย่างที่เคยผ่านๆ มา ชีวิตที่สิ้นไปไม่ทราบจะเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ใด บัดนี้ถึงเวลาแล้วในการสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมความรับผิดชอบตนเอง อย่าได้ฝากชีวิตไว้กับใคร จงบริหารจัดการชีวิตของตน ให้นับหนึ่งที่ตนเอง ไม่ใช่นับตนเองเป็นคนสุดท้ายหรือลืมนับตนเองที่จะรับผิดชอบและพึ่งพา พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอัตตทีปสูตรว่า  “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เถิด” (สํ.ข.๑๗/๔๓/๕๙. ไทย) หมายความว่า จงยืนอยู่ด้วยตนเอง อาศัยศักยภาพ ความรู้ความสามารถของตนเอง สร้างสรรค์ชีวิตของตนด้วยตนเอง และที่สำคัญต้องดำรงตนอยู่บนพื้นฐานของคุณความดี (ธรรม) เพราะคุณความดีนั่นเองที่จะเป็นที่พึ่งของตนเองในที่สุด
                     วิกฤติแห่ง COVID-19 เป็นช่วงเวลาที่จะกระตุ้นเตือนให้เปลี่ยนวิถีคิดที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นสถานการณ์ที่กระเทือนความรู้สึกไปทั่วโลก เป็นโอกาสที่จะรังสรรค์มาตรฐานวัฒนธรรมพึ่งพาตนเอง ได้เห็นคนที่เรียกร้องจากผู้อื่นของบางประเทศ ก็เข้าใจได้มากที่สุดว่า การพึ่งพาผู้อื่นนั้นเป็นการปล่อยทิ้งศักยภาพของตนไปอย่างไร เป็นการดูถูกตนเองอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ถ้ารวมตัวกัน จัดสรรปันส่วนกัน นำวัสดุอุปกรณ์มารวมกัน ก็สามารถผ่านเหตุการณ์ไปได้ แต่ก็นั่นแหละ เมื่อมนุษย์ไม่ได้ปลูกฝังวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเองไว้ ก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่จะทำอย่างนั้นขึ้นมาได้
                     ประเทศไทยนับว่า เป็นประเทศที่มีพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ภัยพิบัติใด ๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่รุนแรงมาก ไม่ยากจนรับมือไม่ไหว เป็นประเทศที่มีพระอริยสงฆ์ปฏิบัติบำเพ็ญ บุญบารมีของท่านคุ้มครอง เป็นประเทศที่มีพระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง เป็นประเทศที่บูรพมหากษัตริย์ถ่ายทอดภูมิคุ้มกันไว้ให้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี่แหละที่เป็นวัคซีนภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยไว้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปูพรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นมาตรฐานวัฒนธรรมพึ่งพาตนเอง นี่เป็นโอกาสที่เหมาะมากที่จะกระตุ้นให้คนไทยกลับมาสร้างภูมิคุ้มกันพึ่งพาตนเอง คำว่า “พึ่งพาตนเอง” ไม่ได้หมายถึง “ต่างคนต่างอยู่” การพึ่งพาตนเองเป็นกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งมีองค์ประกอบ ๔ ประการคือ เชื่อการกระทำของตน เชื่อว่าตนทำแล้วย่อมได้ผล เชื่อในความรับผิดชอบของตน และเชื่อศักยภาพภูมิปัญญาของตนที่ศึกษาดีแล้ว ไม่ใช่งอมือ งอเท้า รอเฝ้าฟ้าประทาน ทำให้เต็มที่ เต็มความสามารถ เมื่อนั้นก็ย่อมหวังผลได้ นี่คือ มาตรฐานวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเอง

๒.๔ โอกาสยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมอาหารการกินอยู่



          ประเทศไทยเป็นอู่อาหารโลก โอกาสเช่นนี้นับว่า เป็นโอกาสที่สุดยอด ขอใช้สำนวนจีนที่ว่า “เมื่อคุณต้องการความจริงใจจากผู้อื่น คุณต้องหยิบยื่นให้ก่อน” บัดนี้มีหลายประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เรื่องอาหารการกินอยู่ คนไทยและรัฐบาลไทยต้องอาศัยโอกาสเช่นนี้ให้ความจริงใจช่วยเหลือไปก่อน ร้านอาหารไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ทำอาหารแจกลูกค้าและคนอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน ในลักษณะเดียวกันกับที่จีนจัดส่งความช่วยเหลือมากมายไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโคโรนาไวรัส โควิด-19 ซึ่งรวมถึงการส่งชุดตรวจให้กัมพูชา หน้ากากอนามัยและบุคลากรทางการแพทย์ไปยังอิตาลี อิหร่าน และอิรัก ตลอดจนรับปากว่าจะยื่นมือเข้าช่วยฟิลิปปินส์ สเปน และประเทศอื่นๆ (จีนส่งความช่วยเหลือให้ยุโรป, https://www.voathai.com /a/china-shower-aid-to-europe-coronavirus/5337632. html, เข้าเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓) ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ในยามที่คนกำลังจะจมน้ำตายนั้น ไม่ว่าเพื่อนหรือศัตรู หากยื่นมือช่วยเหลือให้รอดชีวิตนับเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น ย่อมได้รับการสรรเสริญ
Text Box: ที่มา : มติชนออนไลน์ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓
วันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2563 มีนาคม ๒๓, ๒๐๒๐
          ประเทศไทย สมควรสร้างโอกาสจากวิกฤตินี้โดยการส่งอาหารไปให้ประเทศที่ได้รับความเดือดร้อน อาหารในประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ แต่ยังมีอยู่แบบไม่ได้รับการบริหารจัดการเท่านั้นเอง บางครั้งเหมือนดั่งว่า ขาดแคลน ไม่มีไข่ ไม่มีโน่น นี่ นั่น แต่เกิดจากการกักตุนกันเท่านั้น ยิ่งได้ฟังคุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวถึงโอกาสของไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่ได้เวลาทบทวนทำให้ดีกว่าเดิม ให้เขามาแล้วอยากมาอีก คนที่เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่มาถึง คนนั้นจะชนะ ตอนที่มืดแล้วอยู่ยังไงได้ แล้วถ้าสว่างจะทำอย่างไร ต้องช่วยกันคิด เรื่องอาหาร ตอนนี้เขามาหาไม่ได้ ก็ต้องไปหาเขา เมื่อไปหาแล้วถามเขาอีกว่า อยากได้อะไรอีก จะหามาให้คุณถึงบ้าน นี่คือการซื้อใจลูกค้า (วิกฤติ COVID-19 ผู้ประกอบการจะเดินหน้ารับมืออย่างไร? ธนินทร์ เจียรวนนท์, https://www.youtube.com/ watch? v=sV307yxSL5U เข้าเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓)
          อาหารไทยนั้นได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สมควรยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมอาหารการกินอยู่ของเราให้เป็นสิ่งที่โลกต้องการ ไม่ใช่เฉพาะความอร่อยเท่านั้น แต่เป็นเพราะความมีน้ำใจของคนไทยที่ใส่เข้าไป ยิ่งในยามวิกฤติแล้วประเทศเหล่านั้นได้รับความช่วยเหลือ ก็เป็นอันหวังได้ว่า โลกจะให้การต้อนรับอาหารไทยอย่างคิดถึงตลอดไป
          “อาหาร ชื่อว่า หนึ่ง เพราะสัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร” (ขุ.ขุ.๒๕/๑/๕ ไทย) พึงทราบไว้ประการหนึ่งว่า ไม่ว่าชีวิตจะร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง เพียบพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ข้าทาสบริวาร มากมายเพียงไหนก็ตาม แต่ในที่สุดมนุษย์ก็ต้องทานอาหาร ดังนั้น อาหารจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก มีเรื่องประกอบอยู่เรื่องหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เคลื่อนทัพไปถึงอินเดีย ในวันหนึ่งท่านพบพระภิกษุรูปหนึ่งที่มีความสง่างาม อิริยาบถของท่านโดดเด่นยิ่งกว่าพระเจ้าจักรพรรดิ พระองค์จึงเข้าไปถาม ข้อความหนึ่งในการสนทนา
“หากว่าพระองค์เดินทางทะเลทรายขาดน้ำ หิวกระหายอย่างหนัก อาตมามีน้ำหนึ่งขวด ท่านจะแลกด้วยอะไร” พระภิกษุถาม
“จะแลกด้วยดินแดนที่ได้มาครึ่งหนึ่ง” พระเจ้าอเล็กซานเดอร์
“อาตมายังไม่ให้” พระภิกษุตอบ “พระองค์จะทำยังไง”
“จะให้ดินแดนที่ตีมาได้ทั้งหมด” พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ตอบ
พระภิกษุยิ้มเล็กน้อยพร้อมกับกล่าวขึ้นว่า “ประโยชน์อะไรกับดินแดนเหล่านั้น ในที่สุดท่านนำมาแลกน้ำเพียงขวดเดียว”
          กล่าวกันว่า หลังจากการสนทนาครั้งนั้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เปลี่ยนทัศนคติ เดินทางกลับไปสู่มาเซโดเนียดินแดนบ้านเกิด เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า น้ำ-อาหารนั้นเป็นหนึ่งสำหรับเลี้ยงชีวิต ถ้าหากประเทศไทยสามารถยึดโอกาสด้านอาหารไว้ได้ ด้วยยุทธศาสตโรกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ ย่อมทำให้ธุรกิจด้านอาหารเป็นไปด้วยดีแน่นอน
          จากที่ได้แสดงแนวคิดหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ว่าเป็นช่วงโอกาสอันเหมาะสมอย่างยิ่งในการยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้านในสังคมโลกของประเทศไทยข้างต้น ทุกอย่างพร้อมแล้วในการขับเคลื่อนอย่างเป็นพลวัต (Dynamic Acceleration) บนฐานแห่งจังหวะและโอกาส หากปล่อยผ่านไปก็น่าเสียดายสำหรับประเทศชาติ การขับเคลื่อนนี้เป็นเรื่องที่ยากมากถ้าหากเป็นสถานการณ์ปกติ เพราะคนในสังคมเสพคุ้นอยู่กับวัฒนธรรมเดิม ๆ โดยไม่มีแรงสั่นสะเทือนทางสังคมใดเข้ามาทำให้คนไทยเข้าใจได้ บัดนี้ตามหลักความเปลี่ยนแปลงแบบ S-Curve แห่งทฤษฎีโกลาหล (Chaos Theory) หลังจากเกิดภาวะสับสนแล้วย่อมมีความสงบ การใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสสามารถทำได้ไม่ยากนัก สำหรับผู้ที่มองออกแบบสายตา Bird’s Eye View เพราะคนยังรู้สึกได้ถึงสิ่งที่ดีกว่า และความเป็นหลักประกันสำหรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ดีกว่า ประเด็นสำคัญในการยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมดังกล่าวต้องมีแม่แบบที่ดี ต้องตั้งอยู่บนฐานคิดที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับคนในสังคมได้ แบบหลอมทางการยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมดังกล่าวพึงเป็นพุทธวัฒนธรรม-วัฒนธรรมบนฐานคุณธรรม เพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นจึงสังเคราะห์เป็นแผนภูมิดังนี้



              

ที่มา : รศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓

๓. สรุป
          ผู้ใดก็ตามที่เตรียมความพร้อมไว้ในช่วงวิกฤติ มองเห็นโอกาสในยามวิกฤติ ยืนระยะอยู่ได้ในขณะที่เกิดปัญหา ฝึกมองแบบ Bird’s Eye View ย่อมเห็นทางออกเสมอ ข้อสำคัญจะต้องร่วมมือ ร่วมใจ (Solidarity) ทุกด้าน อย่าทอดธุระหรือมองว่าเป็นหน้าที่ของใคร แต่ต้องมองว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยเหลือกันและกัน โอกาสหลาย ๆ ด้านเปิดกว้างสำหรับหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุขของเรา ในบทความนี้ได้เสนอโอกาสในการยกมาตรฐานวัฒนธรรมด้านนี้ไว้ ๔ ด้าน เพื่อเปิดมุมมองในฐานะที่ผู้ยืนอยู่ข้างสนามรบแบบปรากฏการณ์วิทยา การยกมาตรฐานวัฒนธรรมด้านวัฒนธรรมการให้ ด้านการพึ่งพาตนเอง และด้านอาหารการกินอยู่ ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ยังคงไม่จบง่ายๆ ก็ยังคงภารกิจที่จะต้องต่อสู้กันอย่างเข้มแข็งต่อไป ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการสร้างโอกาสอื่นๆ ไว้ด้วย ศึกครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ฝีมือของมนุษย์ในยุค 5G หรือจะเรียกว่า ยุค AI or AoT (Algorithm of Things) ว่าสามารถจัดการกับศัตรูที่มองไม่เห็นครั้งนี้ได้หรือไม่ อย่างไร และต้องสังเวยชีวิตไปอีกเท่าไร หรือ ความเจริญก้าวหน้าที่มนุษย์ภาคภูมิใจนั้น ไม่ได้ช่วยอะไรเลย
เชื่อว่า หลังการสั่นสะเทือนโลกของ COVID-19 การดำเนินชีวิตและการปรับตัวหลายอย่างต้องเกิดขึ้นในสังคมโลกแน่นอน ฝากโอกาสการยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้านนี้ไว้ด้วย ประเทศไทยมีศักยภาพมาก เพียงแต่ศักยภาพเหล่านั้นยังเป็นเหมือนเพชรที่ไม่ได้เจียระไน ยังคงขาดผู้มีฝีมือพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ จากฝีมือการรับมือกับ COVID-19 ครั้งนี้ก็พอเห็นว่า ถ้าหากประเทศนี้ร่วมแรงร่วมใจแล้ว ย่อมสร้างความประหลาดใจให้กับโลกเสมอ บทความนี้ใช้คำว่า มาตรฐานวัฒนธรรมของสังคมโลกใหม่ หมายเอา มาตรฐานทางวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้านของไทยที่จะได้รับการยกระดับขึ้นในสังคมโลกใหม่หลังจากวิกฤติ COVID-19 และที่ใช้คำว่า มาตรฐานวัฒนธรรม ก็เพราะต้องการยึดโยงกับวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่าและความหมายมาก เป็นเสมือนอัตลักษณ์ของไทยที่หายไป บัดนี้ถึงเวลาที่จะรังสรรค์ยกมาตรฐานวัฒนธรรมไทยขึ้นมา อย่างน้อยก็ใน ๔ โอกาสนี้

-------------------------------

๔. บรรณานุกรม

พระไตรปิฎก
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พุทธศักราช กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
หนังสือ
บัญชา ธนบุญสมบัติ, ดร. ๒๕๕๒. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ.
พระธรรมวิสุทธิกวี, (สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ปัจจุบัน). ๒๕๔๘. อุดมมงคลในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : วัดโสมนัสวิหาร. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.
พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค). ๒๕๕๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๔. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.
วรรณวิภา สุเนต์ตา. ๒๕๔๘. ชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักพิมพ์มติชน.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ศ.ดร.ม.ร.ว. ๒๕๔๓. กัมพูชาราชลักษมีถึงศรีชยวรมัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
อนันตชัย จินดาวัฒน์. (๒๕๕๖). ประวัติศาสตร์โลก (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : ยิบซีกรุ๊ป.
James Gleick. 2008. Chaos : Making a New Science. New York : Penguin Books.
Ziauddin Sardar. ๒๕๔๙. ทฤษฎีไร้ระเบียบ. เมธาวี เลิศรัตนา (แปล). กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก.

เว็บไซด์
การจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก, https://www.sanook.com/news/8014766/ เข้าเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓
การปฏิวัติอุสาหกรรม, https://th.wikipedia.org/wiki/, เข้าเมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๓
จีนส่งความช่วยเหลือให้ยุโรป, https://www.voathai.com /a/china-shower-aid-to-europe-coronavirus/ 5337632. html, เข้าเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓
ฟ้าทะลายโจรยับยั้งไวรัสโควิด ๑๙, https://www.bbc.com/thai/thailand-52344875 เข้าเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๓
วิกฤติ COVID-19 ผู้ประกอบการจะเดินหน้ารับมืออย่างไร? ธนินทร์ เจียรวนนท์, https://www.youtube.com/ watch? v=sV307yxSL5U เข้าเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๓
WHO ชมไทยมีระบบดูแลสุขภาพดี, ที่มา : https://thestandard.co/who-appreciate-the-thai-health-care-system/ เข้าเมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๓